ทำไมบางคนพูดตรงจนจุก?
บางคนคุยสนุก แต่สุดท้ายไม่ได้ข้อสรุป
บางคนสุภาพมาก แต่วกไปวนมาจนไม่รู้ว่าต้องการอะไร
บางคนไม่ยอมตัดสินใจอะไรเลย ถ้าไม่มีตัวเลขรองรับ
บางโปรเจกต์ควรเสร็จในไม่กี่สัปดาห์ แต่ถูกเลื่อนเป็นเดือน เพราะคุณไม่เข้าใจบุคลิกการทำงานของคนที่คุณทำงานด้วย
คุณอาจเตรียมตัวเลขมานำเสนอ ลำดับขั้นตอน 1-10 เพื่อโน้มน้าวหัวหน้า ขณะที่เพื่อนร่วมทีมอีกคนไม่ได้มีตัวเลข แต่พาทีมที่เกี่ยวข้องไปคุยจนจบ
ใครจะได้ไฟเขียวก่อน ก็ขึ้นอยู่กับว่าหัวหน้าชอบสไตล์การทำงานแบบไหน
ถ้าคุณคิดว่า ฉันทำงานถูกต้องตามหลักการแล้ว เดี๋ยวคนอื่นก็เห็นด้วยเอง ความจริงคือ ไม่เลย เพราะเราทุกคนต่างมีหลักการทำงานของตัวเองทั้งนั้น ต่อให้ไอเดียดีแค่ไหน ถ้าคุณไม่เข้าใจสไตล์ของอีกฝ่าย โอกาสที่งานจะติดขัดก็สูง
อย่างน้อยคุณควรรู้จัก คนที่ประเมินคุณ และ คนที่ช่วยให้งานคุณสำเร็จ แล้วคุณจะใช้พลังงานน้อยลง แต่ได้ผลลัพธ์มากขึ้น
สไตล์การทำงานต่างกัน ความรู้สึกก็ต่างกัน
เวลาคุณเริ่มงานใหม่ เจอเพื่อนร่วมงานใหม่ ก็คงเจอเรื่องให้ต้องปรับตัวเข้ากับสไตล์การทำงานใหม่
เราก็เช่นกัน
สัปดาห์แรกที่เราย้ายมาทำงานกับทีมปัจจุบัน สิ่งแรกที่สังเกตคือ การสื่อสารแสนสุภาพของทีม เต็มไปด้วยอิโมจิ 😊🙏🌷 และคำสุภาพฟุ่มเฟือย แต่รู้สึกเป็นมิตร ทำเอาคนกระชับแบบเรารู้สึกหยาบคายไปเลย
ถึงจะสังเกต แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจนัก จนกระทั่งระหว่างมื้อกลางวันวันหนึ่ง มีเพื่อนร่วมทีมเปิดประเด็นขึ้นมา
“ทีมนั้นไม่ชอบพวกเราหรือเปล่า? ตอบกลับห้วนมาก ทั้งที่ทีมเราส่งข้อความอย่างเป็นมิตรตลอด”
ทุกคนพยักหน้าเห็นด้วย และวิจารณ์กันอย่างออกรส โดยสรุปว่าการไม่ทักทาย ไม่ใช้อิโมจิ หรือตอบกลับสั้นๆ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่เป็นมิตร
ตอนนั้นเราถึงตระหนักว่า สไตล์การทำงานต่างกันส่งผลต่อความรู้สึกที่ต่างกัน และบางที… เราควรใส่ใจความรู้สึกของคนที่เราทำงานด้วยมากขึ้น
เพื่อนร่วมงานแฮปปี้ = ทำงานง่ายขึ้น = คุณแฮปปี้
เข้าใจสไตล์การทำงานกันด้วยโมเดล DISC
หลายเดือนต่อมา ทีมของเราได้เข้าร่วมเวิร์กชอปการวิเคราะห์บุคลิภาพด้วยโมเดล DISC ซึ่งเปลี่ยนวิธีการทำงานของเราไปเลย
คุณอาจคุ้นเคยกับโมเดล MBTI มากกว่า ซึ่งบอกตัวตนนอกงานได้ด้วย แต่นำมาใช้ทำงานจริงได้ยากเพราะมีถึง 16 บุคลิกภาพ นอกจากตัวอักษรแรกที่ว่าเป็น Extrovert หรือ Introvert เราก็ไม่เคยจำ 3 ตัวอักษรที่เหลือเลย
ส่วนโมเดล DISC ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้คนทำงานร่วมกันได้ดีขึ้นโดยเฉพาะ มีเพียง 4 บุคลิกภาพ จำง่าย โดยแบ่งบุคลิกภาพตามพฤติกรรม 2 แกนหลัก:
- People vs. Task focus (สนใจคน vs. สนใจงาน)
- Active vs. Reflective (ชอบควบคุม vs. ชอบสนับสนุน)

ออกมาเป็น 4 สี 4 บุคลิกภาพ ได้แก่:
- 🔴 D (Dominant) สีแดง: ผู้นำดุดันไม่เกรงใจใคร ตัดสินใจไว เน้นผลลัพธ์
- 🟡 I (Influence) สีเหลือง: ชาวพลังบวก เฮฮา สร้างแรงบันดาลใจให้ทีม
- 🟢 S (Steady) สีเขียว: สายซัพพอร์ต ใจดี คอยดูแลให้ทีมราบรื่น
- 🔵 C (Conscientious) สีน้ำเงิน: ชาวตรรกะ ทุกอย่างต้องมีเหตุผล
คุณอาจมีหลายบุคลิกภาพผสมกันได้ เช่น Di, Sc แต่มักจะมีบุคลิกหนึ่งนำเด่นเสมอ
ถ้ายังไม่แน่ใจว่าคุณเป็นชาวสีอะไร สามารถทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ DISC ได้ที่นี่
วิทยาศาสตร์ของโมเดล DISC
แนวคิดดั้งเดิมของ DISC มีมาเกือบ 100 ปีแล้ว โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน วิลเลียม โมลตัน มาร์สตัน (William Moulton Marston) ผู้ตีพิมพ์แนวคิดนี้ในหนังสือ Emotions of Normal People (1928)
แต่สิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดคือ มาร์สตันไม่ได้ศึกษาบุคลิกภาพในแง่ของ คุณเป็นใคร แต่เน้นไปที่ คุณแสดงออกอย่างไร ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ โดยอิงกับ 2 ปัจจัยหลัก:
- อารมณ์ปฐมภูมิ (Primary Emotions): อารมณ์พื้นฐานที่ตอบสนองโดยอัตโนมัติ เช่น สุข เศร้า กลัว โกรธ
- การตอบสนองทางพฤติกรรม (Behavioral Responses): ปฏิกิริยาทางร่างกายที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ อาจเป็นไปโดยอัตโนมัติหรือผ่านการควบคุมจากสติ เช่น เผชิญหน้า หนี หรือสงบนิ่งเมื่อกลัว
มาร์สตันใช้ 2 ปัจจัยนี้สร้าง แกนวิเคราะห์พฤติกรรม ซึ่งต่างจาก DISC ในปัจจุบันเล็กน้อย:
- Challenging vs. Friendly: คุณมองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปฏิปักษ์หรือเป็นมิตร
- Active vs. Passive: คุณเป็นฝ่ายควบคุมหรือเป็นฝ่ายปรับตัว
จากนั้นจึงเกิดเป็น 4 รูปแบบพฤติกรรม ที่กลายเป็นรากฐานของ DISC ซึ่งต่อมาบริษัทเอกชนและนักวิจัยได้นำไปพัฒนาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์บุคลิกภาพที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกการทำงาน
วิธีร่วมงานกับคนแต่ละประเภท
คุณไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองให้ถูกใจทุกคน แค่เข้าใจว่าคนแต่ละแบบคิดและทำงานอย่างไร เพื่อปรับวิธีการร่วมงานกันให้ราบรื่นขึ้นก็พอ
D (Dominance): ผู้นำ เน้นผลลัพธ์ ตรงไปตรงมา มั่นใจ กล้าตัดสินใจ
- ทักทายยังไง? กระชับ มีพลัง “เฮ้! [ชื่อ] เป็นไงบ้าง?” อย่าเสียเวลากับ small talk
- ประชุมยังไง? เข้าประเด็น เน้นภาพรวมและผลลัพธ์ ไม่ต้องลงรายละเอียดเยอะ
- ตัดสินใจยังไง? ให้ทางเลือก แต่ให้เขาเป็นคนเลือกเอง “มี 2 ตัวเลือกที่ดี อันไหนดีที่สุดสำหรับคุณ?”
- ในกิจกรรมทีม? ปล่อยให้พวกเขานำถ้าต้องการ อย่าฝืนให้เข้าร่วมกิจกรรมยิบย่อย
- อยากเป็นเพื่อน? แสดงให้เห็นว่าคุณมีเป้าหมายและพึ่งพาตัวเองได้ พวกเขาชอบคนที่เอาตัวรอดเป็น
- ขอความช่วยเหลือยังไง? บอกตรงๆ ว่าต้องการอะไร ทำไมมันสำคัญ “ช่วยเรื่อง [งาน] หน่อย เราต้องการให้ [เป้าหมาย]”
I (Influence): สายเฮฮา เน้นคอนเน็กชัน ชอบมีส่วนร่วม
- ทักทายยังไง? ใส่พลังงานหน่อย อารมณ์ดี ยิ้มเข้าไว้ “เฮ้ [ชื่อ] วันนี้สดใสเหมือนเดิมเลยนะ!”
- ประชุมยังไง? เปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น พวกเขาชอบแลกเปลี่ยนไอเดียและมีส่วนร่วม
- ตัดสินใจยังไง? ชวน brainstorm แต่อย่าคาดหวังให้พวกเขาจัดการรายละเอียด
- ในกิจกรรมทีม? ปล่อยให้พวกเขาสร้างสีสัน เป็นจุดศูนย์กลางของบรรยากาศ
- อยากเป็นเพื่อน? เปิดใจ เป็นตัวเอง อย่าทำให้ทุกอย่างดูเครียดเกินไป
- ขอความช่วยเหลือยังไง? ทำให้ดูเหมือน teamwork “เราชอบไอเดียของคุณ เรามาทำงานนี้ด้วยกันไหม? น่าจะสนุกนะ!”
S (Steadiness): ผู้ฟังที่ดี สายซัพพอร์ต ใจเย็น น่าเชื่อถือ
- ทักทายยังไง? ถามไถ่แบบใส่ใจ “เฮ้ [ชื่อ] วันนี้เป็นไงบ้าง?”
- ประชุมยังไง? ให้เวลาคิด ให้พูดบ้าง พวกเขาอาจไม่พูดเองถ้าไม่มีใครถาม
- ตัดสินใจยังไง? อย่ากดดัน ให้เวลาตัดสินใจ “ไม่ต้องรีบ คิดดูก่อนแล้วบอกเรานะ”
- ในกิจกรรมทีม? อย่าบังคับให้เป็นจุดสนใจ ชอบบรรยากาศอบอุ่น
- อยากเป็นเพื่อน? แสดงให้เห็นว่าคุณไว้ใจได้ คนกลุ่มนี้ใช้เวลาสนิทกับคนแต่ละคน
- ขอความช่วยเหลือยังไง? พูดด้วยความจริงใจและให้เครดิต “ขอความช่วยเหลือหน่อยนะ คุณเก่งเรื่องนี้มากเลย”
C (Conscientiousness): นักคิดสายตรรกะ เน้นความถูกต้อง มีระเบียบ
- ทักทายยังไง? กระชับ “สวัสดี [ชื่อ] หวังว่าทุกอย่างโอเคนะ”
- ประชุมยังไง? ใช้ข้อมูลและเหตุผล ไม่เวิ่นเว้อ พวกเขาชอบการประชุมที่มีโครงสร้าง
- ตัดสินใจยังไง? ให้ข้อมูลครบถ้วน ให้เวลาดูรายละเอียดก่อนเลือก
- ในกิจกรรมทีม? ไม่ต้องบังคับให้เข้าสังคมเยอะ พวกเขาชอบพูดคุยแบบลึกซึ้งในวงเล็กๆ
- อยากเป็นเพื่อน? เคารพพื้นที่ส่วนตัว และสนใจบทสนทนาที่มีสาระ ไม่ชอบ small talk
- ขอความช่วยเหลือยังไง? บอกแบบตรงไปตรงมา ใช้เหตุผล “คุณช่วยดูอันนี้หน่อยได้ไหม? เราต้องการ insight จากมุมของคุณ”
ลองนั่งคิดดูว่าตอนนี้งานไหนที่คุณรู้สึกติดขัด ใครคือคนที่คุณต้องทำงานด้วย พวกเขาน่าจะเป็นคนประเภทไหนจากการสังเกตพฤติกรรม แล้วดูว่าคุณจะปรับการสื่อสารหรือวิธีการร่วมงานกับพวกเขาให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ยังไงบ้าง
ความแตกต่างกันไม่ได้เป็นอุปสรรค สิ่งสำคัญคือ การเคารพและให้เกียรติกัน
มันเป็นแบบนี้นี่เอง
หลังจากเวิร์คชอปวันนั้น เราก็ห้วนคิดถึงบทสนทนาเรื่องการสื่อสารในมื้อกลางวัน คุณคิดว่าเพื่อนร่วมทีมของเราที่กังวลเรื่อง แชทห้วน เป็นชาวอะไรกันคะ?
คำตอบคือ S และ I สองกลุ่มที่เป็นสาย People-focus ให้ความสำคัญกับความรู้สึกในการทำงาน ไม่แปลกใจเลยที่พวกเขาต้องการการสื่อสารที่เป็นมิตร
ส่วนเราเป็น C ซึ่งเป็น Task-focus มักมองข้ามเรื่องความรู้สึกโดยไม่รู้ตัว
เมื่อรู้ว่าเพื่อนร่วมทีมส่วนใหญ่สนใจบรรยากาศการทำงานที่ดีมากกว่าตัวเลข เราก็ต้องปรับวิธีนำเสนอข้อมูล โดยยังคงใช้ตัวเลขซึ่งเป็นจุดแข็งของเรามาอธิบาย แต่ลดรายละเอียดลง เพิ่มอารมณ์ความตื่นเต้นมากขึ้น เพื่อคนอื่นสนใจและเข้าใจตัวเลขเหล่านี้ง่ายขึ้น
อีกหนึ่งการปรับตัวเล็กๆ น้อยๆ ของเราคือ สื่อสารเป็นมิตรขึ้น โดยเติมอิโมจิหน้ายิ้ม เปลี่ยนคำทักทายห้วนๆ จาก “Hi” เป็น “Happy Monday :)” ถามไถ่ว่าเป็นยังไงบ้างก่อนเข้าเรื่องงาน แค่นี้ก็ทำให้บรรยากาศในแชทดูผ่อนคลาย และคุยงานได้ลื่นไหลขึ้นกับชาว S และ I
คุณเลือกบุคลิกภาพที่แสดงออกได้
อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจจากเวิร์กชอปคือ พี่วิทยากรที่เป็นคนสนุกสนานและเป็นกันเอง ให้พวกเราลองทายกันว่า เขาเป็นคนประเภทไหน
ทุกคนเดาว่าคงไม่หนีพ้น People-focus อย่าง I หรือ S
แต่กลายเป็นว่าเขาเป็นชาว D ตามตำรา สนใจงานมากกว่าคน แต่เลือกแสดงออกแบบชาว I เพราะมันช่วยให้งานที่ต้องพบเจอกับคนเยอะๆ ของเขาสำเร็จง่ายขึ้น
ดังนั้นคุณสามารถเลือกบุคลิกภาพที่แสดงออกตามสถานการณ์และคนรอบข้างได้ ไม่ต้องยึดติดกับบุคลิกภาพตามธรรมชาติของตัวเอง
สุดท้ายนี้ DISC ไม่ได้มีไว้ให้ ติดป้าย คนอื่น และไม่ได้บังคับให้คุณเปลี่ยนตัวเองให้ถูกใจทุกคน แต่มีเพื่อให้เราเข้าใจกันและทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นขึ้นค่ะ