#ReadersGarden เล่มที่ 57
อาร์มี่นักการตลาดห้ามพลาด 💜 หนังสือ BTS Marketing กลยุทธ์ครองตลาดโลก จะพาเราไปสำรวจความสำเร็จของ BTS ในแง่มุมของการตลาด ซึ่งถูกวิเคราะห์โดยคุณพัคฮยองจุน (Park Hyung Jun) CEO ด้านกลยุทธ์การตลาดและผู้เชี่ยวชาญ Big Data ของเกาหลีใต้
BTS วงไอดอลจากค่ายเล็กๆ ที่มีอยู่แค่วงเดียวในตอนเริ่มต้น สามารถก้าวสู่เวทีระดับโลกได้ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดของตลาดเพลง K-POP ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง SM, YG และ JYP ครองตลาดอยู่แล้ว แต่ในปี 2022 มูลค่าหลักทรัพย์ของ HYBE ต้นสังกัดของ BTS ได้แซง 3 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ไปแล้ว นั่นทำให้ BTS ถูกเรียกว่าเป็น ‘ปาฏิหาริย์ของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง’
ก่อนอื่นเมื่อกล่าวถึง BTS ในบทความนี้ ซิสขอหมายถึงหนุ่มๆ บังทัน 7 คนและทีมงานของค่ายเพลง Big Hit Entertainment หรือ HYBE ในปัจจุบันนะคะ เพราะความสำเร็จของ BTS มาจากความสามารถของ RM, Jin, Suga, J-Hope, Jimin, V และ Jungkook รวมถึงมาจากการโปรโมทและสนับสนุนศิลปินอย่างดีเสมอมาของค่ายเพลงด้วย โดยเฉพาะผู้ก่อตั้งค่ายเพลงอย่างบังชีฮยอก (Bang Si-Hyuk) ที่มักจะถูกหนุ่มๆ บังทันกล่าวถึงอย่างอารมณ์ดีทุกครั้งที่มีโอกาส
เนื้อหาในหนังสืออวยความสำเร็จของ BTS อย่างตรงไปตรงมา ทำไมตอนเดบิวต์ใหม่ๆ ถึงไม่ประสบความสำเร็จ และอะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้ไปสู่ระดับโลกได้ โดยสรุปออกมาเป็น 3 ปัจจัยความสำเร็จและ 4 กลยุทธ์ธุรกิจดังต่อไปนี้ค่ะ
ปัจจัยความสำเร็จของวง BTS
มาดูกันว่า 3 ปัจจัยที่ทำให้ BTS มีสร้างฐานทัพอาร์มี่ที่แข็งแกร่งได้ทั่วโลกมีอะไรบ้าง
1. ทักษะความเป็นศิลปิน: BTS มีทักษะครบเครื่องตั้งแต่การร้องและเต้น, รูปลักษณ์ที่ดึงดูด และสกิลเสริมอย่างสกิลวาไรตี้, แต่งเพลง, ออกแบบท่าเต้นและคาแรคเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์
สิ่งที่ทำให้อาร์มี่ตกหลุมรักมากยิ่งขึ้นคือ บังทันไม่ได้เพอร์เฟคมาตั้งแต่แรก เช่น นัมจุนและจินไม่ถนัดเต้น, จีมินไม่มั่นใจเรื่องแต่งเพลง, เมมเบอร์ทุกคนยกเว้นนัมจุมไม่ถนัดภาษาอังกฤษ เป็นต้น แต่พวกเขาต่างท้าทายขีดจำกัดของตัวเองและแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แฟนด้อม
2. ข้อความที่จริงใจ: สิ่งที่ทำให้เพลง BTS โดดเด่นและคนฟังเข้าถึงได้ง่ายคือการที่เมมเบอร์มีส่วนร่วมในการแต่งเพลงและคิดคอนเซปต์การแสดงผลงาน ทำให้แฟนๆ สัมผัสได้ถึงความจริงใจผ่านผลงานและเรียนรู้ความคิดและปรัชญาของศิลปิน
อัลบั้มที่ทำให้ BTS เริ่มโด่งดังในตลาดโลกคือ The Most Beautiful Moment in Life ที่ถ่ายทอดความวิตกกังวล ความปวดร้าว ความขัดแย้ง ความรักและการเติบโตของวัยรุ่นในช่วงวัย 10-20 ปีได้เป็นอย่างดี นั่นทำให้ผู้ฟังวัยรุ่นเกิดความรู้สึกร่วมได้ง่ายและกลายมาเป็นแฟนเพลง
3. การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย: สมัยนี้การสื่อสารกับแฟนคลับบนโลกออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติ แต่หากมองย้อนไปในช่วงที่ BTS เพิ่งเดบิวต์ คอนเทนต์ที่ไอดอลสื่อสารกับแฟนคลับค่อนข้างมีจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะค่ายเพลงต้องการปั้นให้ไอดอลเป็นคนที่สมบูรณ์แบบและลิมิเต็ดอิดิชั่น ไอดอลเป็นบุคคลที่แฟนๆ ชื่นชมและเคารพ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูห่างไกล จับต้องได้ยาก
แต่ทาง BTS เลือกที่จะเผยแพร่คอนเทนต์ฟรีจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอ สื่อสารกับแฟนคลับบ่อยๆ ผ่าน YouTube และ Twitter ซึ่งทำมาตั้งแต่ก่อนเดบิวต์ ภาพลักษณ์ที่ปล่อยออกมาก็จริงใจ ไม่ได้สมบูรณ์แบบตลอดเวลา เช่น การเล่าถึงความเหนื่อยยากตอนฝึกซ้อม, ความเหนื่อยและท้อใจแต่ก็ไม่อยากยอมแพ้ เป็นต้น คอนเทนต์เหล่านี้ทำให้แฟนคลับรับรู้ถึงคุณค่าของศิลปินมากขึ้น ได้เห็นตัวตนของ BTS ทั้งจากผลงานเบื้องหน้าและความพยายามเบื้องหลัง
ค่ายเพลง Big Hit เองก็ไม่เคร่งเรื่องลิขสิทธิ์เท่ากับค่ายเพลงใหญ่ พวกเขาปล่อยให้แฟนๆ ดัดแปลงและเผยแพร่คอนเทนต์ได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ BTS ถูกพูดถึงแพร่หลายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว
ปัจจัย 3 ข้อนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ BTS ประสบความสำเร็จในการสร้างฐานแฟนคลับ แต่วงไอดอลอื่นๆ เองก็มีความสามารถที่ครบถ้วน มีความจริงใจและสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกวงจะประสบความสำเร็จในระดับเดียวกัน เพราะว่านอกปัจจัยของศิลปินแล้ว ทิศทางการตลาดและกลยุทธ์ของบริษัทก็มีส่วนสำคัญในการบุกตลาดโลก
T.T.W.V สี่เสาหลักกลยุทธ์ครองตลาดโลก
1. Timing: วง BTS เริ่มบุกตลาดโลกในช่วงที่ K-Pop กำลังร้อนแรง โลกรู้จัก K-Pop มาเพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นผลจากความพยายามท้าทายตลาดโลกของผู้บุกเบิก K-Pop ในอดีต
หากมองย้อนกลับไปช่วง 10 ปีก่อนที่ BTS จะเดบิวต์ รุ่นพี่ตัวท็อปในวงการ K-Pop อย่าง BOA, Rain, Wonder Girls และ Big Bang เคยพยายามตีตลาดโลกมาก่อน พวกเขามีความสามารถโดดเด่น เพลงฮิตติดหู เวทีการแสดงยอดเยี่ยม มีฐานแฟนคลับเหนี่ยวแน่นทั่วเอเชีย และมาจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่มีงบการตลาดสูง แต่สุดท้ายค่ายเพลงก็ต้องถอนตัวออกจากตลาดอเมริกาเหนือเมื่อไม่สามารถทำกำไรได้ มันไม่ใช่เพราะความสามารถของศิลปินและการสนับสนุนของค่ายไม่เพียงพอ แต่เป็นเรื่องของ ‘เวลา’ ยุคนั้น K-Pop ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับตลาดอเมริกาและยุโรป เรียกว่า ระยะบุกเบิก คนที่รู้จักและยอมรับใน K-Pop มีเพียงคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
เช่นเดียวกับกรณีของ Steve Jobs ที่ก่อนจะให้กำเนิด iPhone เขาเคยสร้างสมาร์ทโฟนรุ่นแรกกับ Motorola ที่ชื่อว่า ROKR ในปี 2005 แต่กลับล้มเหลวด้านยอดขาย ต่อมาในปี 2009 สตีฟเปิดตัว iPhone 3GS ซึ่งมีพื้นฐานเหมือนกับ ROKR เลย แต่คราวนี้กลับขายดี ความแตกต่างที่สำคัญของสมาร์ตโฟนทั้ง 2 รุ่นคือ ‘เวลา’ ตอนที่ ROKR ถูกปล่อยออกมา ยังเป็นระยะบุกเบิกของสมาร์ทโฟน แต่เมื่อ iPhone 3GS ถูกปล่อยออกมา เป็นยุคที่สมาร์ทโฟนเริ่มเป็นกระแสแล้ว iPhone ผู้คนจึงเปิดใจลองใช้งานมากกว่าระยะบุกเบิก
กว่านวัตกรรมใหม่จะมีอิทธิพลต่อคนทั่วไปต้องใช้เวลานาน อย่างกรณีของ K-Pop ในตลาดอเมริกาเหนือก็ติดอยู่ที่ระยะบุกเบิกนานถึง 10 ปี เพราะผู้บริโภคไม่ต้องการลองสินค้าใหม่หากไม่เคยผ่านประสบการณ์และเรียนรู้มาก่อน แต่เมื่อสาธารณชนเกิดการรับรู้และความรู้สึกร่วมแล้ว ธุรกิจจึงจะก้าวผ่านระยะหุบเหวการตลาดไปได้
ในช่วงหุบเหวของการตลาด ธุรกิจขนาดเล็กที่มีทุนน้อยและไม่สามารถรับความเสี่ยงขาดทุนได้ควรรอให้ตลาดเริ่มร้อนก่อน ระหว่างนั้นให้เน้นสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ เหมือนอย่างที่ BTS ทำหลังจากเดบิวต์แล้วพวกเขาไม่ได้กระโดดเข้าสู่ตลาดโลกทันที แต่รอเกือบ 3 ปี โดยระหว่างนั้นพวกเขาหมั่นฝึกฝนทักษะความเป็นศิลปินอยู่เสมอ รวมถึงสื่อสารและเผยแพร่คอนเทนต์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ BTS
ซื้อหนังสือ BTS Marketing กลยุทธ์ครองตลาดโลก : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
2. Targeting: โฟกัสไปยังกลุ่มเป้าหมายเล็กๆ ที่มีเครือข่ายแข็งแกร่งก่อน คนกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้กระจายคอนเทนต์ออกไปสู่เครือข่ายกว้างขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วงแรกเริ่มของ BTS พวกเขาโฟกัสการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมาย 1% คือคนเอเชียกลุ่มเล็กๆ ในช่วงวัย 10-20 ปีที่มีประสบการณ์เจ็บปวดและอ่อนแอเหมือนกับตัวเอง โดยจะเห็นได้จากเนื้อหาเพลงต่างๆ เช่น เพลง Paradise ที่พูดถึง “ถึงคุณจะไม่มีความฝันก็ไม่เป็นไร ขอแค่มีช่วงเวลาที่คุณมีความสุขก็เพียงพอ” รวมถึงทลายข้อห้ามของ K-Pop โดยการพูดถึงการเมือง ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและสนับสนุน LGBTQ+ ด้วย
เช่นเดียวกับกรณีของนักร้องสาวระดับโลกอย่าง Lady Gaga ที่ตอนเริ่มต้นเธอก็มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมาย 1% ที่เป็นคนนอกของสังคม โดยบอกว่าเธอเป็น “คนนอกที่เพื่อนๆ ไม่คบ” จึงสามารถสร้างฐานแฟนคลับจากคนนอกที่มีประสบการณ์เช่นเดียวกับเธอ จนเครือข่ายแข็งแกร่งและขยายเป็นวงกว้างไปทั่วโลก
หากดูจากจำนวนคำค้นหาบนอินเทอร์เน็ต แฟนด้อมหลักในช่วงเวลาแรกของ BTS อยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เวียดนามและเมียนมาร์ ส่วนในประเทศเกาหลีใต้ แฟนด้อมของ BTS ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท ส่วนพื้นที่ในเมืองจะถูกครอบครองโดยวงที่มาจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ BTS เองก็มุ่งทำกิจกรรมในพื้นที่ต่างจังหวัดและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อเปรียบเทียบ BTS กับวงไอดอลอื่นๆ ที่ทำกิจกรรมในช่วงเวลาเดียวกันในช่วง 2 ปีแรก จำนวนแฟนคลับ ยอดขายอัลบั้มและคำค้นหาทางอินเตอร์เน็ตของ BTS มีจำนวนน้อยกว่าหลายวง แต่อาร์มี่เป็นแฟนด้อมที่แข็งแกร่งและเหนี่ยวแน่น และกลายเป็นผู้กระจายคอนเทนต์ของ BTS ให้เผยแพร่ไปทั่วโลกจนฐานแฟนคลับเติบโตขึ้น
มีเรื่องเล่าที่น่าประทับใจของอาร์มี่อเมริกา ในช่วงการโปรโมทแรกๆ ของ BTS อาร์มี่มักจะขอเพลงของ BTS ในรายการที่เปิดให้ผู้ฟังขอเพลงได้อย่างสม่ำเสมอ เป็นการกระจายผลงานให้ศิลปิน ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่ศิลปินหรือค่ายบอกให้แฟนคลับทำให้ แต่พวกเขาต่างเต็มใจสนับสนุนศิลปินที่ตัวเองรักเอง
3. Whole Products: สินค้าที่สมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องเยี่ยมที่สุดเสมอไป ขึ้นอยู่กับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยผลงานของ BTS เป็นสินค้าที่สมบูรณ์ที่ตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายได้อย่างพอดี
จากข้อมูลของ Value management group (2018) แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายต่างกันให้ความสำคัญกับคุณลักษณะของไอดอลที่แตกต่างกัน เช่น หากเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้นำนิยมในสหรัฐฯ ก็ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับแฟนๆ ข้อความ และมิวสิควิดีโอเป็นสิ่งสำคัญ หากกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มอนุรักษ์นิยมในเกาหลีใต้ ก็ต้องให้สำคัญกับรูปลักษณ์ ความสามารถในการร้องเพลง และการแสดงเป็นหลัก เป็นต้น
4. Viral: สร้างคอนเทนต์จุดกระแสสังคม ให้แฟนคลับมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์และเผยแพร่ได้อย่างอิสระ
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า BTS มักจะเผยแพร่คอนเทนต์คุณภาพ ผลิตเองและฟรีอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงให้อิสระแฟนๆ ในการนำไปตัดต่อและเผยแพร่ต่อ นั่นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่แฟนคลับได้รู้จักกับ BTS และคนมีจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบคอนเทนต์ที่เห็นผ่านกลุ่มแฟนคลับก่อนที่จะได้เสพคอนเทนต์จากช่องทาง Official
กรณีนี้คล้ายคลึงกับการเผยแพร่การ์ตูนเถื่อน ตอนซิสไปพิพิธภัณฑ์ Kyoto International Manga ที่ประเทศญี่ปุ่น พวกเขาเล่าถึงประวัติศาสตร์มังงะญี่ปุ่นไว้ว่า การเผยแพร่การ์ตูนเถื่อนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มังงะญี่ปุ่นครองตลาดโลกได้ แน่นอนว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องผิดกฎหมายและทำให้นักเขียนกับสำนักพิมพ์สูญเสียรายได้มหาศาล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันทำให้คนทั่วโลกรู้จักมังงะญี่ปุ่นและถูกเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว
สำหรับคอนเทนต์ของศิลปินก็เช่นกัน สมัยก่อนค่ายเพลงใหญ่ๆ มักจะเข้มงวดเรื่องลิขสิทธิ์มาก หากถูกนำไปเผยแพร่ต่อก็มักจะถูกลบในทันที แต่ไม่ใช่กับ BTS พวกเขาอนุญาติให้แฟนๆ ตัดต่อและเผยแพร่คอนเทนต์ได้อย่างอิสระ แถมหนุ่มๆ บังทันยังมักจะพูดชื่นชมถึงความสร้างสรรค์ในการทำคอนเทนต์ของอาร์มี่ด้วย แฟนๆ จึงยิ่งอยากจะทำคอนเทนต์ดีๆ เพื่อโปรโมทพวกเขาอีก
ปัจจุบันค่ายเพลงอื่นๆ ก็เริ่มผ่อนผันเรื่องลิขสิทธิ์มากขึ้น โดยหาจุดกึ่งกลางที่ยังคงปกป้องสิทธิประโยชน์ของค่ายและศิลปินไว้ได้
BTS ในฐานะสุดยอดแพลตฟอร์ม
ในทางธุรกิจ แพลตฟอร์มที่ครอบครองเวลาของผู้บริโภคในแต่ละวันได้จะเป็นผู้ทำกำไร แพลตฟอร์มอย่าง Facebook หรือ Amazon จึงพยายามดึงความสนใจจากลูกค้าในพวกเขาใช้เวลาในแพลตฟอร์มตัวเองให้นานที่สุด
BTS เองก็เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคใช้เวลาด้วยในชีวิตประจำวัน เสพเนื้อหาคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นฟังเพลง, ดูมิวสิควิดีโอ, รายการวาไรตี้อย่าง Run BTS, รายการสัมภาษณ์ หรือวิดีโอเบื้องหลังต่างๆ ในรายการ Bangtanbomb จน BTS ได้รับชื่อเล่นว่า ฮเยจาโซนยอนดัน หมายถึง กลุ่มเด็กชายที่อัดแน่นไปด้วยคอนเทนต์มากมาย
คอนเทนต์มากมายไม่เพียงแต่ป้องกันแฟนๆ จะหลุดจากวงโคจรไปในช่วงที่ไม่มีการโปรโมทเพลง แต่ยังเป็นตัวที่เพิ่มฐานแฟนคลับด้วย เพราะมีหลายคนเหมือนกันที่กลายเป็นอาร์มี่หรือสนใจในตัวบังทันหลังจากได้ดูรายการวาไรตี้หรือวิดีโอเบื้องหลัง ก่อนที่จะได้เสพผลงานเพลงด้วยซ้ำ
BTS เป็นวงที่เราตามเสพคอนเทนต์ไม่หมดจริงๆ หนุ่มๆ และทีมงานขยันวางแผนและสร้างคอนเทนต์ตลอดแม้ในยามที่ทำกิจกรรมต่างประเทศหรือในช่วงวันหยุดก็ตาม ทำให้แฟนๆ ไม่มีช่องว่างให้รู้สึกเบื่อเลย
อย่างในงานประกาศรางวัล ขณะที่ศิลปินส่วนใหญ่ไปร่วมอาฟเตอร์ปาร์ตี้ BTS จะกลับมายังห้องพักเพื่อสื่อสารกับแฟนๆ ผ่าน VLIVE และร่วมแบ่งปันช่วงเวลาดีๆ ทำให้แฟนคลับรู้สึกผูกพันและสานต่อความสัมพันธ์ด้วยการรวบรวมคอนเทนต์และกระจายอย่างต่อเนื่อง
BTS ยังทำให้เห็นว่า ‘คอนเทนต์รอง’ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยจุดกระแสและขยายฐานแฟนคลับได้ เช่น แปลคอนเทนต์เป็นภาษาต่างๆ, คัฟเวอร์เพลงหรือท่าเต้น, รีแอคชั่น, ตัดต่อมิวสิควิดีโอใหม่, วิดีโอวิเคราะห์และตีความคอนเทนต์อีกที เป็นต้น
ไอดอลวรรณกรรม อาณาจักรทางปัญญาของ BTS
เอกลักษณ์ที่ทำให้ BTS เป็นที่ชื่นชอบและโดดเด่นคือ การแบ่งปันความคิดและปรัชญาของพวกเขาอย่างจริงใจและลึกซึ้ง โดยได้แนวคิดมาจากหนังสือที่อ่าน ซึ่งรายชื่อหนังสือที่ #บังทันอ่าน ก็แพร่หลายไปทั่ว พวกเขายังนำความคิดที่ตกตะกอนจากการอ่านมาใส่ผลงานเพลงและมิวสิควิดีโอ นั่นทำให้บังทันมีแฟนคลับตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้สูงวัย
นอกจากนี้พวกเขายังใช้เทคนิคปลายเปิดในผลงาน คือไม่ได้สื่อสารออกมาตรงๆ แต่ทำให้เกิดการตีความต่อ เช่น มิวสิควิดีโอ Blood Sweat & Tears ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ Demian, เพลง Magic Shop จากหนังสือ Into The Magic Shop, เพลง Pied Piper จากนิทานพื้นบ้านนักเป่าขลุ่ยแห่งฮาเมลิน (The Pied Piper of Hamalin), มิวสิควิดีโอเพลง Serendipity ที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเจ้าชายน้อย (The Little Prince) เป็นต้น
อ่านจบแล้วนับถือในตัวหนุ่มๆ บังทันและทีมงาน Big Hit/HYBE มากกว่าเดิม แค่นี้ก็เปย์เงินหมดบัญชีแล้วค่า 😂 แล้วจะเห็นผลงานจากค่าย HYBE ได้ดีเลยว่า ไม่ใช่กลยุทธ์ของ BTS เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ แต่วงน้องชายและน้องสาวอย่าง TXT, LE SSERAFIM และ NewJeans เองก็กำลังมาแรง นอกจากความสามารถของเด็กๆ แล้ว ยังเป็นเพราะกลยุทธ์การตลาดของค่ายเพลงด้วย
ซื้อหนังสือ BTS Marketing กลยุทธ์ครองตลาดโลก : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
ในหนังสือยังมีรายละเอียดและกรณีศึกษาทางธุรกิจอีกมากมาย พร้อมแนะแนวว่าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางจะนำกลยุทธ์เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ต่อได้ยังไงบ้าง หากเพื่อนๆ ชื่นชอบ สามารถอ่านฉบับเต็มได้ในหนังสือ BTS Marketing กลยุทธ์ครองตลาดโลก!