Readers’ Garden เล่มที่ 88
คุณรู้สึกกลัววัย 30 ไหมคะ? ✋🏻
ชีวิตวัย 20 เต็มไปด้วยความตื่นเต้นของการก้าวเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ แต่พอกำลังจะเข้าสู่วัย 30 พวกเรากลับกลัวและเร่งรีบ
เร่งรีบทำสิ่งที่อยากทำ เพราะกลัวว่าวัย 30 จะไม่มีแรงเหมือนแต่ก่อน
เร่งรีบเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพราะกลัวว่าวัย 30 จะไม่มีพื้นที่ให้ผิดพลาด
เร่งรีบสะสมความสำเร็จ เพราะคิดว่าวัย 30 จะต้องมีพร้อมทุกอย่าง
คุณคิมอึนจู (Kim Eunjoo) ก็เคยผ่านความรู้สึกเหล่านี้มาแล้วเช่นกัน
คุณอาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อของเธอ แต่จะต้องรู้จักผลิตภัณฑ์ที่เธอร่วมออกแบบ User Experience อย่างแน่นอน เช่น Samsung Smartwatch, Google Gemini, Google Assistant และ Google DeepMind ที่จะกลายเป็น AI ตัวสำคัญในอนาคต

คุณอึนจูในวัย 27 ปี ย้ายจากบ้านเกิดประเทศเกาหลีใต้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นได้ทำงานกับบริษัทระดับโลกทั้ง Motorola, Qualcomm, Samsung และ Google ที่ทำงานในปัจจุบัน โดยเธอเป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบ User Experiece (UX Design Lead)
คุณคงจะคิดเหมือนกันว่า ผู้หญิงคนนี้ทั้งเก่ง กล้าหาญ จะรู้สึกกลัวอะไรในวัย 30 กัน
แต่ถ้าคุณได้อ่านเรื่องราวของเธอในหนังสือ แด่วัย 30 ผู้คิดมาก เล่มนี้ คุณจะสัมผัสได้ถึง ความขี้กลัว และ คิดมากแบบย้ำคิดย้ำทำ ของเธอผ่านตัวอักษรเลย
คุณอึนจูย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา ทั้งที่การเงินไม่พร้อม ภาษาอังกฤษก็ไม่แข็งแรง สื่อสารก็ไม่เก่ง จนประสบกับภาวะ Imposter Syndrome คิดว่า ตัวเองไม่เก่งพอ ขาดความมั่นใจ จนต้องเข้ารับคำปรึกษา
การเดินทางของคุณอึนจูในเล่มนี้บอกชาววัย 30 ผู้คิดมากว่า กลัวไปเถอะ! คิดมากไปเถอะ! ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าของคุณ คนที่คุณนับถือ คนดังที่ประสบความสำเร็จ ต่างก็มีเรื่องที่กลัวและคิดมากกันทั้งนั้น
คำถามคือ คุณจะมัวแต่คิดมากจนไม่ลงมือทำอะไรเลย แล้วใช้ชีวิตแบบเดิม หรือจะหาวิธีเอาชนะความกลัว แล้วใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ?
ถ้าคำตอบของคุณคือ แบบหลัง มาเรียนรู้วิธีเอาชนะความกลัวของคุณอึนจูกัน
“ถ้าไม่ได้ก็แล้วไป”
ทุกคนมีเรื่องที่กลัวและคิดมากกันทั้งนั้น แม้แต่คนเก่งที่แสดงออกอย่างมั่นใจอย่างคุณอึนจูก็ตาม
ถึงคุณอึนจูจะอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลากว่า 10 ปี ได้เป็นหัวหน้าทีมของ Google แล้ว เธอก็ยังมีเรื่องให้กลัวมากมาย ตั้งแต่เรื่องที่ดูเล็กน้อยอย่างการจดบันทึกรายงานประชุม กว่าจะพิมพ์แต่ละข้อความออกไป ต้องเช็คแล้วเช็คอีก ไปจนเรื่องใหญ่อย่าง กลัวการหางานในต่างประเทศ กลัวการสื่อสารภาษาอังกฤษ และกลัวจะถูกลูกน้องเกลียด
หากคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คุณจะสัมผัสผ่านตัวอักษรได้เลยว่า ความคิดมากของคุณอึนจูไม่ใช่แค่ความเครียดเบาๆ ที่เดี๋ยวมันก็ผ่านไป แต่เป็นความกลัวที่เก็บเรื่องราวมาคิดซ้ำๆ ย้ำอยู่ในสมอง จนนอนฝันร้าย
ในช่วงเวลาแห่งความกลัว คุณอึนจูจะกล่อมตัวเองด้วยคาถา…
“ถ้าไม่ได้ก็แล้วไป”
‘มีโอกาสไปเรียนต่อป.โท ที่อเมริกาแล้ว แต่พูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ ถ้าตั้งใจเต็มที่แล้ว แต่สุดท้ายเรียนไม่จบ ก็แล้วไป’
‘มีโอกาสได้สัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์แล้ว แต่กลัวพูดไม่รู้เรื่อง ถ้าเตรียมตัวมาเต็มที่แล้ว แต่สุดท้ายไม่ได้งาน ก็แล้วไป’
‘มีโอกาสได้เป็นหัวหน้าทีมของบริษัทระดับโลกแล้ว แต่กลัวดูแลลูกน้องได้ไม่ดี ถ้าใส่ใจลูกน้องเต็มที่แล้ว แต่สุดท้ายผลลัพธ์ไม่ดี ก็แล้วไป’
เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกกลัวว่าจะทำไม่ได้ ลองนึกถึงคาถาคุณอึนจู “ถ้าไม่ได้ก็แล้วไป”
คิดให้น้อยลง ลงมือทำให้เร็วขึ้น ถ้าไม่สำเร็จ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร
ถ้าผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาเป็นอย่างที่หวัง อย่างน้อยคุณก็ได้ลองทำ ได้เพิ่มค่าประสบการณ์ ได้เรียนรู้ และไม่ต้องมาค้างคาใจว่า “ถ้าหากตอนนั้นฉัน…”
เมื่อโอกาสพลิกชีวิตมาในวันที่คุณไม่พร้อม
จุดพลิกชีวิตที่สำคัญของคุณอึนจูคือ การไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกา ทั้งที่ไม่พร้อมทั้งภาษาและการเงิน สาเหตุมาจากแฟนหนุ่มของเธอได้ทุนไปเรียนต่อที่นั่นและอยากจะพาเธอไปด้วย
เธอพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ หน้าที่การงานในกรุงโซลก็กำลังไปได้สวย
เมื่อชีวิตพาคุณมาถึงจุดที่ต้องเลือกเส้นทางราวกับหนังรัก เป็นคุณจะเลือกแบบ The Holiday (2006) ที่เลือกความรัก หรือแบบ La La Land (2016) ที่เลือกหน้าที่การงาน?
สำหรับคุณอึนจู เธอตัดสินใจบอกเลิกแฟนหนุ่มทั้งน้ำตา เพราะอเมริกาไม่ใช่ความฝันของเธอ และก็ไม่คิดว่าคนขี้กลัวแบบเธอจะใช้ชีวิตอยู่รอดได้ในเมืองนอก
แต่ช่วงเวลาที่ไม่มีกันและกันก็ทำให้ต่างฝ่ายต่างรู้ใจตัวเองว่า พวกเขาอยากใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมากแค่ไหน สุดท้ายคุณอึนจูจึงกลับมาคืนดีกับแฟนหนุ่ม แต่งงานกัน และติดตามสามีไปเรียนต่อที่อเมริกา
ถ้านี่เป็นหนังรัก เรื่องราวคงจบลงอย่างโรแมนติกตรงนี้ แต่สำหรับหนังชีวิตและเส้นทางอาชีพในต่างแดนของคุณอึนจู นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
อุปสรรคแรกของเธอคือ การสื่อสาร ซึ่งไม่ใช่แค่กำแพงภาษา แต่รวมถึงการแสดงออก เพราะคุณอึนจูขี้กลัวสุดๆ ถึงขนาดเคยนั่งตัวแข็งทื่ออยู่ในรถตอนที่ตำรวจจราจรมาเคาะกระจกเพื่อให้ขยับรถ ขณะนั้นสามีของเธอออกไปทำธุระชั่วคราว คุณอึนจูขับรถไม่เป็น พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ ได้แต่นั่งนิ่งเป็นตุ๊กตาหน้ารถ สุดท้ายก็โดนใบสั่งกลับไป นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอผลักดันตัวเองให้กล้าสื่อสารและตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น
อุปสรรคที่สองคือ การเงิน แม้ว่าเงินเดือนจากทุนเล่าเรียนของสามีจะเพียงพอสำหรับค่าอยู่ค่ากิน แต่ก็ต้องประหยัด คุณอึนจูจึงพยายามขวนขวายหาที่เรียนภาษาอังกฤษฟรี ทั้งหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตและเดินหาแถวบ้าน จนไปเจอกับวิทยาลัยแถวบ้านที่เปิดสอนภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาติอยู่
อุปสรรคที่สามคือ ค่าเทอมไม่พอ เมื่อค่าเงินเปลี่ยนแปลงในช่วงที่คุณอึนจูต้องชำระค่าเทอมปริญญาโท ทำให้เงินสกุลเกาหลีใต้ที่เธอเตรียมไว้ไม่เพียงพอต่อค่าเทอมสกุลดอลลาร์ เธอพยายามตามหาทุนของคณะ ทุนมหาวิทยาลัย หางานตำแหน่งผู้ช่วยสอน สุดท้ายเธอส่งอีเมลถึงมหาวิทยาลัยเพื่อเล่าถึงสถานการณ์ เธออยากขอทุนการศึกษาเท่าไหร่ และเล่าถึงแผนการหลังเรียนจบว่า จะทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมอเมริกาบ้าง อีเมลที่เธอตั้งใจเขียนทำให้เธอได้ทุนการศึกษา 30% เท่ากับค่าเทอมที่ขาดพอดี
คุณอึนจูมีสกิล นักแก้ปัญหา ที่มองว่าทุกอุปสรรคมีทางออก
เมื่อโอกาสมาในเวลาที่คุณไม่พร้อม คุณอึนจูทำให้เห็นแล้วว่า ถ้าคุณอยากได้โอกาสนั้นจริงๆ คุณย่อมหาทางออกได้ เมื่ออุปสรรคมาก็ค่อยๆ แก้ไปทีละอย่าง
เทคนิคการฝึกภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริง
แม้ว่าคุณอึนจูเรียนจบปริญญาโทมาได้ แต่เธอชอบใช้เวลาอยู่กับเพื่อนๆ ชาวเกาหลีใต้ สื่อสารกันด้วยภาษาบ้านเกิด ทักษะการพูดภาษาอังกฤษจึงยังไม่แข็งแรง
การทำงานก็แตกต่างจากการเรียน คุณอึนจูรู้ว่าแค่สื่อสารกันพอรู้เรื่อง มันไม่เพียงพอแล้ว แต่ต้องมีทักษะ การพูดโน้มน้าว การนำเสนอ และ การโต้วาที ที่แข็งแกร่งด้วย
คุณอึนจูสรุปเทคนิคฝึกภาษาอังกฤษไว้ดังนี้
- การสื่อสารไม่ได้มีแค่คำพูด: ภาษาเป็นเพียง 20% อีก 80% คือสิ่งที่ไม่ใช้คำพูด เช่น สีหน้า ท่าทาง โทนเสียง จังหวะ สายตา และเสน่ห์ที่คุณส่งผ่านออกมา
- เนื้อหาและเสน่ห์ของผู้พูดสำคัญที่สุด: เพราะจะทำให้ผู้ฟังไม่เพียงแค่เปิดหู แต่ยังเปิดใจรับฟังด้วย
- สรุปเป็นหัวข้อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น: ใช้โครงสร้าง เช่น “There are 3 points which are…” เพื่อให้ผู้ฟังรู้ว่ามีกี่ประเด็นและเนื้อหาหลักคืออะไร
- ฝึกอ่านออกเสียงวันละ 1 ชั่วโมง: เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อปากและลิ้น ป้องกันอาการลิ้นแข็งเมื่อต้องพูดจริง
- เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ทุกวัน: อย่างน้อยวันละ 2 คำ และอ่านหรือฟังบทความจากหลากหลายหัวข้อ เพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์จากหลายวงการ
สำหรับการฝึกอ่านออกเสียง คุณอึนจูเข้าร่วม Book Club คอมมูนิตี้ออนไลน์เพื่อฝึกอ่านออกเสียงจากหนังสือเล่มดัง และพูดคุยแลกเปลี่ยนคำศัพท์ใหม่ๆ ซึ่งเธอเพิ่งเข้าร่วมตอนที่เริ่มทำงานกับ Google หรือก็คืออยู่อเมริกามากว่า 10 ปีแล้ว ถึงตอนนั้นทักษะภาษาอังกฤษของเธออยู่ในระดับที่ดีแล้ว แต่เธอยังมาฝึกเพิ่มเติมในด้าน การโต้แย้งและการนำเสนอ เพราะชาว Google ต่างมีทักษะนำเสนอและโน้มน้าวใจที่เก่งมาก
ซื้อหนังสือแด่วัย 30 ผู้คิดมาก: Shopee, นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
“หนังสือที่ดีจะช่วยเสริมพลังการสร้างความหนักแน่นของตัวเอง” เหมือนที่คุณอึนจูกล่าวไว้ หนังสือแด่วัย 30 ผู้คิดมากเล่มนี้ช่วยเพิ่มพลังความหนักแน่นให้เรา เรียกว่าเป็นขุมทรัพย์สำหรับคนวัยทำงานที่กำลังรู้สึกกลัว คิดมาก และอยากจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องงานและการใช้ชีวิต
ถ้าคุณอยากเติมความกล้าหาญในการใช้ชีวิต เล่มนี้ส่งพลังให้คุณได้แน่นอน 🙂