#ReadersGarden เล่มที่ 31
หากคุณกำลังสวมบทบาทมนุษย์เงินเดือนที่ใฝ่ฝันอยากจะทำธุรกิจ แต่ยังลังเลใจ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ซิสขอแนะนำหนังสือสุดยอดธุรกิจเกษตรสไตล์ญี่ปุ่นค่ะ แม้ว่าคุณจะไม่สนใจการเกษตรเลยก็ตาม หนังสือเล่มนี้จะมอบความกล้าให้คุณลงมือทำ รวมถึงเทคนิคที่ใช้ได้จริงในการลงมือสร้างธุรกิจ ไม่ว่าจะธุรกิจไหนก็ตาม
คุณคุโรยานางิ ชิเงคิ (Kuroyanagi Shigeki) ผู้เขียน เป็นอดีตพนักงานบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น มีรายได้และการงานมั่นคง เขาตัดสินใจลาออกในวัย 45 ปี แล้วมาเริ่มต้นทำธุรกิจเกษตรโดยไม่มีประสบการณ์แม้แต่น้อย จนกระทั่ง 10 ปีถัดมา เขากลายเป็นเจ้าของสวนบลูเบอร์รี่ที่ทำรายได้สูงสุดในญี่ปุ่น ยังช่วยผู้คนสร้างสวนเกษตรเชิงท่องเที่ยวทั่วญี่ปุ่นอีกมากมาย
คุณคุโรยานางิถ่ายทอดประสบการณ์เกือบ 10 ปีในการทำธุรกิจด้วยตัวเองให้ประสบความสำเร็จออกมาอย่างหมดเปลือก จริงใจ เรื่องใดเป็นความลับทางธุรกิจก็บอกกันตรงๆ เริ่มตั้งแต่การตัดสินใจลาออก วางแผนธุรกิจ คิดค้นกลยุทธ์ ลงมือทำ อุปสรรคที่เจอ วิธีแก้ปัญหา เทคนิคดึงดูดลูกค้า และวิธีสร้างสวนเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
สิ่งที่ชอบในเล่มนี้คือ ทุกบรรทัดอัดแน่นไปด้วยเนื้อล้วนๆ ไม่มีน้ำ อะไรได้ผล อะไรพลาด บอกมาทั้งหมด เช่น ปลูกต้นบลูเบอร์รี่พันธุ์อะไรบ้าง, ต้นทุนเท่าไหร่, เพาะปลูกโดยไม่ใช้แรงงานทำอย่างไร, แม้กระทั่งวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับนักข่าวเพื่อให้ได้ประชาสัมพันธ์ฟรี เป็นต้น
ซิสเลือกหยิบเล่มนี้มาอ่านเพราะสนใจในเรื่องราวของคุณคุโรยานางิมากกว่าธุรกิจเกษตร หลังอ่านจบก็พบว่า วิธีทำธุรกิจของเขาสามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจอื่นๆ ได้ด้วย ไม่เฉพาะแค่การเกษตรเท่านั้น
ขอสรุปออกเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมก่อนลาออก, วางแผนและลงมือสร้างธุรกิจ, เทคนิคการตลาดดึงดูดลูกค้า, และการพัฒนาธุรกิจต่อไปค่ะ โดยพูดถึงหลักการที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกธุรกิจ จะไม่โฟกัสเฉพาะการทำเกษตรค่ะ
คุณพร้อมที่จะลาออกมาทำตามฝันหรือยัง?
“คนเราเกิดมามีชีวิตแค่ครั้งเดียว จึงควรทำงานที่ชอบ” นี่คือคำแนะนำจากคุณคุโรยานางิถึงคนที่กำลังลังเลว่าจะลาออกไปทำงานที่ชอบดีมั้ย ผู้มีชื่อเสียงหลายคนเองก็พูดคล้ายๆ กัน หนึ่งในนั้นคือสุนทรพจน์อันโด่งดังของสตีฟ จ็อบส์ในพิธีจบการศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
“Your work is going to fill a large part of your life, and the only way to be truly satisfied is to do what you believe is great work. And the only way to do great work is to love what you do.”
– Steve Jobs
ถ้าคุณค้นพบสิ่งที่ชอบแล้ว มันเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากๆ แต่ก่อนจะยื่นใบลาออกเพื่อพุ่งเข้าชนเป้าหมาย ลองเช็คดูก่อนว่าคุณพร้อมลาออกจริงๆ แล้วหรือยัง
ความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ การเงิน และความสัมพันธ์
✦ ร่างกาย : ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจออนไลน์ที่ใช้เวลาท่องโลกดิจิทัลเป็นหลัก หรืองานออฟไลน์ที่ต้องพบปะผู้คนตัวเป็นๆ หรือธุรกิจไฮบริดที่ทำทั้งออนไลน์ออฟไลน์ แรงกายถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นธุรกิจที่มีเรื่องไม่คาดฝันโผล่มาท้าทายตลอดเวลา
คุณอาจต้องตื่นขึ้นมาตอนตีสองเพื่อแก้ไขปัญหาระบบล่ม หรือเพิ่งประชุมเสร็จก็ต้องรีบขึ้นเครื่องไปหาพาร์ทเนอร์อีกคนต่อ หากฝืนร่างกายหรือเครียดเกินไปจนล้มป่วย อาจจะพลาดโอกาสสำคัญไปเลยก็ได้ ดังนั้นต่อให้ทำงานหนัก ก็อย่าลืมดูสุขภาพ ควรฟิตร่างกายให้พร้อมเสมอ
✦ จิตใจ : เตรียมใจที่จะไม่ยอมแพ้ ทนรับคำวิจารณ์ กล้าที่จะออกจากคอมฟอร์ทโซน และฝึกวินัยในการทำงานด้วยตัวเอง
เทคนิคหนึ่งที่คุณคุโรยานางิแนะนำคือ สร้างนิสัยในการทำสิ่งที่ชอบอย่างต่อเนื่อง เริ่มทำสิ่งที่ชอบวันละ 5 นาทีหรือมากกว่านั้น ขอให้ทำต่อเนื่องทุกวัน แล้วมันจะกลายเป็นวินัยหรือนิสัยซึ่งจำเป็นต่อการทำธุรกิจมาก เพราะต่อให้เป็นสิ่งที่ชอบมากแค่ไหน ก็ต้องมีวันที่รู้สึกเบื่อหรือเหนื่อย ดังนั้นการสร้างนิสัยจะช่วยให้เราทำงานที่ชอบได้อย่างต่อเนื่องในวันที่ไม่มีกฏระเบียบของบริษัทมาบังคับ
✦ การเงิน : เมื่อลาออกแล้ว คุณมีเงินเก็บหรือมีแหล่งรายได้อื่นเพียงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองไปจนกว่าจะทำธุรกิจให้เป็นจริงได้หรือไม่? คุณมีเงินทุนเพียงพอหรือมีช่องทางหาเงินทุนสำหรับเริ่มต้นธุรกิจแล้วหรือยัง?
กรณีของคุณคุโรยานางิ เขาลาออกในปี 2006 และเปิดให้บริการสวนบลูเบอร์รี่ในปี 2008 ในช่วงเวลา 2 ปีระหว่างนั้น เขาไม่ได้ทำงานอย่างอื่นนอกเหนือจากการสร้างสวนเกษตรเชิงท่องเที่ยวเลย โดยเขามีที่ดินที่บ้านเกิดอยู่แล้ว เลือกทำสวนที่ขนาดพอเหมาะกับเงินทุนที่ตัวเองมี ไม่พึ่งพารัฐหรือกู้ยืม จะเห็นว่าก่อนลาออก เขาเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินไว้เพียงพอที่จะดูแลครอบครัว รวมถึงสร้างธุรกิจของตัวเอง
✦ ความสัมพันธ์ : การลาออกจะไม่ใช่เรื่องของคุณเพียงคนเดียวอีกต่อไปเมื่อมีครอบครัวให้รับผิดชอบ พวกเขาเป็นกำลังใจที่สำคัญ ดังนั้นควรเปิดอกคุยกับสามี ภรรยา หรือแฟนก่อนตัดสินใจ รับฟังสิ่งที่อีกฝ่ายกังวล แล้วแก้ไขไปทีละเรื่อง ความสัมพันธ์ที่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ถือเป็นสิ่งล้ำค่า
เพื่อนฝูงก็สำคัญ คุณสามารถเปิดอกเล่าถึงความฝันให้เพื่อนๆ ฟังได้ พวกเขาอาจชักนำสิ่งดีๆ มาให้คุณก็ได้ ส่วนคนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์แบบไม่มีประโยชน์หรือล้อเลียน ตัดกำลังใจ อย่าสนใจเลย ถือว่าเป็นการคัดกรองความสัมพันธ์ในชีวิต
วางแผนและลงมือสร้างธุรกิจ
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ คุณคุโรยานางิลาออกจากบริษัทในปี 2006 และเปิดให้บริการฟาร์มบลูเบอร์รี่โอคาซากิในปี 2008 มาดูกันว่าช่วง 2 ปีกว่าๆ ระหว่างนั้น เขาทำอะไรบ้าง
✦ อยากทำอะไร? เพราะเหตุใด? : ไม่เป็นไรหากคุณยังคิดโมเดลธุรกิจที่อยากทำไม่ออก ให้ลองเริ่มสำรวจก่อนว่าคุณอยากทำอะไร เพราะเหตุใด
ตัวคุณคุโรยานางิเองก็ไม่ได้คิดที่จะปลูกต้นบลูเบอร์รี่ตั้งแต่แรก หลังจากเขาลาออก เขาเริ่มต้นคิดถึงสิ่งที่อยากทำ 3 อย่าง ได้แก่ 1.) ธุรกิจที่สื่อสารกับลูกค้าโดยตรง (B2C) 2.) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน 3.) บุกเบิกเส้นทางธุรกิจเกษตรรูปแบบใหม่
ด้วยสิ่งที่อยากทำทั้ง 3 อย่าง ทำให้เขาได้คำตอบออกมาเป็น ‘สวนเกษตรเชิงท่องเที่ยว’ ซึ่งเน้น ‘ขายประสบการณ์’ มากกว่าขายผลผลิตในสวน
✦ ลงทุนด้วยการเรียนรู้ : ธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถของคุณ จึงควรลงทุนกับตัวเองและขัดเกลาความสามารถก่อน ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ เข้าร่วมสัมมนา หรือขอคำปรึกษาจากคนอื่น
หลังจากคุณคุโรยานางิเห็นภาพแล้วว่าจะทำธุรกิจสวนเกษตรเชิงท่องเที่ยว แต่เขายังไม่รู้ว่าจะทำสวนอะไรดี ทั้งยังไม่มีประสบการณ์ด้านการเกษตรมาก่อนเลย เขาใช้เวลา 6 เดือนแรกไปกับการเรียนวิธีเพาะปลูกพืชผักผลไม้จากโรงเรียนสอนการเกษตร ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ไปดูงานทั่วญี่ปุ่นและประเทศภูฏาน จนได้คำตอบออกมาว่า สวนของเขาต้องเป็น ‘บลูเบอร์รี่’ เท่านั้น
✦ ชูจุดเด่น แก้จุดด้อย
ทำไมต้องบลูเบอร์รี่?
- ปลอดภัย : ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ช่วงแรกคุณคุโรยานางิลองปลูกเชอร์รี่ควบคู่กันไปด้วย พบว่าแมลงเกาะแต่ลูกเชอร์รี่ แต่ไม่เกาะบลูเบอร์รี่เลย จึงถือว่าเป็นผลไม้ที่แข็งแกร่งทีเดียว
- ลดมลภาวะที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม : เดิมทีญี่ปุ่นไม่นิยมปลูกบลูเบอร์รี่เพราะสภาพดินไม่เหมาะสม จึงนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก การขนส่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาล ดังนั้นการปลูกบลูเบอร์รี่ในประเทศจะช่วยลดมลภาวะจากการขนส่งได้
- บลูเบอร์รี่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก
- กินสดๆ หรือนำมาแปรรูปได้ : นอกจากจะให้ลูกค้าเก็บบลูเบอร์รี่กินสดๆ ได้แล้ว ยังมีการนำมาแปรรูปขายเป็นของหวานอยู่ในคาเฟ่ของสวนอีกด้วย
- เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ : นอกจากบลูเบอร์รี่จะทนต่อแมลงแล้ว ยังเป็นพืชยืนต้น จึงไม่ต้องปลูกต้นใหม่เสมอ ช่วยลดเวลาทำงานอย่างมาก
- ลงทุนไม่มาก : ปลูกกลางแจ้งได้ ทนฝน จึงไม่ต้องสร้างโรงเรือน
- ดึงดูดลูกค้า : บลูเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีภาพลักษณ์ที่ดี แถมยังออกผลในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว ลูกค้าจึงได้เพลิดเพลินกับการเก็บเกี่ยวบลูเบอร์รี่ได้อย่างเต็มที่
ถึงจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน
- ต้นทุนในการเก็บเกี่ยวสูง : บลูเบอร์รี่มีขนาดเล็กและสุกไม่พร้อมกัน จึงต้องเลือกเก็บทีละลูกอย่างประณีต คุณคุโรยานางิแก้ปัญหานี้โดยให้ลูกค้าสามารถเก็บบลูเบอร์รี่สดๆ ได้ด้วยตัวเอง จึงลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานเก็บเกี่ยวลงไปได้ แถมยังเป็นจุดขายของสวนด้วย
- ปลูกยากและใช้เวลานาน : แม้สภาพอากาศของญี่ปุ่นจะคล้ายคลึงกับอเมริกาเหนือซึ่งเป็นถิ่นของบลูเบอร์รี่ แต่สภาพดินแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้บลูเบอร์รี่ในญี่ปุ่นปลูกยากและมีรสเปรี้ยว คุณคุโรยานางิแก้ปัญหาโดยการ ‘ปลูกพืชแบบไร้ดิน’ ผลลัพธ์คือ ต้นบลูเบอร์รี่ของเขาออกผลได้ภายใน 2 ปี จากปกติต้องใช้เวลา 3-4 ปี แถมยังลูกใหญ่และรสชาติหวานดีอีกด้วย ซึ่งเขาเขียนวิธีปลูกพืชไร้ดินไว้อย่างละเอียดในหนังสือแล้ว หากสนใจสามารถอ่านต่อในหนังสือได้ค่ะ
✦ สร้างแบรนด์และวางตำแหน่ง ก็มองเห็นถึงสิ่งที่ควรทำ : ฟาร์มบลูเบอร์รี่โอคาซากิของคุณคุโรยานางิไม่เน้นขายบลูเบอร์รี่ แต่ขาย ‘ประสบการณ์’ และเขาไม่ต้องการลงไปแข่งขันกับคู่แข่งเจ้าอื่นๆ จึงวางตำแหน่งของแบรนด์ไว้ดังนี้
ปัจจัยในการวางตำแหน่งของแบรนด์ (brand positioning) มี 3 อย่างหลักๆ คือ จุดเด่นของสินค้า, ราคา, และประเภทของลูกค้า โดยคุณคุโรยานางิวางตำแหน่งไว้ในทางตรงกันข้ามกับสวนอื่นๆ โดยรับเฉพาะลูกค้ากลุ่มเล็ก, ลูกบลูเบอร์รี่มีขนาดใหญ่และรสหวาน และมีราคาแพงกว่าที่อื่น นอกจากจะไม่ต้องแข่งขันแล้ว ยังเป็นการวางตำแหน่งที่เหมาะกับการบริหารของตัวเองด้วย
สิ่งต่อไปคือ สร้างธุรกิจให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่กำหนด สวนนี้มีราคาแพงกว่าที่อื่นๆ เพราะคุณภาพของบลูเบอร์รี่นั้นยอดเยี่ยม แต่นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกคุณภาพดี รวมถึงการบริการอย่างใส่ใจของพนักงานต่อลูกค้าทุกคน ให้พวกเขารู้สึกว่าราคาที่จ่ายไปนั้นไม่แพงเลย
การออกแบบสถานที่แตกต่างจากสวนเกษตรอื่นๆ ทางเดินถูกออกแบบมาให้ผู้หญิงใส่รองเท้าส้นสูง ครอบครัวที่มีรถเข็นเด็ก หรือผู้ที่ต้องใช้รถเข็นเพลิดเพลินกับการเก็บลูกบลูเบอร์รี่ได้สบาย คาเฟ่และบรรยากาศรอบๆ ก็เหมาะกับการมาพักผ่อนของครอบครัว การออกเดทของคู่รัก สถานที่ถ่ายรูปทำกิจกรรมร่วมกันของเพื่อนฝูง การรับเฉพาะลูกค้ากลุ่มเล็กทำให้บรรยากาศไม่วุ่นวาย พนักงานดูแลได้อย่างทั่วถึง
เปิดให้บริการ! เทคนิคดึงดูดลูกค้า
หลังจากใช้เวลาเตรียมตัว 2 ปีกว่าๆ ก็ถึงเวลาเปิดฟาร์มบลูเบอร์รี่โอคาซากิแล้ว!
มาดูกันว่าคุณคุโรยานางิใช้เทคนิคอะไรในการดึงดูดลูกค้า เปิดให้ชมสวนเพียงปีละ 60 วัน แต่มีคนมาเที่ยวถึง 10,000 คน และทำเงินได้ถึง 20 ล้านเยน
✦ ทำเว็บไซต์ถ่ายทอดความรู้สึกของเจ้าของ : เว็บไซต์ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ลูกค้าและนักข่าวจะเข้ามาหาข้อมูล คุณคุโรยานางิลองนั่งสำรวจเว็บไซต์มากมายหลากหลายประเภท แล้วพบว่าจุดร่วมสำคัญของเว็บที่ดึงดูดใจเขาได้คือ เว็บที่ถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้สึกของเจ้าของธุรกิจ
เขาเรียนวิธีทำเว็บและลงมือสร้างด้วยตัวเอง เพื่อถ่ายทอดความตั้งใจจริงของตัวเองออกมา อีกอย่างการทำเว็บด้วยตัวเองจะสะดวกรวดเร็วในการอัพเดตข้อมูลมากกว่าด้วย เขายอมรับว่าดีไซน์ของเว็บเวอร์ชั่นแรกดูเชยมาก แต่หลังจากนั้นก็ปรับปรุงเรื่อยมา จนตอนนี้เว็บไซต์ฟาร์มบลูเบอร์รี่โอคาซากิติดอันดับต้นๆ ในการค้นหาข้อมูลเรื่องสวนบลูเบอร์รี่แล้ว
✦ ประชาสัมพันธ์ฟรีบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก : เมื่อปี 2008 การเปิดเพจธุรกิจบนโซเชียลมีเดียยังค่อนข้างใหม่อยู่ แต่สำหรับสมัยนี้เรียกว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นทีเดียว สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ เมื่อมีช่องทางหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะช่องทางที่ผู้คนไปรวมตัวกันอยู่ เราควรจะลองเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากมัน แม้มันจะดูยุ่งยากในทีแรกก็ตาม
✦ เขียนบล็อกเกือบทุกวัน จนมีผู้ติดตามประจำ : คุณคุโรยานางิลงมือเขียนบล็อกเกือบทุกวัน โดยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับสวนเกษตร อ่านง่าย ไม่ยาวจนเกินไป เรื่องไหนที่เนื้อหายาวก็แบ่งออกเป็นพาร์ทๆ เพื่อให้ผู้คนได้ติดตามอ่านอย่างต่อเนื่อง
✦ กล้าเข้าหานักข่าว : สร้างความสัมพันธ์กับคนในวงการสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์โดยเข้าร่วมสัมมนา เวิร์คช้อปที่เกี่ยวกับการ PR หรือเข้าไปแนะนำตัวกับนักข่าว
คุณคุโรยานางิเริ่มต้นจากแวะไปแนะนำตัวเองกับนักข่าวที่ห้องนักข่าวของที่ว่าการอำเภอ เขายังได้ลองถามผู้หญิงที่อยู่ที่เคาท์เตอร์ประชาสัมพันธ์ดูว่า “ทำอย่างไรถึงจะมีนักข่าวมาขอสัมภาษณ์เยอะๆ” โชคดีที่เธอคนนั้นเคยทำงานในวงการสื่อมาก่อน จึงบอกว่า “ถ้าได้กำหนดจัดงานเปิดตัวแล้ว ฉันจะเชิญชวนนักข่าวไปให้มากที่สุดเองค่ะ”
ด้วยความช่วยเหลือจากเธอคนนี้ ทำให้วันเปิดตัวรอบสื่อมีสื่อมาร่วมงานถึง 11 สื่อ และได้ลงข่าวหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ และถูกนำไปเผยแพร่ต่อทางสื่อบนอินเตอร์เน็ตอีก ส่งผลให้วันเปิดให้บริการจริงมีลูกค้ามาต่อแถวยาวเหยียด รถจอดเต็มลานจอดรถ รวมถึงมีคนที่รู้จักและไม่รู้จักมากมายมาให้ความช่วยเหลือเพราะเห็นจากข่าว
ความกล้าที่จะเข้าหานักข่าว กล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากคนไม่รู้จัก ทำให้งานเปิดตัวประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
นอกจากนี้คุณคุโรยานางิยังไปร่วมงานเวิร์คช้อปที่เกี่ยวกับ PR เพื่อเพิ่มทักษะการประชาสัมพันธ์และสร้างสัมพันธ์กับคนในวงการสื่อ เขายังได้มีโอกาสเล่าเรื่องธุรกิจของตัวเองด้วย หลายครั้งมีคนสนใจจนนำไปลงข่าวหนังสือพิมพ์หรือพูดถึงในรายการโทรทัศน์
เขายังแนะนำว่าควรลงข่าวประชาสัมพันธ์และอัพเดตข้อมูลบนเว็บไซต์สม่ำเสมอ เพราะนักข่าวมักจะหาข้อมูลจากช่องทางนั้น ถ้าเราไม่อัพเดตอะไรเลย ก็อาจจะพลาดโอกาสที่นักข่าวจะมาเจอธุรกิจของเราได้
✦ ทำสื่อวิดีโอ : ปัจจุบันรูปแบบคอนเทนต์ที่คนชอบและมีปฏิสัมพันธ์ด้วยมากที่สุดคือ วิดีโอ ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว ก็มีแพลตฟอร์มที่เหมาะสมให้เลือกมากมาย เช่น ถ้าเป็นวิดีโอยาวๆ หลายนาทีก็เหมาะกับลง YouTube หรือไลฟ์บน Facebook, Twitch หากเป็นวิดีโอสั้นๆ ไม่ถึงนาทีก็เหมาะกับ TikTok, Instagram เป็นต้น
✦ แจ้งข้อมูลข่าวสารทางอีเมลและใช้ระบบการจอง : ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยโดยการให้ลูกค้าจองง่ายๆ ทางอินเตอร์เน็ตได้ 24 ชั่วโมง และยังได้รู้ว่าวันไหนคนเยอะ ทางเจ้าของเองก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าวันไหนจะมีลูกค้าเท่าไหร่ จะได้รับมือได้สะดวก พร้อมทั้งส่งอีเมลข่าวสาร โปรโมชั่น คูปองส่วนลดให้ลูกค้าผ่านทางอีเมลที่ลงทะเบียนไว้ได้ด้วย
✦ ลงโฆษณาออนไลน์ : คุณคุโรยานางิเลือกลงโฆษณาอย่างเต็มที่ในช่วงที่ลูกค้าเริ่มเบาบาง ข้อดีของโฆษณาออนไลน์คือ ลงทุนต่ำแต่ประสิทธิภาพสูง สามารถปรับเปลี่ยนข้อความ เอาขึ้นเอาลงได้ทันที โดยเน้นลงโฆษณาใน search engine เช่น Google วิธีการคือ สำรวจคีย์เวิร์ดที่คนส่วนใหญ่ค้นหาและเกี่ยวข้องกับคำว่า “บลูเบอร์รี่” เมื่อทราบแล้ว ก็เลือกที่ลงโฆษณาจากคีย์เวิร์ดเหล่านั้น
พัฒนาธุรกิจไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง
✦ มองเห็นจุดที่ควรปรับปรุงจากแบบสอบถามของลูกค้า : ความคิดเห็นของลูกค้าเป็นสิ่งที่สะท้อนการทำงานได้เด่นชัดที่สุด วิธีเก็บแบบสอบถามที่สะดวกในยุคนี้คือ การให้สแกน QR Code แล้วทำแบบสอบถามบนสมาร์ตโฟน วิธีนี้สามารถเก็บและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อได้ง่ายด้วย โดยจัดการข้อมูลผ่านโปรแกรม Excel, Google Sheets หรือเครื่องมืออื่นๆ
คุณคุโรยานางิจูงใจให้ลูกค้าโดยการแจกของหวานฟรีเมื่อทำแบบสอบถาม จึงทำให้ช่วงเปิดสวนได้รับความคิดเห็นจากลูกค้านับหลายร้อย ซึ่งกลายเป็นเสียงสำคัญในการพัฒนาฟาร์มบลูเบอร์รี่โอคาซากิให้ดียิ่งขี้นต่อไป
✦ ติดตามผลทุกขั้นตอนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน : การเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดไม่ใช่การทำงานมากขึ้น แต่เป็นการใช้เวลาทำงานเท่าเดิมหรือน้อยลง แต่เกิดประโยชน์มากขึ้น
คุณคุโรยานางิใช้ประสบการณ์ทำงานจากบริษัทมาปรับใช้กับการทำการเกษตร โดยการติดตามขั้นตอนการทำงานและผลลัพธ์อย่างละเอียดเพื่อหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น ติดตามชั่วโมงการทำงานของแต่ละขั้นตอน แสดงออกมาเป็นกราฟแท่งว่า วิธีทำสวนบลูเบอร์รี่ของเขาช่วยลดการทำงานลงจาก 5,010 ชม. เหลือเพียง 1,600 ชม. ได้ ซึ่งชั่วโมงการทำงานในสวนที่ลดลง ทำให้เขามีเวลาคิดกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้า ไปพบปะสร้างความสัมพันธ์กับคนในงานสัมมนา รวมถึงพักผ่อนได้มากขึ้น
รายละเอียดการติดตามผลการทำงานและวิเคราะห์ออกมาเป็นกราฟอยู่ในหนังสือ หากสนใจสามารถหาอ่านต่อในหนังสือได้ค่ะ
ซื้อหนังสือสุดยอดธุรกิจเกษตรสไตล์ญี่ปุ่น: นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
เป็นยังไงบ้างคะ? เรื่องราวการสร้างธุรกิจด้วยตัวเองของอดีตพนักงานเงินเดือนผู้ลาออกมาทำตามฝันในวัย 45 ปี ตอนที่อ่าน ซิสสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น ความสนุกที่ได้ทดลองและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ของคุณคุโรยานางิทะลุออกมาจากตัวอักษรเลยค่ะ
หากคุณสนใจอยากเริ่มต้นทำธุรกิจเกษตรเชิงท่องเที่ยว หรืออยากได้ประกายไฟมาจุดไฟให้คุณลุกขึ้นทำตามฝัน ต้องไม่พลาดหนังสือสุดยอดธุรกิจเกษตรสไตล์ญี่ปุ่นเลยค่ะ เหมือนมีคุณครูผู้แก่กล้าและมากประสบการณ์มาถ่ายทอดวิชาให้เราอยู่ตรงหน้าแล้ว