#ReadersGarden เล่มที่ 21
“อย่าเสียเวลากับเรื่องเล็กๆ และทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องเล็ก”
เมื่อคุณใช้ชีวิตตามแนวคิดนี้ คุณจะสร้างตัวคุณที่สุขสงบและน่ารักใคร่มากกว่าเดิมขึ้นมา นี้คือคำสอนจากหนังสือเล่มสีฟ้าสดใสราวกับท้องฟ้าเล่มนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่เรียบง่าย แต่ส่งผลดีต่อชีวิตมหาศาล
เชื่อเถอะ! อย่าเยอะเกิน (Don’t Sweat the Small Stuff and It’s All Small Stuff) เป็นหนึ่งในหนังสือขายดีตลอดกาลของ ดร.ริชาร์ด คาร์ลสัน (Richard Carlson, Ph.D.) นักจิตบำบัดและนักเขียนชาวอเมริกา ว่าด้วยแนวคิด 100 ข้อที่จะยกระดับจิตใจของเรา ส่งมอบสุขภาพจิตที่ดี และเผยแพร่ต่อไปยังคนรอบข้างของเราด้วย
ชอบที่หนังสืออ่านง่าย แต่ละข้อยาวเพียง 1-2 หน้า จึงทยอยอ่าน ตกตะกอนความคิดทีละนิดได้ ยังแตกต่างจาก How to ทั่วไป เต็มไปด้วยจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ซึ่งถูกเขียนมาก่อนที่คำนี้จะเป็นที่สนใจเสียอีก ทั้ง 100 แนวคิดล้วนมาจากประสบการณ์บำบัดผู้คนมาหลายสิบปี รวมถึงประสบการณ์ส่วนตัวของดร.คาร์ลสันเอง
แม้จะตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1997 ยุคที่เพจเจอร์ยังรุ่งเรือง ผ่านมาจนยุคโทรศัพท์บ้าน มือถือปุ่มกด มาจนถึงยุคสมาร์ทโฟนแล้ว หนังสือชุด Don’t Sweat the Small Stuff ก็ยังถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่เรื่อยๆ ตราบใดที่ผู้คนยังตามหาความสุข ไม่สิ ยิ่งในโลกยุคดิจิทัลแบบนี้ หลักการคิดในหนังสือยิ่งใช้ได้ดีเลย
ซิสขอแบ่งปัน 7 ข้อที่ชอบที่สุด และลองนำมาใช้ดูแล้วรู้สึกดีจริงๆ มาฝากกันค่ะ
1. ระวังสโนว์บอลของความคิด
ข้อนี้สำหรับชาวคิดมากและชาวฟุ้งซ่าน วันแล้วคืนเล่าของคุณหมดไปกับความคิดที่ไม่มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน
ตัวอย่างของซิสเอง หยิบมือถือขึ้นมาตั้งใจจะหาข้อมูลบางอย่าง แต่ดันไปเห็นแจ้งเตือนโพสต์ที่น่าสนใจเลยคลิกไปอ่าน จากนั้นก็ไปเปิด Pantip เพื่ออ่านความคิดเห็นคนอื่น ว่าแล้วก็เปิด Instagram เช็คอัพเดทเพื่อนฝูงหน่อย ลองดูเทรนด์ทวิตเตอร์หน่อยดีกว่า อ่า ผ่านไปหนึ่งชั่วโมง วางมือถือลง ลุกไปทำอย่างอื่น… หืมมม เหมือนลืมอะไรไป ก็ใช่สิ! เรื่องที่ตั้งใจจะหาข้อมูลตอนแรก ยังไม่ได้หาเลยนี่หว่า! ป๊าดดดด
การปล่อยให้ความคิดไหลไปเรื่อยๆ เป็นเหมือนกับก้อนสโนว์บอล กลิ้งจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่อง ไม่ใช่แค่ตอนท่องโลกออนไลน์ บางครั้งเราก็หมดเวลาไปกับการซักซ้อมในใจ จำลองเหตุการณ์บางอย่างในหัวซ้ำไปซ้ำมา เรียกว่า “การถูกความคิดเข้าโจมตี” ไม่ใช่ว่าไม่ดีเลย แต่ถ้าเราปล่อยความคิดไหลไปเรื่อยๆ ก็จะก่อให้เกิดความเครียด หรือเสียเวลาไปหลายชั่วโมงต่อวัน
วิธีแก้คือ ‘ตั้งสติ’ ทุกครั้งที่รู้ตัวว่าเรากำลังถูกความคิดโจมตี คิดถึงเรื่องที่ยังมาไม่ถึงหรือเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ให้บอกตัวเองว่า “อุ๊ย เอาอีกแล้วนะเรา” หากมีเรื่องอื่นมาดึงความสนใจ ให้จดโน้ตเก็บไว้ก่อน บอกตัวเองว่า “ไว้ค่อยกลับมาดู ฉันต้องทำสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จก่อน”
การฝึกฝนคือทุกอย่าง ช่วงแรกที่ยังไม่ชิน เราอาจจะยังเผลอฟุ้งซ่านเป็นชั่วโมงๆ แต่เมื่อฝึกบ่อยๆ บอกตัวเองบ่อยๆ ว่า “เอาอีกแล้วนะฉัน! โดนเจ้าความคิดโจมตีอีกแล้ว” เราจะเริ่มต้นสติได้เร็วขึ้นค่ะ
2. หยุดผัดผ่อนความสุขไปเรื่อยๆ
น่าเศร้าที่บางคนผัดผ่อนความสุขไปเรื่อยๆ ด้วยคำว่า ‘สักวันหนึ่ง’ อาจเป็นเมื่อฉันมีเงินมากกว่านี้ เมื่อฉันมีพร้อมกว่านี้ เมื่อฉันชำระหนี้สินหมดแล้ว เมื่อฉันมีคนรักที่ดีกว่านี้ เมื่อฉันเก่งมากกว่านี้ จนราวกับว่าสักวันหนึ่งนั้นมาไม่ถึงสักที
ไม่มีเวลาไหนเหมาะที่จะมีความสุขไปมากกว่า ‘ตอนนี้’ อีกแล้ว มีเรื่องมากมายในชีวิตที่น่ายินดี การที่ยังมีเตียงอบอุ่นให้นอน มีคนให้รักและเป็นที่รัก มีงานให้ทำ เป็นประโยชน์กับคนอื่น หรือการได้ทานอาหารอร่อยๆ ปัจจุบันก็คือที่ที่เราอยู่ ที่เราสามารถสร้างและสัมผัสความสุขได้ทันที
ไม่ได้หมายความว่าให้คุณเลิกทะเยอทะยาน หยุดไขว้คว้าความฝัน แต่อยากให้มองว่า อุปสรรคต่างๆ ที่เราต้องดิ้นรนฝ่าฟันไม่ใช่สิ่งขัดขวางความสุข แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อย่างที่ดร.คาร์ลสันว่า “ไม่มีวิธีใดนำชีวิต ไปสู่ ความสุขได้ ความสุข คือ วิธีที่เราใช้ชีวิตต่างหาก”
3. ยอมมีความสุขมากกว่ายึดติดกับการเป็นฝ่ายถูก
การถกเถียงเพราะคิดต่างกันเป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้ามันเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างเคารพ มันจะเป็นการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ทั้งเราและอีกฝ่ายได้
แต่ถ้าถกเถียงโดยยึดติดกับอีโก้ คิดว่าฉันถูก อีกฝ่ายผิด เถียงกันราวกับเอาดาบฟาดฟันใส่กัน พยายามต้อนอีกฝ่ายให้จนมุม มันไม่มีอะไรดีเลยนอกจากหมดพลัง ทิ้งบาดแผลไว้ให้กันและกัน
คุณอาจรู้สึกสะใจในทีแรกที่เถียงชนะคนรัก พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูง แต่เมื่อเวลาผ่านไปคุณยังรู้สึกดีจริงหรอ? เชื่อว่าคงมีหลายคนที่รู้สึกแย่ถึงแม้ว่าตัวเองจะเป็นฝ่ายถูก ถ้าเป็นแบบนั้นแสดงว่าเรื่องที่คุณเถียงกันมันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายจริงๆ และการเป็นฝ่ายถูกก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับการมีความสุข
การที่คุณยอมให้คนอื่นถูก ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นคนผิดนะ รวมถึงคุณไม่จำเป็นต้องเออออคล้อยตามอีกฝ่ายในเรื่องที่คุณไม่ได้เชื่อแบบนั้นจริงๆ เพียงแต่เมื่อคุณเริ่มเห็นว่าการถกเถียงเริ่มถึงจุดที่มีแต่เสีย เสียพลังงาน เสียเวลา เสียความรู้สึก และไม่ไ้ด้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ลองสัมผัสความสุขสงบจากการปล่อยวางแทนการเป็นผู้ชนะดูบ้าง
ซื้อหนังสือ Don’t Sweat the Small Stuff : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
4. รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง
ไม่มีใครมีความสุขได้ตลอดเวลาหรอก แม้แต่คนที่ดูอารมณ์ดีมีความสุขอยู่ตลอด ก็เจอช่วงเวลายากลำบากเหมือนกัน เพียงแต่คนที่รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองจะไม่ปล่อยให้ตัวเองหลงไปกับอารมณ์ด้านลบ
เช่น ในตอนเช้าที่คุณตื่นมาอย่างอารมณ์ดี คุณจะมองว่าชีวิตของคุณนั้นยอดเยี่ยม มีงานที่ดี แฟนที่น่ารัก บ้านแสนอบอุ่น ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน แต่พอตกบ่าย คุณไปเจอเรื่องแย่ๆ ที่ทำให้อารมณ์เสีย คุณกลับมองว่างานก็แย่ แฟนก็น่ารำคาญ บ้านก็อยู่แล้วไม่สบายใจ ชีวิตมันเฮงซวยอะไรแบบนี้
ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความรู้สึกและมุมมองในตอนนั้น ความจริงแล้ว ชีวิตแทบไม่เคยแย่อย่างที่คุณคิดเวลาที่จิตตกอยู่ เมื่อรู้สึกหดหู่ ให้เตือนตัวเองว่า “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” ลองนึกถึงชีวิตที่ผ่านมาก็ได้ เชื่อว่าคุณคงเจอเรื่องทุกข์และสุขปะปนกันไป ดังนั้น “จงปีติเมื่อรู้สึกดี และไม่ลนลานเมื่อรู้สึกแย่”
5. มองเห็นความพิเศษในความธรรมดา
คนสองคนถูกถามคำถามเดียวกัน เราอาจได้คำตอบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เหมือนเรื่องของนักข่าวที่สัมภาษณ์กรรมกรสองคนว่า “คุณกำลังทำอะไรอยู่ครับ?” คนแรกบ่นให้นักข่าวฟังว่าเขาเป็นทาสตัวจริง ค่าแรงต่ำเตี้ยเรี่ยดิน งานทั้งเหนื่อยและน่าเบื่อ
ในขณะที่กรรมกรคนที่สองตอบว่า “ผมเป็นคนที่โชคดี ได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมที่งดงาม ได้เปลี่ยนก้อนอิฐธรรมดาๆ ให้กลายเป็นผลงานที่งดงามและสถานที่ใช้สอย”
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เราเห็นชีวิตในแบบที่เราอยากจะเห็น เมื่อคุณคิดว่าชีวิตนั้นล้ำค่าและพิเศษ คุณก็จะมองเห็นความพิเศษในสิ่งที่อยู่รอบตัว แต่ถ้าคุณคิดว่าชีวิตนั้นน่าเบื่อ เป็นเรื่องยาก ทำไม่ได้ มันก็จะเป็นแบบนั้นจริงๆ
6. สุ่มส่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
วิธีหนึ่งที่ทำให้เราพบกับความสุขสงบคือ การส่งความห่วงใยและช่วยเหลือกันโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
อย่างวันใดที่ซิสเจอคนที่อ่อนโยนด้วย เช่น เปิดประตูให้, กดลิฟต์ให้, แบ่งขนมให้ ซิสก็อยากจะส่งต่อความอ่อนโยนไปให้คนอื่นเช่นกัน เหมือนหยดน้ำเล็กๆ ที่กระทบผิวน้ำแล้วก่อให้เกิดคลื่นเป็นวงกว้าง
ความเกื้อกูลกันอาจอยู่ในรูปแบบเงิน, สิ่งของ, พลังกาย, คำพูด, ความรู้ หรือเวลา คุณสามารถสร้างรูปแบบความช่วยเหลือในแบบตัวเองได้ อย่างสมัยเด็ก ซิสชอบคิดว่า ไว้รอให้ตัวเองมีรายได้และเวลาก่อน แล้วจะไปออกค่ายอาสา บริจาคสิ่งของ มัวรอจนไม่ได้ทำ จนลืมไปว่าความช่วยเหลือกันไม่จำเป็นต้องยุ่งยาก
เช่น การขอบคุณและให้ทิปพนักงานส่งอาหารที่อุตส่าห์รออาหารนานแสนนานแทนเรา แทนที่จะคิดว่าทำไมมาส่งช้าจัง, เก็บขยะแถวบ้านให้ละแวกบ้านดูสะอาดน่าอยู่, แบ่งอาหารให้สัตว์จรจัดที่หิวโหย, กล่าวคำชมจากใจกับคนที่ใจดี, เป็นที่ปรึกษาเรื่องงานให้กับเพื่อนๆ นอกเวลางาน, ส่งอีเมลขอบคุณไปหานักเขียนหนังสือที่เราชื่นชอบ หรือแม้แต่การคอมเมนท์ขอบคุณคนที่ทำคอนเทนต์ดีๆ ในโลกออนไลน์ ทั้งหมดนี้เป็นการสุ่มส่งต่อความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในแบบของซิส
ช่วงแรกอาจจะยากหรือขัดเขินหน่อย แต่เมื่อเราทำบ่อยจนเคยชินแล้ว มันจะกลายเป็นนิสัย แทบไม่ต้องใช้ความพยายามเลย เป็นการกระทำเล็กๆ ที่ส่งผลดีมหาศาลทั้งกับตัวเราและคนรอบข้าง
7. อีก 100 ปีข้างหน้าทุกคนก็ตายกันหมดแล้ว
ซิสเคยได้ยินประโยคเปลี่ยนชีวิตนี้ครั้งแรกสมัยมัธยมปลายจากเพลง Spinal Fluid Explosion Girl เพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์โยกหัวหลุดของ Vocaloid ตอนนั้นซิสทั้งขี้อาย คิดมาก กังวลกับความคิดเห็นคนรอบข้างจนไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่กลายเป็นว่าประโยคสั้นๆ นี้เปลี่ยนมุมมองและการใช้ชีวิตของซิสไปเลย
“เอาล่ะ มาเต้นกันให้เป็นบ้าไปเลยดีกว่า ยังไงซะ อีก 100 ปีข้างหน้า ทุกคนก็ต้องตายกันหมดแล้ว”
– เพลง 脳漿炸裂ガール「Spinal Fluid Explosion Girl」
ถ้อยคำเรียบง่าย แต่ทำให้คิดได้ว่า ‘นั้นสิ! จะมามัวเขินอาย เสียเวลาไปกับเรื่องเล็กๆ ทำไม’ หนึ่งศตวรรษนั้นสั้นจะตาย เมื่อเทียบกับ ค.ศ. ที่ผ่านมากว่าสองพันปีแล้วและยังไม่รวมระยะเวลาของอารยธรรมโบราณก่อนหน้านั้นอีก
ซื้อหนังสือ Don’t Sweat the Small Stuff : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
ชีวิตมันสั้น อยากทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตราบใดที่มันไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เป็นตัวของตัวเองแล้วสนุกกับชีวิตซะ
“The greatest discovery of my generation is that a human being can alter his life by altering his attitudes. – การค้นพบยิ่งใหญ่ที่สุดในชั่วอายุของข้าพเจ้าคือ มนุษย์เปลี่ยนแปลงชีวิตได้ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติของตน”
– William James, บิดาแห่งลัทธิปฏิบัตินิยมและจิตวิทยาของอเมริกา