#TheatreClub เรื่องที่ 37
“สงครามไม่ได้ชนะด้วยการอพยพ” แต่บางครั้งการล่าถอยก็เป็นเรื่องที่สมควรทำเหมือนดังเช่น สมรภูมิดันเคิร์ก (Dunkirk) ในปี 1940 สมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่เกิดเรื่องน่าประทับใจ เมื่อกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรประกอบด้วยพลทหารอังกฤษและฝรั่งเศสรวมกว่าสี่แสนนาย ถูกปิดล้อมอยู่ที่ชายหาดดันเคิร์กทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ด้านหน้าและรอบข้างโอบล้อมโดยกองทัพเยอรมัน ส่วนด้านหลังก็เป็นทะเลที่มีเครื่องบินรบศัตรูบินอยู่เหนือน่านน้ำ
พวกเขาต้องทำการอพยพทหารฝ่ายสัมพันธมิตรจากชายหาดดันเคิร์กขึ้นเรือรบข้ามฟากไปยังเกาะอังกฤษอย่างปลอดภัย โดยมีเวลามีเพียง 2 วันเท่านั้นก่อนที่กองทัพเยอรมันจะบุกมาถึง ด้วยเวลาจำกัด ทีแรกพวกเขาคาดการณ์กันว่าจะสามารถอพยพทหารได้สำเร็จเพียง 45,000 นาย แต่ความจริงแล้วพวกเขาสามารถอพยพได้สำเร็จถึง 338,226 นาย มากกว่าที่คาดการณ์ตอนแรกถึง 7.5 เท่า!
Dunkirk (2017) ไม่ใช่หนังฮีโร่สงครามที่ทำให้เราซาบซึ้งในความสละจนเสียน้ำตาเหมือน Hacksaw Ridge (2016) หรือแอคชั่นมันส์เละเทะแบบ Black Hawk Down (2001) แต่ผู้กำกับแห่งยุคอย่าง Christopher Nolan (ผู้กำกับ Inception, Interstellar และหนังดังอีกมากมาย) นำเสนอหนังสงครามที่ให้ความรู้สึกสมจริงตรงที่นำเสนอผ่านมุมมองของนายทหารทั่วไปที่พวกเราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนในประวัติศาสตร์ และชาวบ้านธรรมดาๆ
เราชอบที่โนแลนไม่ได้ปูพื้นหลังของนายทหารแต่ละคนเลย ไม่มีแฟลชแบ็คว่าพวกเขามีครอบครัวหรือคนรักรออยู่ไหม มีความฝันที่อยากทำหรือเปล่า แต่ยังทำให้เราลุ้นเอาใจช่วยอยากให้ทุกคนรอดไปให้ได้ เพราะสิ่งที่เราสัมผัสได้จากนายทหารที่ติดอยู่ที่หาดดันเคิร์กคือความหวาดกลัว ดิ้นรน หนีตายและยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้กลับบ้าน บางคนยอมเหนื่อยวิ่งแบกคนเจ็บฝ่าระเบิดเพื่อหวังแทรกคิวให้ตัวเองได้ขึ้นเรือไปด้วย หวาดระแวงทุกครั้งที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายศัตรูบินมา ไม่มีทางรู้เลยว่าระเบิดจะตกไปโดนส่วนไหนของหาด อยู่ผิดที่เพียงเซนติเมตรเดียวก็ไปเฝ้ายมบาลเลย
“เมื่อทหารไม่อาจกลับบ้าน บ้านจึงมาหาพวกเขา” คือทุกอย่างของหนัง เมื่อมีนายทหารที่ต้องอพยพเยอะเกินไป มีเรือรบสำหรับอพยพน้อยเกินไป ดังนั้นพลเรือนจึงได้ออกเรือมาร่วมด้วยช่วยอพยพเหล่าทหาร ทั้งเรือประมง เรือยอร์ชท่องเที่ยว รวมถึงเรือพักผ่อนส่วนตัว
เรือลำเล็กของพลเรือนเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การอพยพสำเร็จและช่วยชีวิตนายทหารได้มากกว่าที่คาดไว้ เพราะเรืออพยพจากฝั่งทหารเป็นเรือพิฆาตลำใหญ่ จอดชิดชายหาดไม่ได้ ในขณะที่เรือของชาวบ้านเป็นเรือลำเล็ก สามารถจอดใกล้ชายหาดโดยไม่เกยตื้น จึงทำให้การอพยพรวดเร็วมากขึ้น
เมื่อเหล่าทหารเข้าเขตปลอดภัยในเกาะอังกฤษ แทนที่จะดีใจที่รอดชีวิต พวกเขาต่างเดินคอตกผิดหวังที่เป็นผู้แพ้ในศึกนั้น หนีตายอย่างคนขี้ขาด ณ ชานชาลารถไฟที่รอส่งทหารกลับบ้าน ชายชราคนหนึ่งยืนแจกผ้าห่มให้เหล่าทหารผ่านศึก พร้อมกล่าวชื่นชมว่า “ทำได้ยอดเยี่ยมมาก”
อเล็กซ์ทหารผ่านศึกมาดๆ กล่าวอย่างโกรธปนละอายใจใส่ชายชรา
อเล็กซ์: พวกเราไม่ได้ทำอะไรเลย ก็แค่หนีเอาตัวรอดกลับมา
ชายชรา: นั่นมันดีพอแล้ว
นี่คือความจริงจากมุมมองของพลเรือนที่ไม่ได้ไปร่วมต่อสู้ในสนามรบ พวกเขาต่างส่งเสียงเชียร์โห่ร้องอย่างดีใจที่ฮีโร่เหล่านี้กลับบ้านมาอย่างปลอดภัย ได้กลับไปหาครอบครัว นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในสงครามแล้ว
หนังเรื่องนี้ทำให้ฉุกคิดถึงความเป็นจริงของสงครามมากขึ้น หนังสงครามหลายเรื่องมักเล่าแต่เรื่องของทหารเก่ง ทำความดี และเสียสละ เป็นวีรบุรุษตัวจริง ทำให้มุมมองต่อสงครามมันเป็นเรื่องเท่และน่ายกย่อง จนมองข้ามความจริงที่ว่ายังมีตัวประกอบที่ไม่เคยถูกเอ่ยชื่อในสงครามอีกเป็นหลายล้านคน ต่างหวาดกลัว อยากกลับบ้าน อยากให้สงครามจบลง บางคนอาจจะถูกหลงลืม ไม่มีแม้แต่หลุมศพที่สลักชื่อตัวเองไว้ เราโชคดีแค่ไหนที่เกิดมาในยุคแห่งสันติและเหตุผลที่เราควรสานต่อสันติภาพนี้ต่อไปเรื่อยๆ
ขอบคุณเสด็จพ่อโนแลนที่เปิดมุมมองต่อสงครามแง่ใหม่ๆ ผ่านหนังที่สร้างจากเรื่องจริงอย่าง Dunkirk (2017)
Fun Fact! รู้หรือไม่? ตัวละครบางส่วนได้แรงบันดาลใจมาจากตัวละครที่มีอยู่จริง จากข้อมูล History vs Hollywood
คนแรกคือผู้การโบลท์ตัน (Kenneth Branagh) ที่ยืนหยัดอยู่เป็นคนสุดท้ายในสมรภูมิดันเคิร์ก โดยหลังจากที่อพยพทหารอังกฤษของตัวเองไปได้หมดแล้ว เขายืนยันที่จะอยู่ต่อเพื่อช่วยอพยพทหารฝรั่งเศสที่เป็นพันธมิตรกัน โดยตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจมากจากกัปตัน William Tennant ที่อยู่เป็นคนสุดท้ายในสมรภูมิดันเคิร์กจริงๆ จนได้ฉายาว่า ‘Dunkirk Joe’
ต่อมาคือคุณดอว์สัน (Mark Rylance) ชายแก่ผู้กล้าหาญ ตัวแทนเรือพลเรือนในหนังที่ออกเรือมากับลูกชายพร้อมเพื่อนเพื่อมาช่วยอพยพทหารจากหาดดันเคิร์ก หลังจากที่เขาช่วยทหารคนแรกที่ลอยอยู่กลางน้ำเพราะเรืออพยพถูกจม ทหารคนนั้นก็พยายามโน้มน้าวให้คุณดอว์สันนำเรือกลับเข้าฝั่งอังกฤษ การไปที่ดันเคิร์กเป็นการฆ่าตัวตายชัดๆ
นายทหาร: คนแก่อย่างคุณควรจะนอนอยู่ที่บ้านมากกว่า
คุณดอว์สัน: ถ้าหากเราไม่ไปช่วยพวกเขา เราจะไม่มีบ้านให้อยู่อีกต่อไป
เห็นใจกล้า นิ่งสงบได้แม้อยู่กลางสงครามแบบนี้ เพราะเขาเชื่อกันว่าตัวละครนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก Charles Lightoller ซึ่งเป็นต้นหนเรือของเรือ Titanic ซึ่งเขาถูกชื่นชมในเรื่องการยึดมั่นในคำสั่งของกัปตันว่า ‘เรือชูชีพสำหรับเด็กและผู้หญิงเท่านั้น’ เขาคอยดูแลให้ผู้โดยสารทุกคนอพยพอย่างปลอดภัยตามลำดับ และขัดขวางเรืออพยพลำหนึ่งที่มีแต่ผู้ชายทั้งลำในขณะที่ยังอพยพเด็กและผู้หญิงไม่หมด
หลังจากวีกรรมในครั้งนั้น เขาก็ไม่ได้หวาดกลัวมหาสมุทรหรือท้องทะเล ในช่วงที่เกิดเหตุดันเคิร์ก ตอนนั้นเขาเกษียณแล้ว แต่ยังนำเรือเล็กของเขามาร่วมออกเดินทางเพื่อช่วยเหลือเหล่าทหารที่ติดอยู่ในสมรภูมิอีก
ด้วยคนสุดท้ายคือ แฟร์ริเออร์ (Tom Hardy) นักบินกองทัพอากาศ (RAF – Royal Air Force) คนสุดท้ายที่เหลือรอดอยู่และคอยยิงไล่เครื่องบินฝ่ายศัตรูจนวินาทีสุดท้าย ถึงแม้ในหนังเราจะไม่รู้ชะตากรรมต่อไปของแฟร์ริเออร์ ที่หลังจากเครื่องบินตกในหาดของศัตรูเพราะน้ำมันหมด แต่คนที่เป็นแรงบันดาลใจตัวจริงอย่าง Alan Christopher “Al” Deere สามารถรอดไปได้ เขาเป็นนักบินชาวนิวซีแลนด์ที่ถูกส่งมาคุ้มครองน่านน้ำแถวสมรภูมิดันเคิร์ก เขาถูกยิงจนตกแถวชายหาดเหมือนในหนัง แต่ต่างกันที่เรื่องจริงเขารอดมาได้และเดินมาจนถึงหาดที่ทหารอังกฤษยืนรออพยพกันอยู่และได้ขึ้นเรืออพยพกลับไปด้วย