Hamilton the Musical : เสียงเพลงแห่งการปฏิวัติ ละครเพลงแห่งยุค

0 Shares
0
0
1
0
0

เคยสงสัยไหมคะว่าหนุ่มหน้าคมผมหยิกบนแบงค์ 10 ดอลลาร์คนนี้คือใคร?

แบงค์สิบดอลล่าร์สหรัฐ ที่มีภาพอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton)
อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตันบนแบงค์สิบดอลล่าร์สหรัฐ (เครดิตภาพ: Wikipedia)

เขาคืออเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) หนึ่งใน “บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา” มือขวาของประธานาธิบดีคนแรกอย่างจอร์จ วอชิงตัน (George Washington)

ชีวิตของแฮมิลตันเต็มไปด้วยสีสัน ดราม่า และแรงบันดาลใจ จากเด็กกำพร้ายากไร้สู่การเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรกของอเมริกา! เขาเคยเป็นคู่ปรับทางการเมืองกับโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ประธานาธิบดีคนที่ 3 และเสียชีวิตจากการดวลปืนกับแอรอน เบอร์ (Aaron Burr) รองประธานาธิบดี

Hamilton the Musical เวอร์ชันออริจินอล นำแสดงโดยลิน-มานูเอล มิแรนดา (Lin-Manuel Miranda) ผู้แต่งเพลงทั้งหมดของ Hamilton และรับบทแฮมิลตัน
Hamilton the Musical เวอร์ชันออริจินอล นำแสดงโดยลิน-มานูเอล มิแรนดา (Lin-Manuel Miranda) ผู้แต่งเพลงทั้งหมดของ Hamilton และรับบทแฮมิลตัน

เรื่องราวของแฮมิลตันถูกนำมาเล่าขานผ่าน Hamilton the Musical ละครเพลงแห่งยุคที่กวาดรางวัลแบบทุบสถิติมาแล้วทั่วโลก ผสมผสานดนตรีฮิปฮอป R&B ทั้งหมด 46 บทเพลงจากฝีมือการประพันธ์ของ ลิน-มานูเอล มิแรนดา (Lin-Manuel Miranda) นักแสดงและนักแต่งเพลงจากหนังดังหลายเรื่อง เช่น Encanto (We don’t talk about Bruno, no, no, no!), Moana (How far I’ll go) เป็นต้น เขารับบทเป็นแฮมิลตันในการแสดงเวอร์ชันแรกด้วย เรียกว่าแต่งเพลงเอง ร้องเอง แสดงเอง 👏👏👏

ปีนี้ซิสบินไปสิงคโปร์เพื่อดู Hamilton โดยเฉพาะเลยค่ะ ประทับใจที่สุด! เป็นละครเพลงที่ดี่ที่สุดที่เคยดูมาเลย กลับมาฟังเพลง Hamilton ซ้ำๆ ทุกวันมาหลายอาทิตย์แล้ว

วันนี้เลยจะมารีวิวให้เพื่อนๆ ที่ชอบละครเพลง หรืออยากรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์อเมริกาฟังว่าทำไมถึงควรดู Hamilton สักครั้งในชีวิต รวมถึงความประทับใจสิบดาวกับโรงละคร Sands Theatre ที่สิงคโปร์ค่ะ

ตัวละครสำคัญใน Hamilton

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับชาวแก๊งค์นักปฏิวัติใน Hamilton กันค่ะ ภาพด้านล่างจะเป็นนักแสดงชุดที่ซิสไปดูที่สิงคโปร์

อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน แสดงโดยเจสัน แอรอว์ (Jason Arrow)
อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน แสดงโดยเจสัน แอโรว์ (Jason Arrow) (เครดิตภาพ: Hamilton International)

1. อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน: พระเอกของเรื่อง เป็นผู้อพยพจากเกาะแคริบเบียนที่ไต่เต้าจนกลายเป็นมือขวาของประธานาธิบดีวอชิงตัน และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรกของอเมริกา

2. จอร์จ วอชิงตัน: ประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา เป็นผู้ให้โอกาสและสนับสนุนแฮมิลตัน   เป็นเหมือนเป็นพ่อที่แฮมิลตันเคารพ

เดอออเดร วู้ดส์ (DeAundre’ Woods - ขวามือสุด) รับบท แอรอน เบอร์
เดอออเดร วู้ดส์ (DeAundre’ Woods – ขวามือสุด) รับบท แอรอน เบอร์

3. แอรอน เบอร์: คู่แข่งทางการเมืองของแฮมิลตัน มีความทะเยอทะยานและใฝ่ฝันอยากเป็นผู้นำ

4. มาร์ควิส เดอ ลาฟาแยตต์ (Marquis de Lafayette): เพื่อนและพันธมิตรชาวฝรั่งเศสของแฮมิลตัน ช่วยเหลืออเมริกา ในสงครามปฏิวัติ 

5. โธมัส เจฟเฟอร์สัน: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนแรกของอเมริกา เป็นคู่ปรับทางการเมืองอีกคนของแฮมิลตัน แต่ก็ยังมีความเคารพซึ่งกันและกัน

กษัตริย์จอร์จที่ 3 แสดงโดย เบรนท์ ฮิลล์ (Brent Hill)
กษัตริย์จอร์จที่ 3 แสดงโดย เบรนท์ ฮิลล์ (Brent Hill) (เครดิตภาพ: Hamilton International)

6. กษัตริย์จอร์จที่ 3 (King George III): กษัตริย์แห่งอังกฤษ เป็นคู่ต่อสู้ของอเมริกาในสงครามปฏิวัติ

สามพี่น้องสกายเลอร์ (Schuyler Sisters)
สามพี่น้องสกายเลอร์ (Schuyler Sisters) (เครดิตภาพ: Hamilton International)

7. เอไลซ่า แฮมิลตัน (Eliza Hamilton): ภรรยาสุดที่รักของแฮมิลตัน เป็นทั้งเพื่อน คู่คิดและกำลังใจสำคัญ เธอเป็นลูกสาวคนกลางของตระกูลสกายเลอร์ (Schuyler) ตระกูลเศรษฐีในนิวยอร์ก เรื่องราวความรักของพวกเขาเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของละครเพลง

8. แองเจลิกา สกายเลอร์ (Angelica Schuyler): ลูกสาวคนโตของตระกูลสกายเลอร์ สวย ฉลาด กล้าหาญ มีความรู้สึกพิเศษกับแฮมิลตัน และมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยาแฮมิลตัน

9. เพ็กกี้ สกายเลอร์ (Peggy Schuyler): น้องสาวคนเล็กของตระกูลสกายเลอร์ เป็นผู้หญิงที่ร่าเริง มีชีวิตชีวา สนิทกับแฮมิลตันเหมือนเพื่อนร่วมแก๊งค์

ชีวิตของแฮมิลตัน: สู่การปฏิวัติ

ย้อนกลับไปในปี 1757 อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน ถือกำเนิดบนเกาะแคริบเบียนที่ยากจน พ่อทิ้ง แม่เสียชีวิต กลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่เด็ก แฮมิลตันเป็นคนฉลาด ตอนอายุ 16 ปี เขาไปเรียนต่อที่ King’s College (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย) ซึ่งเป็นแหล่งรวมนักคิดและนักปฏิวัติในนิวยอร์ก 

แฮมิลตันกับจอร์จ วอชิงตัน เวอร์ชันออริจินัล บรอดเวย์ (เครดิตภาพ: Hamilton Project)
แฮมิลตันกับจอร์จ วอชิงตัน เวอร์ชันออริจินัล บรอดเวย์ (เครดิตภาพ: Hamilton Project)

เขาเริ่มเขียนบทความการเมืองจนโด่งดังไปทั่ว ตอนนั้นเป็นช่วงที่อเมริกากำลังลุกฮือต่อต้านอังกฤษ แฮมิลตันเลยไม่รอช้า คว้าดาบคว้าปืนเข้าร่วมกองทัพ จนกระทั่งปี 1776 อเมริกาประกาศอิสรภาพ แฮมิลตันในวัย 21 ปีกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในกองทัพด้วยความเก่งกล้าสามารถ จนกลายเป็นมือขวาของจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา

ด้านชีวิตส่วนตัวก็ไปได้ดีเช่นกัน เขาแต่งงานกับเอไลซ่า สกายเลอร์ ลูกสาวคนกลางจากตระกูลมหาเศรษฐีนิวยอร์ก ชีวิตดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบ มียศฐาบรรดาศักดิ์ ทรัพย์สิน และความรัก แต่ที่จริงแล้วแฮมิลตันมีความรู้สึกพิเศษกับแองเจลิกา สกายเลอร์ พี่สาวของภรรยา ซึ่งเป็นรักต้องห้าม โดยเรื่องนี้ถูกตีความจากจดหมายแลกเปลี่ยนตลอดหลายปีระหว่างแฮมิลตันกับแองเจลิกา

ในทางการเมือง แฮมิลตันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรกของอเมริกา ผู้วางรากฐานระบบการเงินที่มีส่วนทำให้อเมริกากลายเป็นมหาอำนาจดั่งทุกวันนี้ เขายังเป็นไม้เบื่อไม้เมากับโทมัส เจฟเฟอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 และอาร์รอน เบอร์ อดีตประธานาธิบดี

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือ เรื่องชู้สาวอันอื้อฉาวของแฮมิลตัน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ได้นั่งตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดกาล เมื่อแฮมิลตันถูกแบล็กเมล์โดยเจมส์ เรย์โนลด์ส สามีของชู้รักของเขาในข้อหาคอรัปชั่น สุดท้ายแฮมิลตันเปิดเผยเรื่องราวชู้สาวอันน่าอายทั้งหมดเพื่อล้างข้อหาคอรัปชั่น แม้จะรักษาตำแหน่งทางการเมืองไว้ได้ แต่เสียชื่อเสียงอย่างหนักและความสัมพันธ์ครอบครัวไม่เหมือนเดิมตลอดไป

หลังจากนั้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1800 เจฟเฟอร์สันและเบอร์ได้รับเสียงโหวตสูงสุดเท่ากัน สิทธิ์ในการตัดสินใจจึงตกอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแฮมิลตันโน้มน้าวให้พวกเขาโหวตเลือกเจฟเฟอร์สัน ซึ่งแฮมิลตันยังมีความเคารพและเชื่อใจมากกว่าเบอร์ เบอร์จึงกลายเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยนั้น

การดวลปืนระหว่างแฮมิลตันและเบอร์ ในปี 1804 (เครดิตภาพ: wikipeadia)
การดวลปืนระหว่างแฮมิลตันและเบอร์ ในปี 1804 (เครดิตภาพ: wikipeadia)

เบอร์ที่กระทบกระทั่งทางการเมืองกับแฮมิลตันอยู่บ่อยๆ เรื่องนี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย เขาจึงท้าดวลปืนกับแฮมิลตัน จนกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์อเมริกา Burr–Hamilton Duel แฮมิลตันยิงไปที่กิ่งไม้เหนือศีรษะของเบอร์  แต่เบอร์กลับยิงเข้าตัวแฮมิลตันจนเขาเสียชีวิตในวัยเพียง 47 ปี เป็นการปิดตำนานของหนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ

46 บทเพลงใน Hamilton The Musical

ตลอด 2 ชั่วโมง 50 นาที เราได้ชมการแสดงจุกๆ เต็มๆ 46 เพลง! แอบตกใจตอนเห็นจำนวนเพลง ดูเพลินมากจนไม่คิดว่าฟังเพลงไปเยอะขนาดนี้ เวลาผ่านไปไวมาก การแสดงมี 2 องค์ องค์แรกเป็นการเปิดตัวแฮมิลตัน ตั้งแต่อพยพมายังอเมริกาไปจนถึงเข้าร่วมกองทัพปฏิวัติและประกาศอิสรภาพ องค์หลังเป็นเรื่องราวทางการเมืองสุดเข้มข้นไปจนถึงจุดจบของแฮมิลตัน

มาติดตามบทเพลงไพเราะที่เรียงร้อยเรื่องราวชีวิตของเขา ขอแบ่งเป็น 5 ช่วงตามช่วงชีวิตสำคัญค่ะ (แอบไฮไลท์เพลงโปรดที่ซิสชอบมากๆ ไว้ให้ด้วย)

ช่วงที่ 1: จากผู้อพยพสู่มือขวาของนายพลวอชิงตัน

  1. Alexander Hamilton: เพลงเปิดตัว แนะนำตัวตนและความทะเยอทะยานของแฮมิลตัน
  2. Aaron Burr, Sir
  3. My Shot: เพลงปลุกพลัง แสดงความมุ่งมั่นของแฮมิลตันที่จะสร้างอนาคตอันยิ่งใหญ่
  4. The Story of Tonight
  5. The Schuyler Sisters
  6. Farmer Refuted
  7. You’ll Be Back
  8. Right Hand Man

ช่วงที่ 2: ความรัก สงคราม และชัยชนะ

  1. A Winter’s Ball
  2. Helpless: เพลงรักโรแมนติก ถ่ายทอดความรู้สึกรักแรกพบที่มีต่อแฮมิลตันของเอไลซ่า
  3. Satisfied: เพลงรักต้องห้าม ถ่ายทอดความรู้สึกดีๆ ระหว่างแองเจลิกากับแฮมิลตัน
  4. The Story of Tonight (Reprise)
  5. Wait for It
  6. Stay Alive
  7. Ten Duel Commandments
  8. Meet Me Inside
  9. That Would Be Enough
  10. Guns and Ships
  11. History Has Its Eyes on You
  12. Yorktown (The World Turned Upside Down)
  13. What Comes Next?
  14. Dear Theodosia

ช่วงที่ 3: เริ่มสร้างประเทศใหม่

  1. Non-Stop
  2. What’d I Miss
  3. Cabinet Battle #1: แรปแบทเทิลทางการเมืองระหว่างแฮมิลตันกับเจฟเฟอร์สัน
  4. Take a Break
  5. Say No to This
  6. The Room Where It Happens: ความทะเยอทะยานของเบอร์ที่ต้องการเป็นคนสำคัญในวงการเมือง
  7. Schuyler Defeated
  8. Cabinet Battle #2
  9. Washington on Your Side
  10. One Last Time
  11. I Know Him

ช่วงที่ 4: การร่วงหล่นของแฮมิลตัน

  1. The Adams Administration
  2. We Know
  3. Hurricane
  4. The Reynolds Pamphlet: เพลงที่เปิดเผยเรื่องชู้สาวอันอื้อฉาวของแฮมิลตัน
  5. Burn

ช่วงที่ 5: ช่วงชีวิตสุดท้ายและมรดกสู่คนรุ่นหลัง

  1. Blow Us All Away
  2. Stay Alive (Reprise)
  3. It’s Quiet Uptown
  4. The Election of 1800
  5. Your Obedient Servant
  6. Best of Wives and Best of Women
  7. The World Was Wide Enough: เหตุการณ์ดวลปืนระหว่างแฮมิลตันและเบอร์
  8. Who Lives, Who Dies, Who Tells Your Story: เพลงปิดท้ายสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการจดจำประวัติศาสตร์

ขอหยิบมา 5 เพลงจากแต่ละช่วงเวลาที่ซิสชอบที่สุดมาเล่าเรื่องราวของแฮมิลตันให้ฟังเพิ่มเติมกันค่ะ

My Shot

“Hey yo, I’m just like my country
I’m young, scrappy and hungry
And I’m not throwin’ away my shot”

My Shot – Hamilton

เพลงโปรดของซิส ปลุกพลังมาก เนื้อเพลงเต็มไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความทะเยอทะยานของแฮมิลตัน ท่วงทำนองเพลงฮิปฮอป บวกกับการแร็ปที่เฉียบคม ขับเน้นอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้อย่างดีเยี่ยม โดยมีเนื้อหาหลักคือ

  • โอกาส: แฮมิลตันตระหนักดีว่าโอกาสในชีวิตมีจำกัด เขาเป็นเด็กหนุ่มผู้อพยพจากแคริบเบียน ไม่มีเส้นสายและเงินทอง แต่เขาใฝ่ฝันอยากมีบทบาทสำคัญบนโลกใบนี้ จึงไม่ต้องการปล่อย “โอกาส” หรือ “My Shot” ให้หลุดลอยไป
  • การปฏิวัติ: แฮมิลตันมองเห็นศักยภาพของการปฏิวัติอเมริกา เป็นโอกาสที่จะสร้างอนาคตใหม่ เขาเต็มใจต่อสู้และทุ่มเทเพื่อสร้างประเทศอเมริกาให้ยิ่งใหญ่
  • มรดกสู่รุ่นหลัง: แฮมิลตันต้องการสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ ทิ้งมรดกตกทอดให้คนรุ่นหลังจดจำเขาในฐานะวีรบุรุษ ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติ

Satisfied

Satisfied – Hamilton

เพลงนี้ทำนองเพราะมาก! เป็นเพลงคู่ระหว่างแองเจลิกากับแฮมิลตัน เกี่ยวกับ:

  • การพบกันครั้งแรก: แองเจลิกาและแฮมิลตันพบกันครั้งแรกในงานเลี้ยงและต่างรู้สึกพอใจ (Satisfied) กับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น 
  • ความขัดแย้ง: แองเจลิการู้สึกสับสนเพราะเธอมีคู่หมั้นอยู่แล้ว และรู้ว่าเอไลซ่า น้องสาวของเธอก็หลงรักแฮมิลตัน
  • การตัดสินใจ: แองเจลิกาตัดสินใจจับคู่แฮมิลตันกับเอไลซ่า และรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับแฮมิลตัน

Cabinet Battle #1

“Thomas. That was a real nice declaration. Welcome to the present, we’re running a real nation.”

Cabinet Battle #1 – HAMILTON

แรปแบทเทิลระหว่างแฮมิลตันกับเจฟเฟอร์สัน ช่วงที่เพิ่งก่อตั้งประเทศใหม่ๆ ในประเด็นนโยบายทางการเงินดังนี้

  • การโต้เถียง: ระหว่างแฮมิลตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับเจฟเฟอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ โดยมีจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีเป็นผู้ควบคุมการอภิปราย
  • แผนของแฮมิลตัน: แฮมิลตันเสนอแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาติ โดยให้รัฐบาลกลางรับภาระหนี้สินต่างๆ ที่สะสมไว้ในช่วงสงครามปฏิวัติอเมริกา และจัดตั้งธนาคารกลางแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการหนี้สิน พิมพ์ธนบัตร และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • ข้อโต้แย้งของเจฟเฟอร์สัน: เจฟเฟอร์สันไม่เห็นด้วยโดยกังวลเกี่ยวกับสิทธิของรัฐ ห่วงว่าธนาคารกลางจะทำให้รัฐบาลกลางมีอำนาจมากเกินไป เบียดบังอำนาจของรัฐแต่ละรัฐ และเกรงว่าแผนของแฮมิลตันจะเอื้อประโยชน์ต่อการเงินของเขตตอนเหนือ มากกว่าภาคเกษตรกรรมทางตอนใต้
  • บริบทที่กว้างขึ้น: การโต้เถียงครั้งนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองในช่วงแรกของอเมริกา แฮมิลตันสนับสนุนให้มีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง ในขณะที่เจฟเฟอร์สันสนับสนุนให้รัฐบาลกลางมีบทบาทจำกัด โดยอำนาจจะอยู่ที่รัฐต่างๆ
  • ผลลัพธ์: เพลงไม่ได้แสดงผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่สุดท้ายแล้วแนวคิดของแฮมิลตันก็ได้รับการยอมรับในช่วงประธานาธิบดีวอชิงตัน นำไปสู่การก่อตั้งธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกาแห่งแรก

The Reynolds Pamphlet

“Well he’s never gon’ be President now.”

The Reynolds Pamphlet – Hamilton

เรื่องชู้สาวอันอื้อฉาวของแฮมิลตันที่ถูกเปิดเผยผ่านจดหมายฉบับยาว 95 หน้า เขียนโดยเจมส์ เรย์โนลด์ส สามีของมาเรีย เรย์โนลด์ส ผู้หญิงที่แฮมิลตันมีสัมพันธ์ด้วย โดยแฮมิลตันเป็นคนให้ตีพิมพ์จดหมายเองเพื่อลบล้างข้อกล่าวหาเรื่องคอรัปชั่น

  • การเปิดเผย: เพลงเริ่มต้นด้วยการเปิดเผยจดหมายฉบับนี้ต่อสาธารณชน สร้างความตกตะลึงให้กับสังคม ชื่อเสียงของแฮมิลตัน และอนาคตทางการเมืองของเขาตกอยู่ในอันตราย
  • คำสารภาพ: แฮมิลตันตัดสินใจยอมรับความผิดเรื่องมีชู้ เขายืนยันว่าความสัมพันธ์ของเขากับมาเรียเกิดขึ้นก่อนที่เธอจะแต่งงานกับเจมส์ เรย์โนลด์ส และเขาถูกเจมส์แบล็คเมล์
  • ความเสียหาย: เรื่องอื้อฉาวนี้สร้างความเสียหายต่อแฮมิลตันอย่างมาก ชื่อเสียงของเขาถูกบั่นทอน ศัตรูของเขาใช้เรื่องนี้โจมตีเขา แฮมิลตันเสียโอกาสในการเป็นประธานาธิบดี
  • การให้อภัย: แฮมิลตันพยายามขอโทษภรรยาของเขา ซึ่งเธอให้อภัยและยังคงอยู่ด้วยกันจนวันสุดท้ายของแฮมิลตัน แต่ความสัมพันธ์ของพวกเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

The World Was Wide Enough

“1 2 3 4 5 6 7 8 9 -he aims his pistol at the sky WAIT!!!”

The World Was Wide Enough – Hamilton

เหตุการณ์การดวลปืนระหว่างแฮมิลตันกับแอรอน เบอร์ ในปี 1804 เพลงนี้เริ่มต้นจากมุมมองของเบอร์ เขาเล่าถึงรายละเอียด 10 ประการของการดวลปืน เน้นย้ำถึงข้อได้เปรียบของแฮมิลตัน และชี้ให้เห็นว่าการดวลปืนเกิดขึ้นใกล้กับจุดที่ลูกชายของแฮมิลตันถูกฆ่าตาย เบอร์ยังอธิบายว่าเขาจะไม่ยอมให้แฮมิลตันฆ่าเขา เพราะเขาไม่ต้องการให้ลูกสาวของเขาต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า และเขาก็เบื่อหน่ายกับการรอคอยโอกาสของเขา 

  • ความตึงเครียด: ย้ำถึงความเกลียดชังและความขุ่นเคืองที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกัน การดวลปืนเป็นจุดสุดท้ายของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานหลายปี
  • มุมมองของเบอร์: เพลงนี้ให้มุมมองที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความคิดและแรงจูงใจของเบอร์ เขาไม่ได้เป็นเพียงวายร้าย แต่เป็นคนที่ซับซ้อนที่มีความกลัว ความโกรธ และความปรารถนาของตัวเอง
  • ความตายของแฮมิลตัน: การตายของแฮมิลตันเป็นเหตุการณ์ที่โศกนาฏกรรม เพลงนี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการตายของเขาที่มีต่อคนที่เขารัก และต่อประวัติศาสตร์อเมริกา

โรงละคร Sands Theatre สิงคโปร์

Hamilton the Musical ที่โรงละคร Sands Theatre สิงคโปร์
Hamilton the Musical ที่โรงละคร Sands Theatre สิงคโปร์

นอกจากละครเพลง Hamilton จะสุดยอดแล้ว โรงละคร Sands Theatre ก็บรรยากาศสุดยอดมาก! เดินทางง่าย ลง MRT Bayfront ปุ๊บถึงเลย บรรยากาศหรูหรา แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเข้าถึงยาก แต่งตัวไปยังไงก็ได้ 

ในงานมีบูธขายของที่ระลึก บูธถ่ายรูป จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ไวน์ มีครบ เอาเข้าไปทานระหว่างชมละครเวทีได้ ต่างกับที่ไทยที่ห้ามเอาของกินและเครื่องดื่มเข้าไป 

ช่วงปิดม่านการแสดง เหล่านักแสดงอำลาผู้ชม
ช่วงปิดม่านการแสดง เหล่านักแสดงอำลาผู้ชม

ซิสนั่งชั้น 3 ที่นั่ง N23 ตรงกลางพอดี แม้จะอยู่ไกล แต่มองเห็นเวทีชัด เห็นสีหน้า ท่าทางการแสดงของนักแสดง คนเยอะมาก! แม้จะเป็นวันธรรมดาและแสดงมาเกือบเดือนแล้วก็ตาม แต่เหมือนคนจะเต็มทั้งโรงเลยค่ะ บรรยากาศคึกคักสุดๆ ผู้ชมปรบมือ โห่ร้อง เชียร์ทุกเพลง 

สรุปแล้วประทับใจทุกอย่าง อยากจะกลับไปดูอีกครั้ง!

🎟️ Hamilton the Musical
📅 เวลา: 19 เม.ย. – 9 มิ.ย. 2567
📍 สถานที่: โรงละคร Sands Theatre, Marina Bay Sands, สิงคโปร์
💲ราคา: 80-300 SGD ซื้อตั๋วได้ที่นี่

สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากชิลๆ  ดูที่บ้าน  ก็สามารถรับชมบันทึกการแสดงได้ทาง Disney+ Hotstar เช่นกันค่ะ แต่จะเป็นนักแสดงและเพลงคนละเวอร์ชันกับที่แสดงสด



1 Shares
You May Also Like
การ์ตูนแนวเกิดใหม่

แนะนำ 29 การ์ตูนแนวกลับชาติมาเกิด ฟินจนอยากเกิดใหม่ (อัพเดท 2024)

หากคุณเป็นแฟนการ์ตูนเกาหลีแนวกลับชาติมาเกิด เรารวบรวมมาไว้ให้คุณแล้ว สนุกจนหยุดอ่านไม่ได้ ฟินจิกหมอนจนอยากทะลุมิติตาม
20240519_แนะนำ 25 การ์ตูนโรแมนติกบน WEBTOON รับรองความฟินจิกหมอน (อัพเดต 2024)

แนะนำ 28 การ์ตูนโรแมนติกบน WEBTOON รับรองความฟินจิกหมอน (อัพเดต 2024)

หากคุณเป็นแฟนการ์ตูนโรแมนซ์แฟนตาซีบน WEBTOON เรารวบรวมมาไว้ที่นี่แล้ว! สนุกจนหยุดอ่านไม่ได้ ฟินจิกหมอนจนอยากทะลุมิติตาม
รีวิวเที่ยวสิงคโปร์ Singapore Cable Car_1

รีวิวเที่ยว Singapore Cable Car : นั่งกระเช้าลอยฟ้าชมภูเขา ทะเล และเกาะเซนโตซ่า

เก็บภาพความงดงามของสิงคโปร์และเกาะเซนโตซ่าจากความสูง 100 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลด้วยกระเช้าลอยฟ้าสิงคโปร์ (Singapore Cable Car)
ซีรีส์จีนย้อนยุค โรแมนติก

แนะนำ 7 ซีรีส์จีนย้อนยุค สนุกจนหาทางออกจากยุทธภพไม่เจอ (อัพเดต 2023)

หากคุณกำลังมองหาซีรีส์จีนย้อนยุคสนุกๆ โรแมนติกเบาสมอง ดูแล้วได้แรงบันดาลใจและข้อคิดดีๆ เรารวมมาไว้ให้ที่นี่แล้ว