#ReadersGarden เล่มที่ 6
ความเยาว์วัยวัดกันที่ใจ ไม่ใช่ตัวเลข แต่ก็ยังใจหายทุกครั้งที่คิดว่าชีวิตเราดำเนินมาถึงเลขยี่สิบกลางๆ แล้ว ตามตำราเรียกว่า ‘วัยผู้ใหญ่’ แต่ตามความรู้สึกแล้ว เรายังเป็นเด็กวัยรุ่นอยู่เลย ยังคงทำผิดพลาด ตามหาคุณค่าของตัวเอง ไม่อยากเผชิญโลกแห่งความจริงคนเดียว กลัวที่จะเป็นผู้ใหญ่ อยากให้ปีเตอร์ แพนมารับเราไปอยู่ในดินแดนเนเวอร์แลนด์จัง
หากคุณมีความรู้สึกนี้ซ่อนอยู่ในใจแบบซิส หนังสือ I Decided to Live as Myself จะเป็นเพื่อนปลอบโยน มอบความอบอุ่นในวันที่เราต้องเผชิญกับโลกความจริงอันแสนเย็นชา
เหมือนได้อ่านไดอารี่แฝงจิตวิทยาของผู้เขียนคุณคิมซูฮยอน (Kim Suhyun) ที่เขียนถึงความรู้สึกเฮงซวยของวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่จากประสบการณ์อย่างเปิดเผย รวมถึงวิธีอยู่ร่วมกับมัน นี่เป็นสิ่งที่ซิสชอบและคิดว่าต่างจากหนังสือพัฒนาตัวเองเล่มอื่น คุณคิมซูฮยอนไม่ได้บอกให้เราเอาชนะความรู้สึกแย่ๆ แต่ให้ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องปกติ เป็นรสชาติหนึ่งของชีวิต แค่อย่าจมกับความทุกข์จนมองข้ามโอกาสที่จะมีความสุขไป
หนังสือแบ่งออกเป็น 6 พาร์ท โดยเริ่มต้นจาก to do list เพื่อการรักและเห็นคุณค่าของตัวเอง ไปจนถึงเพื่อสังคมรอบข้างไปและเพื่อโลกที่ดีขึ้น ซิสขอนำข้อคิดที่ชอบในแต่ละพาร์ทมาเล่าให้ฟังกันนะคะ
To do list เพื่อการมีชีวิตที่ให้เกียรติตัวเอง
มีชีวิตธรรมดา ไม่ริษยาในสิ่งที่ไม่ใช่ของตัวเอง อดทนต่อสายตาเย็นชา และใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองเป็น
‘ธรรมดา’ อาจเป็นคำที่ยอมรับได้ยาก ในสมัยเด็กเราอาจฝันหวานถึงการได้เป็นคน ‘พิเศษ’ มีพลังวิเศษ ได้ทำเรื่องเปลี่ยนแปลงโลก เป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล แต่ในตอนนี้ บางทีชีวิตธรรมดาก็มีความสุขเพียงพอแล้ว มีความเศร้าและความขมขื่นบ้าง ชีวิตวัยผู้ใหญ่ก็เป็นเช่นนี้เอง
ถ้าเรายังมัวแต่หนีเข้าไปอยู่ในโลกแห่งจินตนาการทุกครั้งที่เจ็บปวด เราก็จะไม่ก้าวไปไหนในโลกแห่งความจริง การหลุดออกจากจินตนาการและความเพ้อฝันวัยเด็ก แล้วห่อหุ้มชีวิตของตัวเองด้วยการเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่พิเศษนั้น คือเรื่องจริงที่ต้องยอมรับ มันอาจไม่เรียบหรูและง่ายดาย แต่เป็นตัวตนที่น่าภาคภูมิของคุณ
To do list เพื่อการใช้ชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง
การใช้ชีวิตในแบบของตัวเองคือการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเราเอง ท่ามกลางประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาของตัวเอง
ถ้าใครโตขึ้นมาแบบซิส ที่คุณแม่สั่งอาหารให้ทุกครั้งที่ไปทานข้าวนอกบ้าน เลือกข้าวของเครื่องใช้และเสื้อผ้าให้ตลอด ตัดสินใจให้แม้แต่การโหวตเลือกนักการเมือง 😅 เมื่อต้องออกมาอยู่คนเดียว คงจะรู้สึกกลัวการตัดสินใจด้วยตัวเอง แน่นอนว่าท่านทำไปด้วยความหวังดี แต่ตัวตนเรากลับเลือนลางจนไม่รู้ว่าความเป็นตัวเองของเราคืออะไร สุดท้ายแล้วประสบการณ์ก็สอนว่า ความผิดพลาดไม่ได้น่ากลัว การไม่รู้จักตัวเองสิน่ากลัว
ก้าวแรกของการมีชีวิตในแบบตัวเองคือ ต้องรู้จักและเข้าใจตัวเอง ให้ความสนใจว่าที่ผ่านมาฉันใช้ชีวิตแบบไหน อยากมีคุณค่าแบบไหน เรื่องอะไรที่ทำให้ฉันมีความสุขและทุกข์ และฉันแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร
To do list เพื่อการปล่อยวางจากความกังวล
เมื่อเหนื่อย ก็บอกว่าเหนื่อย
คุณเป็นคนประเภทที่ไม่ค่อยพูดคำว่าเหนื่อย ไม่บอกคนอื่นว่าเหนื่อย และไม่คิดว่าตัวเองเหนื่อยหรือเปล่า? ข้อนี้ซิสคิดเหมือนคุณคิมซูฮยอนเลยว่า ตัวเองจะยิ่งเหนื่อยถ้าพูดออกไป เลยมักบอกว่า ‘ไม่เป็นไร’ แต่ถ้าเหนื่อยแล้วแกล้งทำเป็นไม่เหนื่อย สุดท้ายความรู้สึกที่มีต่อตัวเองก็จะพังทลายลงเป็นโดมิโน
“เมื่อมีกิจกรรมในชีวิตมากเกินไป
เมื่อรู้สึกว่ากำลังจมอยู่ในความรับผิดชอบมากมาย
เมื่อกลับมาแล้วน้ำตารินไหล
ก็ให้พูดว่า “ตอนนี้ฉันเหนื่อย” ”
ไม่มีใครดูแลคุณได้ดีเท่าตัวคุณเอง การฝืนอดทนคือการทารุณตัวเอง เห็นแก่ตัวสักนิดก็ได้ ไร้ความผิดชอบสักหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่อย่างไรความรับผิดชอบกับตัวเอง อย่าละเลยตัวเองจนรู้สึกหายใจไม่ไม่ออก
ซื้อหนังสือ I Decided to Live as Myself : SE-ED
To do list เพื่อการใช้ชีวิตร่วมกัน
ยังไงมนุษย์ก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ตราบใดที่คุณยังไม่ยอมแพ้ต่อการเป็นสัตว์สังคมและปลีกตัวไปอาศัยอย่างโดดเดี่ยวกลางป่าเขา ปลูกพืช ล่าสัตว์ประทังชีวิต แม้สังคมจะเย็นชาและไม่ใจดี แต่เราก็เลี่ยงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไม่ได้
คุณอยากอยู่ในสังคมแบบไหน จงทำตัวแบบนั้น – อยากให้คนอื่นให้เกียรติเรา เราก็ต้องให้เกียรติคนอื่น อยากให้เขาใจดี ก็จงใจดีกับเขา แต่อย่าทำดีเพียงเพราะกลัวจะถูกเกลียด การที่คุณพยายามเป็นคนดีในสายตาของคนที่ตัดสินตามอำเภอใจ เป็นเพียงแค่การสูญเสียประสิทธิภาพในการป้องกันตัวเอง ต่อให้ใครเกลียดเรา มันก็ไม่ได้ทำลายชีวิตของเรา ดังนั้นอย่าเป็นคนดีเพียงเพราะไม่อยากโดนเกลียด
เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้ แล้วการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีของเรา สามารถส่งผลดีต่อคนรอบข้างได้ด้วย
To do list เพื่อโลกที่ดีขึ้น
ทำในส่วนที่ตัวเองทำได้
“เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิทธิทางการค้าได้ แต่เราสามารถซื้อสินค้าในร้านค้าเล็กๆ ได้
เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาการตกงานได้ แต่เราสามารถให้กำลังใจผู้ที่ออกไปประท้วงได้
เราไม่สามารถทำให้สื่อมวลชนที่เสนอข่าวบิดเบือนกลับมาเสนอความจริงได้ แต่เราสนับสนุนสื่อมวลชนที่เสนอแต่ความจริงได้
เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกของคนคิดลบ แต่เราสามารถมองเขาด้วยสายตาอบอุ่นได้”
ซิสชอบบทนี้มากเพราะช่วยให้เราฉุกคิดถึงปัญหาในชีวิตประจำวัน เรื่องที่เราเป็นกังวลแต่รู้สึกว่ามันไกลตัว คิดว่าเราไม่มีพลัง แต่ความจริงแล้วตัวเราสามารถสร้างความแตกต่างได้ ถ้าโลกจะมีอะไรผิดไป ก็คงเป็นเพราะความพยายามของพวกเราแต่ละคนไม่เพียงพอ
To do list เพื่อชีวิตที่ดีและชีวิตที่มีความหมาย
หมั่นเพิ่มโอกาสของชีวิต โบกมือลาอดีตที่ควรผ่านไป
ชีวิตที่ยืนยาวไม่ได้อยู่ที่อายุขัย แต่เป็นประสบการณ์ที่เราพบเจอ ถ้าอยากมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีความหมาย ช่วงสุดสัปดาห์ก็ลองออกไปมองดูทะเล หลังเลิกงานลองเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน ลองพบปะผู้คนใหม่ๆ ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ หลุดออกจากสิ่งที่เคยเป็นมา จงกลายเป็นตัวเองที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่สามารถคาดเดาได้
นอกจากนี้อย่าให้อดีตที่ไม่สวยงามมาฉุดรั้งเราไว้จากชีวิตที่ดี บนโลกนี้มีคนน่าสมเพช คนที่ไม่ชำนาญ คนไม่รู้จักโต ถ้าโชคไม่ดีเราก็จะได้เจอคนพวกนั้นเข้ามาสร้างบาดแผลเป็นปมในใจจนถึงปัจจุบัน แต่ตอนนี้เราทุกคนไม่ใช่เด็กน้อยแล้ว เรามีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเดินหน้าต่อไป ถึงเวลาโบกมือลาอดีตเพื่อให้ตัวเองก้าวเดินต่อไป
ซื้อหนังสือ I Decided to Live as Myself : SE-ED
เกาหลีใต้ ประเทศที่เป็นไปไม่ได้
อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาเด่นชัดจากหนังสือเล่มนี้คือ ความกดดันของสังคมเกาหลีใต้ ถึงแม้ว่ามนุษย์ไม่ว่าจะเชื้อชาติใดหรืออยู่มุมไหนของโลกต่างก็ต้องเผชิญกับความกดดันของการเป็นผู้ใหญ่ แต่สำหรับคนเกาหลีใต้คงจะหนักหนากว่าประเทศอื่นหลายเท่า เพราะค่านิยมของที่นั่น ‘ชีวิตที่ดี’ = ‘ชีวิตที่รวย’
คุณหมอคิมฮยอนชอลแห่งแผนกจิตเวชเคยกล่าวว่า ฮังการี ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ มีจุดที่เหมือนกันคือ ‘สังคมไม่อนุญาตให้เตร็ดเตร่’ ซึ่งสามประเทศนี้ยังมีจุดที่เหมือนกันคือ อัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ช่วงเวลาเตร็ดเตร่ของพวกเราถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ เติมความสุขให้ชีวิต วัยรุ่นฝรั่งเองก็นิยม Gap Year ออกเดินทางพักผ่อน ค้นหาตัวเอง แต่สำหรับชาวเกาหลี การเตร็ดเตร่ถือเป็นการทำลายชีวิต เพราะการเข้าเรียน ทำงาน แต่งงาน มีลูก ซื้อบ้าน ต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อนถึงเดดไลน์ที่เรียกว่า ‘ช่วงอายุที่เหมาะสม’ ดังนั้นการเตร็ดเตร่จึงเป็นเรื่องต้องห้าม
แดเนียล ทูเดอร์ นักข่าวชาวอังกฤษที่ทำงานในเกาหลียังกล่าวว่า เกาหลีเป็นประเทศที่มีความกดดันสูงมากทั้งเรื่องการศึกษา เกียรติยศศักดิ์ศรี รูปร่างหน้าตา อาชีพการงาน จนผู้คนต้องมีชีวิตอยู่กับการเปรียบเทียบในมาตรฐานที่สูงมาก ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เขาเรียกเกาหลีว่า ‘ประเทศที่เป็นไปไม่ได้’ (Impossible Country) เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะผอมเหมือนกันหมด นิสัยตามที่คนอื่นชอบเหมือนกันหมด เรียนมหาวิทยาลัยชื่อดังเหมือนกัน หรือทำงานในบริษัทชื่อดังเหมือนกันหมด
“พอโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็รู้สึกว่าโลกเป็นสถานที่ที่เย็นชาอย่างไร้เหตุผล ผู้คนต่างขีดเส้นแบ่งระหว่างกันโดยไม่จำเป็น หากสบโอกาสก็จะดูถูกและนินทาแม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องแสนธรรมดา เราต่างแกล้งทำเป็นไร้ความรู้สึกเพื่อทำงานหาเงินมาประทังชีวิต และต่างรู้สึกเป็นกังวลในความมั่นคงที่รางเลือนของสังคม ฉันไม่อยากกลายเป็นคนที่แย่ลงในโลกที่แสนเย็นชาใบนี้” คือคำพูดที่คุณคิมซูฮยอนทิ้งท้ายไว้
ใช่แล้ว แม้ว่าโลกจะเย็นชา แต่เราไม่อยากจะกลายเป็นคนเย็นชาไปด้วยหรอกนะ ที่จริงแล้วเราอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเย็นชานั้นไปแล้วโดยไม่รู้ตัวก็ได้ อย่างไรก็ตามหนังสือ I Decided to Live as Myself ช่วยละลายน้ำแข็งในใจจนเกิดความอบอุ่นขึ้นมาโดยไม่ต้องโหยหาไออุ่นจากใคร
‘เธอรู้สึกไร้ค่าหรอ? ฉันก็เคยรู้สึกเหมือนกัน ผู้ใหญ่หลายคนก็รู้สึกแบบนี้ แต่ฉันและคนอื่นๆ ก็ผ่านมันมาได้ ฉันเจอคุณค่าและความสุขในแบบของฉันเอง เธอไม่ได้โดดเดี่ยวหรอกนะ ความสุขมันเรียบง่ายกว่าที่คิด ตอนนี้เธออาจจะถูกเรื่องไร้สาระอย่างการเปรียบเทียบตัวเองกับชีวิตคนอื่นมาทำให้ตาบอด จนมองไม่เห็นคุณค่ามากมายที่อยู่ในตัวเธอเอง ค่อยๆ กลับมามองตัวเองอย่างภาคภูมิใจเถอะนะ’ คงเป็นสิ่งที่หนังสือเล่มนี้อยากจะบอกพวกเรา
まだ夢に夢見た季節が心(ここ)にあるから
เพราะฤดูนั้นที่ฉันฝันถึงยังคงอยู่ในใจ
僕らは行くよ もう一度 輝く自分を探す旅
พวกเรากำลังออกเดินทางเพื่อค้นหาตัวเองส่องประกายอีกครั้ง
やがて僕らがありふれた大人になっても
ถึงแม้ว่าอีกไม่นานเราจะต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ทั่วไปก็ตาม
扉はいつも きっと あの夏に繋がっているから
แต่ที่ประตูนั่น ยังคงเชื่อมต่อกับฤดูร้อนนั้นไว้เสมอ
NEWS – Endless Summer