#ReadersGarden เล่มที่ 38
ขอเริ่มต้นปีด้วยหนังสือที่เต็มไปด้วยพลังอย่าง Do Cool Sh*t (ฉันนี่แหละคนบ้าแห่งธุรกิจ) หรือถ้าแปลตรงตัวคือ ‘ทำเรื่องเจ๋งๆ’ ซึ่งสมกับชื่อหนังสือ เพราะมิกิ อกราวัล (Miki Agrawal) ผู้เขียนเป็นคนที่บ้าบิ่นและใช้ชีวิตได้เจ๋งจริงๆ
นี่เป็นหนังสือธุรกิจที่เต็มไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์ ฉีกตำราการทำธุรกิจแบบทั่วไป ทำการตลาดแบบกองโจร มีการพลิกแพลงซิกแซก และปรับตัวตามสถานการณ์ตลอดเวลา
เราจะได้พบกับเส้นทางการก่อตั้งธุรกิจที่เริ่มต้นจากศูนย์ของหญิงสาววัย 26 ปี ไม่มีเงินลงทุน ไม่มีประสบการณ์ แต่เธอมักรายล้อมด้วยเพื่อนฝูงอยู่เสมอ ผูกมิตรกับคนแปลกหน้าได้อย่างรวดเร็ว และมีความกล้าบ้าบิ่นที่จะไขว้คว้าเป้าหมาย จนประสบความสำเร็จตามที่ฝัน
ก่อนอื่นมาดูประวัติอันโดดเด่นของผู้เขียนของเรากัน
มิกิเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-อินเดีย เติบโตในแคนาดา เรียนจบจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลในเครือ Ivy League ของสหรัฐอเมริกา ระหว่างเรียนได้ไปฝึกงานที่อังกฤษ การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่หลากวัฒนธรรมและเดินทางบ่อยๆ ทำให้เธอเป็นคนที่เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่าย พูดได้หลายภาษา และชอบผูกมิตรใหม่ๆ ในทุกที่ที่ไป
สำหรับเส้นทางอาชีพ มิกิเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่ 11 ขวบ อยู่ทีมเยาวชนทีมชาติ เป็นนักฟุตบอลของมหาวิทยาลัย และยังเล่นฟุตบอลให้กับสมาคมฟุตบอลหญิงแห่งนิวยอร์กควบคู่ไปกับการทำงานเป็นพนักงานธนาคาร ต่อมาเธอได้ทำงานสายโปรดิวเซอร์ในแวดวงภาพยนตร์ตามที่ฝัน จนกระทั่งมาก่อตั้งธุรกิจร้านพิซซ่าสายสุขภาพตอนอายุ 26 ปี
ปัจจุบันเธอก่อตั้งบริษัท 3 แห่ง มูลค่ารวมกันมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์ ร้านพิซซ่า และชุดชั้นใน รวมถึงเคยคว้ารางวัลนักธุรกิจที่สร้างสรรค์ที่สุดแห่งปี
No Excuses ไม่มีข้อแก้ตัวสำหรับความฝัน
สิ่งที่ประทับใจคือ มิกิไม่เคยมีข้ออ้าง เธอมักหาวิธีสร้างสรรค์ในการคว้าสิ่งที่ต้องการมาได้เสมอ
เช่น การขอโอกาสจากพ่อแม่เพื่อไปฝึกงานในต่างประเทศเป็นเรื่องยากมาก สิ่งที่มิกิทำเพื่อเกลี่ยกล่อมพ่อแม่คือ ทำสไลด์นำเสนอเพื่อขายแนวคิด โดยระบุข้อมูลดังนี้
- สิ่งที่อยากทำ
- เหตุผลที่อยากทำ 3-5 ข้อ
- ประโยชน์ 3-5 ข้อที่คุณและอีกฝ่ายจะได้รับจากการลงทุนในครั้งนี้
อีกสถานการณ์คือ ตอนที่มิกิทำงานเป็นพนักงานธนาคาร เธอยังไม่ละทิ้งความฝันในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เธอจึงเข้าร่วมกับคัดตัวของสมาคมฟุตบอลหญิงแห่งนิวยอร์ก แต่อุปสรรคคือ ช่วงเวลาคัดตัวคาบเกี่ยวกับเวลาทำงาน และกระบวนการคัดตัวกินเวลา 2 วันต่อสัปดาห์ ยาวต่อเนื่อง 2 เดือน หมายความว่า มิกจำเป็นต้องหายตัวไปก่อนเลิกงานเป็นเวลา 16 วัน ถึงจะเข้าร่วมการคัดตัวครั้งนี้ได้
สิ่งที่มิกิทำคือ เปิดใจคุยกับหัวหน้า เล่าความฝันให้ฟัง บอกว่ามันสำคัญกับเธอมากแค่ไหน รวมถึงระบุสิ่งที่ต้องการและวิธีแก้ไขคือ เธอขอออกจากงานก่อนเวลา และสัญญาว่าจะกลับมาทำงานต่อจนครบตามชั่วโมงหลังจากคัดตัวเสร็จ
สุดท้ายมิกิก็ผ่านการคัดตัวและได้เป็นนักกีฬาตัวจริง เธอยังรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับหัวหน้าได้ หลังคัดตัวเสร็จตอนสามทุ่ม เธอกลับมาทำงานต่อจนถึงตีสองไม่เคยขาดและยังรักษาคุณภาพงานไว้ได้
พาร์ทต่อไปขอสรุปวิธีการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจสุดเจ๋งแบบฉบับของมิกิ อกราวัลค่ะ
ซื้อหนังสือฉันนี่แหละคนบ้าแห่งโลกธุรกิจ : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
1. แยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อผูกมิตร
หากคุณต้องการผูกมิตรใหม่ มีหลักการเพียง 2 ข้อดังนี้
✦ กล้าที่จะแยกตัวออกจากกลุ่ม : หากคุณอยู่แต่ในกลุ่มเพื่อน คุณอาจจะพลาดโอกาสทำความรู้จักคนใหม่ๆ เพราะมัวแต่สนใจเพื่อนของคุณ อีกอย่างลองนึกดูว่าหากคุณต้องการทำความรู้จักใครสักคน ระหว่างคนที่รายล้อมด้วยกลุ่มเพื่อนตลอดเวลากับคนที่ยืนอยู่คนเดียว การเข้าหาคนที่อยู่คนเดียวอาจจะเริ่มการสนทนาได้ง่ายกว่า เคล็ดลับเพิ่มเติมคือ
- จงแต่งตัวให้ดูดีและสะดุดตา : สำหรับคนแปลกหน้า คุณยังไม่รู้จักนิสัยใจคอของกันและกันดีพอ ดังนั้นภาพลักษณ์ภายนอกจึงสำคัญมาก
- ยิ้มแย้มอยู่เสมอ : ดั่งคำพูดอันโด่งดังของซุปเปอร์สตาร์สาวสวยแห่งยุค 50s Marilyn Monroe ที่ว่า “A smile is the best makeup a girl could wear” ลองนึกว่าระหว่างคนหน้านิ่วหรือหน้านิ่ง กับคนที่ยิ้มแย้มดูให้พลังบวก คุณรู้สึกสบายใจที่จะเข้าหาคนแบบไหนมากกว่ากัน
✦ อย่าแค่สร้างเครือข่าย แต่ให้สานสัมพันธ์ :
- การสร้างเครือข่าย คือ การแนะนำตัว คุยสัพเพเหระอย่างคุณชื่ออะไร ทำงานที่ไหน ยื่นนามบัตรแล้วจบ เน้นเพิ่มจำนวนรายชื่อ แต่ไม่ได้รู้จักอีกฝ่ายเพียงพอ
- การสานสัมพันธ์ คือ การใช้เวลาทำความรู้จักกับอีกฝ่าย ตั้งคำถามให้ตรงจุดเฉพาะบุคคล แล้วตั้งใจฟังอย่างใส่ใจ เน้นคำถามปลายเปิด เช่น คุณตื่นเต้นกับเรื่องไหนมากที่สุด, ความฝันของคุณคืออะไร ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพย่อมใช้เวลา และมีประโยชน์ต่อกันมากกว่าสร้างเครือข่ายเพียงผิวเผิน
นอกจากนี้ มิกิยังใช้ระบบ BET เพื่อจัดการกับความสัมพันธ์ ซึ่งย่อมาจาก
- Bullet (ระบุออกมาเป็นข้อๆ) : ระบุสิ่งที่คุณตั้งใจจะทำ, รายชื่อคนรู้จัก, และความสัมพันธ์ โดยแยกรายชื่อระหว่าง ‘คนที่ให้พลังงาน/สร้างแรงบันดาลใจ’ และ ‘คนที่ดูดพลังงาน’
- Eliminate (กำจัด) : กำจัดความสัมพันธ์ย่ำแย่ ไม่จำเป็นต้องเลิกคบคนที่ดูดพลังงาน เพียงแต่ใส่ใจน้อยลง และเอาพลังงานมาทะนุถนอมความสัมพันธ์ที่ดีแทน
- Take on (ลงมือทำ) : ทำกิจกรรมใหม่ๆ หรือพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสิ่งที่คุณต้องการในชีวิต เช่น เข้าร่วมงานสัมมนา, อีเวนท์, ร่วมกลุ่มคอมมูนิตี้ออนไลน์ เป็นต้น
ตัวอย่างวิธีผูกมิตรของมิกิ
- ตอนที่มิกิไปคัดตัวฟุตบอล เธอได้พบกับหัวหน้าโค้ชชาวอิตาลีซึ่งเป็นกรรมการคัดเลือกเป็นครั้งแรก เธอเดินเข้าไปทักทายเขาด้วยภาษาอิตาลีพร้อมรอยยิ้มว่า “ฉันชื่อมิกิ คุณล่ะชื่ออะไร ฉันชอบหนุ่มอิตาลีนะ” ประโยคนี้ทำให้โค้ชหัวเราะ นั่นเปิดโอกาสให้มิกิได้เล่าถึงจุดเด่นในฐานะนักฟุตบอลของตัวเอง เมื่อจบการคัดเลือกรอบแรก ท่ามกลางผู้สมัครนับร้อย โค้ชเรียกชื่อเธอเป็นคนแรกทันทีเพราะเขาจำเธอได้
บางครั้งการมีฝีมืออย่างเดียวก็ไม่พอ ควรหาวิธีทำตัวเองให้โดดเด่นด้วย เพราะเรารายล้อมด้วยคนเก่งและมุ่งมั่นมากมาย
ทิป: มิกิมักฝึกประโยคพื้นฐานของภาษาต่างๆ ไว้ โดยเฉพาะแพทเทิร์น “ฉันชื่อมิกิ คุณล่ะชื่ออะไร ฉันชอบหนุ่ม[ชื่อประเทศ]นะ” การพยายามพูดภาษาเดียวกับพวกเขาทำให้ผู้คนเปิดใจง่ายขึ้น ส่วนประโยคจีบหนุ่มท้ายสุดมักทำให้คนหลุดขำ เมื่อมีเสียงหัวเราะ ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
- ตอนมิกิไปฝึกงานที่อังกฤษ ตอนไปถึงใหม่ๆ ไกด์ทัวร์พาทุกคนในโครงการแลกเปลี่ยนปั่นจักรยานชมเมือง ระหว่างที่พวกเขากำลังปั่นจักรยานผ่านไฮด์พาร์ก ก็พบหนุ่มๆ กลุ่มหนึ่งที่กำลังเล่นฟุตบอล เธอรู้ทันทีว่านี่คือโอกาสที่เธอจะได้เพื่อนใหม่และได้เล่นฟุตบอลระหว่างฝึกงานที่นี่
เธอแยกออกจากกลุ่มและทักทายหนุ่มๆ ว่า “ฉันเพิ่งมาจากนิวยอร์ก และฉันเล่นฟุตบอลที่มหาวิทยาลัยด้วย ฉันอยากจะฝึกซ้อมระหว่างอยู่ที่นี่ เลยสงสัยว่าจะขอเบอร์พวกคุณได้มั้ย พวกเราจะได้เล่นฟุตบอลด้วยกัน” หนุ่มคนหนึ่งยอมให้เบอร์ไว้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาไม่กี่นาที ก่อนมิกิจะรีบปั่นจักรยานตามกลุ่มให้ทัน
คืนนั้นมิกิเป็นฝ่ายโทรไปนัดพวกเขาออกมาดื่มเพื่อพูดคุย เธอรู้สึกได้ว่าพวกเขาลังเลแต่ก็ยอมออกมา พวกเขายอมรับว่าสงสัยเธอมาก คิดว่าเธออาจจะถูกใครท้าให้ทำแบบนั้นหรือเปล่า ท้ายที่สุดพวกเขาก็กลายเป็นเพื่อนกัน เธอได้เล่นฟุตบอลและได้ไปเที่ยวช่วงวันหยุดกับพวกเขาตลอดทริปฝึกงาน
อย่าเขินที่จะเป็นฝ่ายเข้าหาก่อน และอย่ากลัวที่จะรู้สึกเสียหน้าเลย เพราะคุณจะต้องเจอสถานการณ์นั้นแน่นอน! ไม่ใช่ว่าการผูกมิตรของมิกิจะได้ผลเสมอไป บางครั้งเธอก็เจอคนที่เดินหนี คนที่ไม่อยากคุย หรือแม้แต่หยาบคายกลับ การเจอเรื่องแบบนี้ครั้งแรกๆ ทำให้เราใจฟ่อ เสียเซลฟ์ มันเป็นเรื่องปกติ
แต่จากประสบการณ์ของเธอ โลกนี้มีคนแปลกหน้าใจดีมากกว่าใจร้าย มีคนมากมายที่ยินดีผูกมิตรใหม่ และให้ความช่วยเหลือ ถ้าเราเข้าคนอื่นด้วรอยยิ้มและความจริงใจ พวกเขาส่วนใหญ่ก็จะตอบรับด้วยรอยยิ้มและความจริงใจเช่นกัน
2. ลงมือสร้างชีวิตและเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมของตัวเอง
คุณปั้นโลกของคุณให้เป็นแบบไหนก็ได้ตามที่อยาก และโลกนั้นสามารถกลายเป็นจริงได้ทุกวันด้วยการลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ แทนที่จะมัวผัดวันประกันพรุ่ง
✦ ขั้นตอนที่ 1 เล่าเป้าหมาย ความฝัน หรือความหลงใหลของคุณให้คนอื่นฟัง : ใช้แรงกดดันจากเพื่อนๆ มาเป็นแรงผลักดัน คนที่ใส่ใจคุณจะคอยสนับสนุนและให้กำลังใจ
ตอนที่มิกิเริ่มต้นธุรกิจ เธอไม่มีเงินทุนและยังต้องจ่ายหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาอยู่เลย แต่จุดเด่นของเธอคือ เธอรวยเพื่อน อย่างที่กล่าวไปในข้อก่อนหน้าว่าเธอผูกมิตรเก่งมาก จึงรู้จักเพื่อนในหลากหลายวงการ
เธอลิสต์รายชื่อเพื่อนที่น่าจะช่วยเธอได้ เล่าเป้าหมายให้พวกเขาฟัง การใช้เวลาคุยกับแต่ละคนไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงทำให้เธอได้รับความช่วยเหลือทั้งจากเพื่อน เพื่อนของเพื่อน เพื่อนของพี่ แม้แต่เพื่อนของเพื่อนของพี่ บางครั้งเพื่อนของคุณอาจช่วยเหลือโดยตรงไม่ได้ แต่เขาอาจแนะนำคนที่ช่วยเหลือคุณได้
จงอย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือ ตอบแทนด้วยกำลังที่มี และโน้มน้าวอีกฝ่ายด้วยผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น
- เลี้ยงข้าวกลางวันระหว่างคุยเพื่อขอคำปรึกษา
- แบรนด์ เว็บไซต์ และการออกแบบร้านของมิกิได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ทั้งหมด โดยเธอจ่ายเป็นหุ้น, บางคนทำให้ฟรี แค่ต้องการผลงานไปลงพอร์ตฟอลิโอ, หรือบางคนมาช่วยเพราะต้องการมีส่วนร่วมกับสิ่งใหม่ๆ
- ตอนที่เธอต้องการไอเดียธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เธอใช้วิธีจัดงานพบปะพูดคุยแบบ Exclusive เฉพาะคนที่ได้รับเลือกเท่านั้น วิธีนี้ทำให้มิกิได้ชื่อแบรนด์, ทิศทางของแบรนด์ และไอเดียมากมาย โดยจ่ายแค่ค่าอาหารเลี้ยงพวกเขา ส่วนสถานที่ก็มีเพื่อนเต็มใจให้ยืม โดยแลกกับให้เขาเข้าร่วมงานนี้ด้วย ผู้เชี่ยวชาญที่มารวมกันไม่ได้ต้องการค่าตอบแทนเป็นเงิน พวกเขาแค่อยากมาสานสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนไอเดีย และใช้ความรู้ของตัวเองสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น
✦ ขั้นตอนที่ 2 วางแผน 3-W :
- What : ‘อะไร’ คือสิ่งที่คุณพยายามทำให้สำเร็จ ยิ่งเป้าหมายชัดเจนมากเท่าไหร่ยิ่งดี
- Who : ‘ใคร’ คือคนที่คุณจะขอความช่วยเหลือเพื่อทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ
- When : ‘เมื่อไหร่’ ที่คุณจะทำให้สำเร็จ จงกำหนดเส้นตายสั้นๆ เพราะยิ่งเส้นตายยาวเท่าไหร่ อัตราความสำเร็จยิ่งน้อยลง ถ้าเป็นเป้าหมายระยะยาว ให้กำหนดเป้าหมายประจำสัปดาห์ คอยเช็คกระบวนการอย่างสม่ำเสมอ จงมีระเบียบวินัย มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าคุณจะทำแบบครึ่งๆ กลางๆ แล้วต้องคอยกลับมาเริ่มต้นจากศูนย์อยู่เรื่อยๆ
3. รู้จักตัวเอง สิ่งที่ถนัด vs สิ่งที่หลงใหล
แบบทดสอบ I-EX (internal examination) หรือการตรวจสอบตัวเองเป็นเหมือนเข็มทิศชี้ทางให้กับคุณได้ โดยเฉพาะเวลาที่คุณไม่รู้ว่าจะเลือกเส้นทางไหนดี เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถาม 2 ข้อ
✦ 1. อะไรคือสิ่งที่ฉันถนัดจริงๆ (Skills) : ควรมีหลักฐานหรือผลงานพิสูจน์ให้เห็นว่าคนอื่นคิดแบบเดียวกับคุณ
- อะไรคือปัญหาร้ายแรงที่สุดที่ฉันเคยแก้ไข
- คุณเคยทำให้ลูกค้าที่กำลังหัวเสียรู้สึกดีขึ้นหรือไม่
- เคยจัดการกับข้อบกพร่องในงานให้ดีขึ้นหรือไม่
- เคยปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม
- ใช้ไหวพริบแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง
- ฉันให้ความช่วยเหลือทีมหรือบริษัทอย่างไรบ้าง
- ถนัดเรื่องการเป็นผู้นำของกลุ่มหรือเปล่า
- เป็นคนร่าเริงที่ช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานหรือไม่
- เคยช่วยพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรหรือไม่
- คุณทำให้ผู้อื่นทำตามในสิ่งที่คุณริเริ่มได้หรือเปล่า
- ผลงานที่คุณทำได้ยอดเยี่ยมเป็นพิเศษ
- อะไรคือทักษะที่ฉันมีแต่คนอื่นไม่มี
- เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมเฉพาะทางภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม หรือทักษะที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์หรือไม่
- พูดภาษาอื่นได้อย่างคล่อแคล่วหรือเปล่า
- เป็นช่างภาพฝีมือดีใช่หรือไม่
- เพื่อนๆ มักชมว่าคุณเก่งด้านใด
✦ 2. อะไรคือสิ่งที่ฉันหลงใหล (Passion) :
- สิ่งที่ทำแล้วรู้สึกสนุก เช่น การเขียน ทำงานอาสา ทำอาหาร ประดิษฐ์สิ่งของ
- อะไรคือเรื่องล่าสุดที่ทำแล้วรู้สึกภูมิใจ เช่น ช่วยให้ใครทำอะไรให้สำเร็จ สร้างอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน
- มีชุมชน กลุ่มคน สถานที่ หรือประเด็นบางอย่างที่อยากสนับสนุนหรือเปล่า
- ช่วยเหลือครอบครัวและเพื่อนฝูง ชอบการเล่าเรื่อง ชอบเรื่องสิทธิมนุษยชน ชื่นชอบประเด็นเรื่องการศึกษา
การรู้จัก Passion และ Skills ของตัวเองจะช่วยให้เราขายจุดเด่นของตัวเองได้ง่ายขึ้น นึกถึงเวลากรอกใบสมัครแล้วมีช่องความสามารถพิเศษ เราต้องใช้เวลาคิดหัวแทบแตกว่าควรจะกรอกอะไรลงไปดี
เช่นเดียวกับประโยคแนะนำตัว ถ้าไม่เตรียมไว้ก่อน เราอาจนึกไม่ออกว่าจะแนะนำตัวอย่างไรให้พิเศษ หากยังนึกไม่ออก แนะนำให้ดูประโยคแนะนำตัวของตัวละครในอนิเมะหรือหนัง หรือวิธีแนะนำตัวของไอดอล ซึ่งมักจะมีประโยคเด็ดๆ ที่น่าสนใจเอาไปปรับใช้ได้ค่ะ
ตัวอย่างความถนัดและสิ่งที่หลงใหลของมิกิ
- ความถนัดส่วนตัว : กีฬา การออกกำลังกาย การสื่อสารกับผู้คน เดินทางไปได้ทุกที่(เพราะพูดได้หลายภาษา) ผูกมิตรได้รวดเร็ว การเขียน
- ความถนัดเริ่องงาน : การตลาด การพัฒนาธุรกิจ การเขียน การจัดการ และภาษา
- สิ่งที่หลงใหล : ฟุตบอล สร้างภาพยนตร์ ทำธุรกิจ
- ทั้งหมดนี้กลายมาเป็นเส้นทางอาชีพของมิกิ โดยเธอเริ่มจากเป็นนักฟุตบอล > โปรดิวเซอร์ในวงการภาพยนตร์ > ก่อตั้งธุรกิจร้านพิซซ่าสายสุขภาพ
เราสามารถค้นพบโอกาสในการใช้ประโยชน์จากทักษะและความหลงใหลที่มี โดยเลือกจากวิธี PIE ย่อมาจาก
✦ 1. Philanthropic (การเป็นคนใจบุญ) :
- ใช้ทักษะและความหลงใหลที่มีไปช่วยองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร นี่เป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ทางองค์กรได้คุณไปช่วยงาน ทางคุณได้ลับฝีมือในสภาพแวดล้อมที่ต้องการ ได้เก็บผลงาน ได้ประสบการณ์ทำงานและได้ช่วยเหลือผู้อื่น
- เหมาะสำหรับคนที่ขาดประสบการณ์และเป็นคนระมัดระวัง ไม่ชอบความเสี่ยง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสู่การก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ
✦ 2. Intrapreneurial (การเป็นลูกจ้าง) :
- ควรเลือกบริษัทที่เปิดกว้างให้พนักงานสร้างสรรค์คิดค้นสิ่งแปลกใหม่ คุณสามารถปลดปล่อยความคิดอย่างอิสระ สร้างสรรค์ไอเดียแปลกใหม่ให้บริษัท โดยไม่ต้องเสี่ยงลงทุนหรือตั้งบริษัทเอง
✦ 3. Entrepreneurial (การเป็นผู้ประกอบการ) :
- high risk high return เป็นวิธีที่เสี่ยงที่สุด แต่ผลตอบแทนมักจะสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ
- เหมาะสำหรับคนที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องมาบ้าง หรือถ้าไม่มีประสบการณ์เลยแบบมิกิ ก็ต้องมีความมุ่งมั่นแรงกล้า ยอมรับความล้มเหลวได้ ลุกขึ้นได้ไว และมีจุดเด่นที่มาเสริมประสบการณ์ที่ขาด อย่างมิกิใช้ความสามารถในการผูกมิตรดึงผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือเธอได้
จำไว้ว่าการเลือกของคุณไม่มีถูกไม่มีผิด อย่าเอาบรรทัดฐานของคนอื่นมาตัดสินใจ ให้เลือกวิธีที่เหมาะสมกับบุคลิกและวิธีการทำงานของคุณให้มากที่สุด แล้วเริ่มลงมือทำจากจุดนั้น
4. วิธีสร้างธุรกิจจากศูนย์
ขั้นตอนการเริ่มสร้างธุรกิจร้านพิซซ่า Slice แห่งนิวยอร์กของมิกิ (ปัจจุบันชื่อร้าน Wild) มีดังนี้
- ค้นคว้าทุกอย่างที่ทำได้เกี่ยวกับธุรกิจพิซซ่าและธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ : โดยมิกิได้ข้อมูลส่วนใหญ่จากอาจารย์ Google
- พูดคุยกับคนที่ฉลาดที่สุดที่เรารู้จักในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อขอความคิดเห็นจากพวกเขา : โทรหาเพื่อนแต่ละคน ขอนัดทานข้าวเพื่อพูดคุย หรือหากใครไม่สะดวกก็ขอปรึกษาสั้นๆ ทางโทรศัพท์
- ติดสอยห้อยตามคนที่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่อยากทำ (หรือคล้ายคลึงกัน) : มิกิได้ขอติดตามดูการทำงานเป็นเวลา 1 เดือนของ สามีของเพื่อนของเพื่อนของพี่ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจเครือข่ายร้านอาหารขนาดใหญ่ การติดตามครั้งนี้มีผลต่อการตัดสินใจสร้างแบรนด์ของเธออย่างมาก
- สำรวจความคิดเห็นของผู้คนโดยปราศจากอคติว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการหรือไม่ : ลองสำรวจความคิดเห็นจากเพื่อนรอบตัว, เพื่อนบ้านและคนในชุมชน (ถ้าเป็นธุรกิจท้องถิ่น), ผู้เชี่ยวชาญ หรือทำแบบสำรวจออนไลน์ในคนในโลกอินเตอร์เน็ตทำ (ถ้าเป็นธุรกิจออนไลน์)
ความรู้สึกหลังจากอ่านหนังสือฉันนี่แหละคนบ้าแห่งโลกธุรกิจจบ ซิสกลับมาถามตัวเองว่า ‘นี่ฉันใช้ชีวิตคุ้มแล้วหรือยัง?’ เรื่องราวของมิกิทำให้รู้สึกว่า “ฉันยังทำได้มากกว่านี้อีก!” และยิ่งทำมาก เราอาจจะได้เจอเรื่องสนุกๆ มากขึ้น
ซื้อหนังสือฉันนี่แหละคนบ้าแห่งโลกธุรกิจ : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
มิกิเป็น Hustler ของแท้ และเป็นตัวอย่างของคำว่า Inifinite Possibilities ทุกอย่างเป็นไปได้ ไม่มีข้อแก้ตัว เธอมีเป้าหมาย เธอหาวิธี เธอลงมือทำ และไม่กลัวความผิดพลาด ทำให้ซิสนึกถึงตัวละครเร็นโงคุจาก Demon Slayer หรือเรียวเฮย์จาก Reborn ที่สุดขั้วกับทุกเรื่อง จนทำให้เราอยากใช้ชีวิตให้มันสุดขั้วขึ้นมาบ้าง