สรุปหนังสือถ้ารู้ตั้งแต่ตอนนั้น วันนี้สบายไปแล้ว : 5 เทคนิคเริ่มต้นออมเงินฉบับมนุษย์เงินเดือน

0 Shares
0
0
0
0
0

#ReadersGarden เล่มที่ 78

“ชีวิตไม่เคยเบาลง ยิ่งเราโตขึ้น ภาระชีวิตมีแต่จะมากขึ้น ดังนั้นมาเริ่มวางแผนการเงินและสร้างวินัยออมเงินตั้งแต่วันนี้กันเถอะ”

เวลาที่เราเขียนเป้าหมายชีวิตหรือเขียน New Year’s Resolution ซิสเชื่อว่าในหนึ่งในเป้าหมายของเพื่อนๆ วัยทำงานส่วนใหญ่ (รวมถึงซิส) จะต้องมีเรื่องของการเก็บเงินให้ได้ตามเป้า หรือเกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงิน เช่น เริ่มลงทุนทางการเงิน ศึกษาหุ้นหรือกองทุน หรือเริ่มทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้ เป็นต้น

แล้วขอยอมว่านั่นก็เป็นเป้าหมายที่เราล้มเหลวอยู่บ่อยๆ สาเหตุหนึ่งมาจากการขาดความรู้ แต่สาเหตุหลักที่แท้จริงคือการขาดวินัยและแรงจูงใจในการออมเงิน วันนี้ยังไม่เดือดร้อน วันนี้ใช้จ่ายตามใจไปก่อน พรุ่งนี้ทุกข์มา พรุ่งนี้ค่อยเริ่มออม รู้ตัวอีกทีคำว่าพรุ่งนี้ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว 🥲

ถ้ารู้ตั้งแต่ตอนนั้น วันนี้สบายไปแล้วเป็นหนังสือที่จะมาดึงสติคนวัยทำงานที่ยังผัดวันประกันพรุ่งเรื่องการออมเงินให้ตื่นตัวและลงมือทำได้แล้ว โดยบอกเล่าผ่านประสบการณ์ของคุณถนอม เกตุเอม หรือคุณหนอม เจ้าของเพจ TAXBugnoms ซิสเชื่อว่าคนที่เคยค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ ‘ภาษี’ จะต้องเคยเข้าไปอ่านเว็บไซต์ของเขาแน่นอนค่ะ



เล่มนี้บอกเล่าเทคนิควางแผนการเงินแบบเรื่องพื้นฐาน เช่น การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย กองทุน ประกัน วางแผนจัดการภาษี เป็นต้น ซิสชอบที่แต่ละหัวข้อสรุปข้อมูลมากระชับ เข้าใจง่าย ตรงประเด็น ทำให้มือใหม่หัดออมเงินทำตามได้ง่าย โดยมี 5 เช็คลิสต์ที่ควรเริ่มทำดังนี้ค่ะ

1. ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย: นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยให้เราเข้าใจไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เห็นฐานะทางการเงินชัดเจนขึ้นและรู้วิธีที่จะจัดการมันต่อไป เริ่มจากทำรายรับรายจ่าย 1 เดือน เช่น รายได้, รายได้จริงหลังหักประกันสังคม, ค่ากิน,​ ค่าที่อยู่, ค่าเดินทาง, ค่าใช้จ่ายอื่นๆ, เหลือเงินเก็บเท่าไหร่ เป็นต้น 

2. เงินเก็บก้อนแรก: ควรเป็นเงินฉุกเฉินที่มีจำนวน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ไว้ใช้จ่ายสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ตกงานกะทันหัน, เจ็บป่วย, อุบัติเหตุ เป็นต้น หากเรายังไม่มีเงินเก็บก้อนแรก นี่เป็นสัญญาณที่ดีว่ามาเริ่มออมเงินกันตั้งแต่วันนี้เถอะค่ะ

3. เพิ่มเงินเก็บ: สมการง่ายๆ ของเงินเก็บ = รายได้ – รายจ่าย ดังนั้นถ้าเราอยากเพิ่มจำนวนเงินเก็บ มี 2 วิธีหลักๆ คือ 1.) ลดรายจ่าย และ 2.) เพิ่มรายได้ 

✦ ลดค่าใช้จ่าย: ลองดูไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายจากบัญชีรายรับรายจ่าย แล้วแยกแยะระหว่างค่าใช้จ่าย ‘จำเป็น’ คือไม่มีไม่ได้ กับ ‘ต้องการ’ คือไม่มีก็ได้ 

หลังจากอ่านบทนี้จบ ซิสไปกดยกเลิก subscription รายเดือนทันที ได้แก่ NETFLIX, Disney+, HBO Go, Lightroom, Canva, ช่อง YouTuber บางช่อง ซึ่งประหยัดมาได้อีก 1,300 กว่าบาทต่อเดือน ที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้เซอร์วิสเหล่านี้ทุกเดือนด้วยซ้ำ ไว้เดือนไหนเราใช้ ค่อยกลับไป subscribe ใหม่เฉพาะเดือนนั้นก็ได้

✦ เพิ่มรายได้: หากต้องการเพิ่มรายโดยไม่ต้องลงทุนเวลาและทักษะเพิ่มมากนัก ควรลงทุนในกองทุน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท (Provident Fund) กองทุน SSF/RMF ที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้

อีกวิธีคือการหาอาชีพเสริมโดยดูจากเวลาและทักษะที่เรามี เช่น ติวเตอร์, ขายของออนไลน์, กราฟฟิกดีไซน์, เขียนบทความ, รีวิวสินค้า, ทำอาหาร เป็นต้น ซิสชอบข้อแนะนำที่ว่า “เราไม่จำเป็นต้องเก่งขนาดนั้นก็ได้” หลายคนกลัวที่จะเริ่มต้นอาชีพเสริมเพราะคิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ ซึ่งบางทีลูกค้าอาจจะไม่ได้มองหาคนที่เก่งที่สุด เขาแค่ต้องการคนที่ทำงานได้ตามมอบหมายก็พอ

4. ทำประกัน: แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ ประกันชีวิต และประกันวินาศภัย

✦ ประกันชีวิต: มีประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งทั้งสองแบบเมื่อจ่ายเบี้ยครบตามเงื่อนไขแล้วจะได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย แต่แตกต่างกันที่ช่วงเวลาที่จะได้รับเงินคืน

✦ ประกันวินาศภัย: เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันทรัพย์สิน เพื่อรับรองว่าหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เราจะมีวงเงินช่วยเหลือความเสียหายที่เกิดขึ้น หลายคนมองว่านี่เป็นการ ‘จ่ายทิ้ง’ แบบไม่คุ้ม (ซิสก็เช่นกัน) แต่คุณหนอมทำให้เราเปลี่ยนความคิดเลยว่านี่ไม่ใช่เรื่องของ ‘ความคุ้ม’ แต่เป็นการประกัน ‘ความเสี่ยง’ หากไม่เกิดอะไรขึ้นก็ดี แต่หากเกิดอะไรขึ้นมา มันจะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเก็บที่เราเก็บมาทั้งชีวิต

5. วางแผนจัดการภาษี: ศึกษาว่ารายได้ต่อปีของเราอยู่ในฐานที่ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ แล้วเราสามารถลดหย่อนจากรายการอะไรได้บ้าง เช่น ประกันชีวิต, ประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนลดหย่อนภาษี เป็นต้น

ซื้อหนังสือ: นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya

นอกจากความรู้ เรายังได้แรงกระตุ้นอย่างดีในการเริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้ ซิสเริ่มบันทึกรายรับ-รายจ่ายผ่านแอปทันทีนับตั้งแต่วันที่เริ่มอ่าน (และพยายามทำให้ได้อย่างต่อเนื่อง) เริ่มเผชิญหน้ากับยอดใช้จ่ายในบัญชีเป็นครั้งแรก ทำใจมองตัวเลขสีแดงน่าเกลียดที่ทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เพราะมันทำให้เราตระหนักว่าเราใช้จ่ายไปกับของไม่จำเป็นมากขนาดไหน นี่ฉันมีอาการ Shopaholic หรือเปล่าเนี่ย!

ประสบการณ์ของคุณหนอมในฐานะอดีตมนุษย์เงินเดือนมากว่า 15 ปีที่แชร์ในเล่มนี้ทำให้เรารู้สึกถึง ‘ความน่ากลัวของความไม่แน่นอนในชีวิต’ บางครั้งเราอาจรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวและมีโอกาสเกิดขึ้นกับเราหรือครอบครัวของเราน้อยมาก เช่น อุบัติเหตุ, ป่วยเป็นโรคร้ายแรง, ตกงานกะทันหัน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย แล้วเชื่อเถอะว่าถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะรู้สึกเสียดายและเสียใจกับวันเวลาที่ผ่านมาว่า “ทำไมฉันถึงไม่เริ่มออมเงินตั้งแต่ตอนนั้นนะ!”

🤍 คุยเล่นกับซิสได้ที่ Instagram และ Facebook
🎁 ดาวน์โหลดฟรี digital products บน Ko-fi



0 Shares
You May Also Like
รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร

รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร : เทพตกอับกับราชาผีคลั่งรัก

'องค์ไท่จื่อเซี่ยเหลียน' ลูกรักของสวรรค์กลับตกอับจนถูกเรียกว่าเทพขยะ แต่ทำไม 'ราชาผีฮวาเฉิง' ผู้ยิ่งใหญ่ถึงมาตามติดเขาต้อยๆ ได้ล่ะเนี่ย

สรุปหนังสือเจ้าชายน้อย: 4 ข้อคิดจากเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่คนนี้เคยเป็น

วรรณกรรมอมตะสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนที่หวนคิดถึงตัวตนในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ ความกล้าหาญ ความฝัน และความเชื่อว่าตัวเองทำได้ทุกอย่าง
สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก

สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก : คัมภีร์แห่งการรักตัวเอง

รวม 9 ข้อคิดดีๆ จากหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก 💋 ที่จะทำให้คุณหันมาให้เกียรติตัวเองในช่วงเวลาที่หลงรักคนอื่นจนหลงลืมที่จะรักตัวเอง
สรุปหนังสือ ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

สรุปหนังสือ The Asshole Survival Guide : ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

คู่มือรับมือคนเฮงซวยที่ช่วยให้เรารักษาชีวิตอันแสนสงบสุขด้วยการตัด “ปัญหาคนเฮงซวย” ทั้งแบบชั่วคราวและเรื้อรังอย่างฉลาดและบาดเจ็บน้อยที่สุด
สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ (Four Thousand Weeks)

สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ : 4 ข้อคิดในการบริหารเวลาชีวิต

"เพราะเราไม่ได้มีเวลา แต่เราคือเวลา" เมื่อเวลามีจำกัด แต่เรายังมีสิ่งมากมายบนโลกที่อยากทำ เราจะบริหารเวลาอย่างไรเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย
สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่

สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่ : 3 วิธีดับความหัวร้อน

อย่าสิ้นเปลืองเวลาและพลังงานไปกับการสู้กับคนโง่เลย เพราะเป้าหมายสำคัญกว่าความสะใจเพียงชั่วคราว มาดูวิธีดับความหัวร้อนจากเล่มนี้กัน