เริ่มต้นปี 2023 อย่างอิ่มอกอิ่มใจกับ LUNA: The Immersive Musical Experience ละครเวทีรูปแบบใหม่ของเมืองไทยที่ผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง เลือกเดินตามตัวละครที่เราสนใจเพื่อรับชมเรื่องราวได้ มีให้เลือกกว่า 10 เส้นเรื่อง
ทุกที่ที่เราเดินไปคือเวที สามารถพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกับตัวละครได้ นักแสดงด้นสดต่อบทกันเก่งและมีไหวพริบ โยงกลับมาเนื้อเรื่องได้เสมอ โดยเราเลือกเส้นทางได้อย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องตามตัวละครตัวเดียว จู่ๆ อยากไปดูอีกตัวละครก็เปลี่ยนเส้นทางได้
แม้จะชมการแสดงรอบเดียวกัน แต่ออกจากโรงละครมา เล่ากันคนละเรื่องได้เลยค่ะ
รู้ตัวอีกทีซิสไปดูมา 3 รอบแล้ว ราวกับโดนมนตร์สะกดของลูน่า ออกจากโรงละครปุ๊บ ต้องกดซื้อบัตรกลับไปดูซ้ำอีก
เรื่องย่อ LUNA เด็กหญิงผู้ดื่มดวงจันทร์
LUNA ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนชื่อ The Girl Who Drank the Moon ของเคลลี บาร์นฮิลล์ (Kelly Barnhill)
เรื่องราวมีอยู่ว่า ณ หมู่บ้านโพรเทคเทอเรท ชาวบ้านมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าจะต้องสังเวยทารก 1 คนให้กับแม่มดแห่งป่าทุกปีเพื่อให้รอดพ้นจากพิโรธของแม่มด ทว่าแม่มดแห่งป่าอย่างยายแซนเข้าใจว่าทารกที่น่าสงสารถูกชาวบ้านทอดทิ้ง นางจึงคอยดูแลเด็กๆ ก่อนจะส่งต่อให้พ่อแม่อุปถัมภ์ไปเลี้ยงดูต่อทุกปี
จนกระทั่งปีหนึ่ง ยายแซนเผลอป้อนแสงจันทร์ให้กับทารกที่กำลังหิว ทารกน้อยจึงได้รับพลังเวทมนตร์มหาศาลแต่ไม่สามารถควบคุมได้ ยายแซนจึงต้องสะกดพลังเวทของเด็กคนนั้นไว้และเลี้ยงดูเองโดยตั้งชื่อว่า ลูน่า
ลูน่าเติบโตมาพร้อมกับมังกรจิ๋วฟีเรียน ปีศาจหนองน้ำเกลิร์ก ภูติสายลมและสรรพสัตว์ในป่า เมื่ออายุครบสิบสามปี พลังเวทของเธอจะกลายเป็นอิสระ ขณะเดียวกันทางฝั่งเมืองโพรเทคเทอเรท แอนเทน ชายหนุ่มผู้ที่กำลังจะถูกสังเวยลูกคนแรกของเขา เดินทางเข้ามาในป่าหมายจะสังหารนางแม่มดเพื่อปลดปล่อยชาวบ้านให้เป็นอิสระจากความเศร้า
เห็นเรื่องราวแฟนตาซีเด็กกุ๊กกิ๊กน่ารักแบบนี้ แฝงข้อคิดชีวิตดีๆ ไว้เยอะเหมือนกัน นอกจากเพลงจะเพราะมาก เนื้อเพลงยังสอนใจหลายๆ อย่าง เช่น การตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำสืบต่อกันมาอย่างไร้เหตุผล, อำนาจทางการเมือง, ความรักของครอบครัว, การเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ เป็นต้น
จุดเริ่มต้นกับ LUNA รอบพิเศษ The Chamber Orchestra Charity Live Concert
ซิสรู้จักกับละครเพลง LUNA ตอนปีใหม่ โชคดีที่ช่วงนั้นเขากำลังจัดแสดงรอบพิเศษเป็น LUNA: The Chamber Orchestra Charity Live Concert พอดี เลยได้ดูรอบพิเศษที่จัดเพียง 4 วัน เป็นการบรรเลงดนตรีสดโดยวงอิมมานูเอล ออร์เคสตรา วงดนตรีคลาสสิกของเด็กๆ จากชุมชนคลองเตยที่ได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิดนตรีเพื่อชีวิต
รอบพิเศษแตกต่างจากรอบปกติตรงที่เราได้ฟังเพลงเพราะๆ ถึง 20 บทเพลง ซึ่งรอบปกติได้ฟังประมาณ 7 เพลงขึ้นอยู่กับเส้นทางที่เราเลือกชม โดยผู้ชมในรอบพิเศษยังได้รู้เรื่องราวครบถ้วนกว่า เพราะตัวละครจากทุกเส้นเรื่องมาเล่าให้เราฟังว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง (แบบไม่สปอย)
ประทับใจการแสดงดนตรีสดที่สุด เพลงเพราะจนอยากขอให้ทีมงานพิจารณาทำเพลงออกอัลบั้มเถอะค่ะ 🙏 ชอบมากจนกดจองบัตรมาดูรอบแสดงปกติต่อทันที
รอบที่ 2 ผจญภัยในหมู่บ้าน: พิธีกรรมสังเวย ห้ามตั้งคำถาม ปกครองด้วยความเศร้า
ในรอบการแสดงปกติ ผู้ชมมีสิทธิ์เลือกเส้นทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นก่อนเข้าโรงละครเลยค่ะ โดยให้เลือกระหว่าง 2 เส้นทาง ได้แก่ ผจญภัยในป่า (Forest Pass) หรือผจญภัยในหมู่บ้าน (Village Pass)
ทีแรกคนสายฟรุ้งฟริ้งแฟนตาซีแบบเราอยากผจญภัยในป่าไปหาแม่มดและมังกร แต่ว่าตอนไปดูรอบออร์เคสตรา โดนเอไทน์ (นางเอกฝั่งเมือง ขออภัยหากเรียกชื่อผิด ชื่อยากมาก 😂) และสภาอาวุโสตก ชอบเพลงมากๆ โดยเฉพาะเพลงของสภาอาวุโส “อย่ายอมให้คนไร้น้ำยา มาทำชีวิตเราพัง ต้องเหนี่ยวรั้งอำนาจเอาไว้ ไม่ให้มันหลุดมือ!” ฉันจะต้องได้ฟังเพลงนี้อีกรอบ เลยเปลี่ยนใจมาผจญภัยในเมืองแทนค่ะ
“ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งกลางพงไพร
พวกผู้ใหญ่สั่งสอนให้เราอย่าถาม
หยุดสงสัย จงเชื่อ และทำตาม
ทุกข้อห้ามเพื่อความสุขของทุกคน
ต้องสังเวยทารกน้อยให้แม่มด
แว่วเสียงเศร้าสลดทุกแห่งหน
เพราะทุกปีพิธีกรรมจักเวียนวน
ยามจันทราจำแลงตนเป็นสีเงิน”
เมื่อผ่านประตูเข้าไป พวกเราก็ได้มาถึงเมืองโพรเทคเทอเรท บรรยากาศครึกครื้น ชาวบ้านออกมาต้อนรับนักผจญภัยต่างถิ่นอย่างกระตือรือร้น
พ่อค้า: พวกท่านมาจากที่ใดรึ?
ผู้ชม: มาจากบางหว้า
พ่อค้า: บางหว้าหรอ เมืองอะไรชื่อแปล๊กแปลก
ผู้ชม: เมืองท่านชื่อแปลกกว่าอีก! ข้ายังเรียกไม่ถูกเลย
หลังจากนั้นเราก็สังเกตเห็นหญิงคนหนึ่งกำลังร้องไห้ขณะอุ้มทารกน้อยไว้ ได้เวลาต่อมเผือกทำงาน! นักผจญภัยก็เข้าไปกรูสอบถามด้วยความเป็นห่วง (และอยากรู้อยากเห็น) ว่า “ท่านร้องไห้ทำไม?” หญิงสาวคนนั้นพยายามอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพวกเราทันที จนเราทราบความว่าลูกน้อยของนางกำลังจะถูกสังเวยให้แม่มดแห่งป่าในวันนี้!
เส้นทางผจญภัยในหมู่บ้านเหมาะกับคนที่ชอบเม้าท์มอย ชอบเผือก ชอบสืบ (ชอบสวมบทโคนันนั่นเอง) ทุกครั้งที่คุยกับชาวบ้าน เราจะได้รู้เรื่องราวทีละนิด เหมือนได้จิ๊กซอว์มาจากชาวบ้านแต่ละคน แล้วนำมาปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดเอง ความสนุกคือทุกคนจับกลุ่มคุยไปพร้อมกัน นักผจญภัยขี้เผือกอย่างเราต้องวิ่งไปมุมโน้นที มุมนี้ที หรือบางทียืนตรงกลางระหว่างสองกลุ่มแล้วเงี่ยหูฟังเลยจะได้เก็บข้อมูลครบ 😂
นอกจากชาวบ้านแล้ว เรายังสามารถเดินตามตัวละครอื่นๆ อย่างแอนเทนและเอไทน์ พระนางฝั่งเมือง, สภาอาวุโสผู้บ้าอำนาจ, อิกนาเชีย หัวหน้าภคินีที่มีอำนาจสูงสุดในเมือง, หญิงบ้าผู้ถูกขังในหอคอยอยู่กับเหล่านกกระดาษ
ในช่วงสุดท้าย เราได้เดินทางเข้าป่าไปกับชาวบ้านเพื่อตามหาแอนเทนที่เข้าป่าไปสังหารแม่มด นั่นเป็นจุดที่เส้นเรื่องของทุกคนไปบรรจบกันในป่าค่ะ
รอบที่ 3 ผจญภัยในป่า: แม่มด มังกรจิ๋ว ปีศาจ บ้านต้นไม้
กลับมาดูรอบที่ 3 คราวนี้ซิสเลือกผจญภัยในป่า เมื่อเข้าประตูไป นักผจญภัยหลงป่าอย่างเราจะได้พบกับภูติสายลมสุดน่ารักทั้ง 4 ทิศมาต้อนรับอย่างสนุกสนานด้วยภาษาภูติ
“ณ ป่าใหญ่ในตำนานที่ขานกล่าว
มีเรื่องราวบางอย่างซุกซ่อนไว้
พ่อแม่สอนว่าอย่าเข้าไปในไพร
อาณาจักรแม่มดร้ายมันครอบครอง
สารพันทั้งมังกร สัตว์ประหลาด
อีกปราสาทปริศนาพาสยอง
เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ให้ชวนลอง
ลมจะพาผู้กล้าล่องสู่ผืนไพร”
จากนั้นเจ้ามังกรจิ๋วฟีเรียนก็เดินมาทักทายพวกเรา น้องคือความสดใสของเรื่องนี้ 🐉 ตามมาด้วยปีศาจหนองน้ำเกลิร์กที่มีชีวิตอยู่มาตั้งแต่โลกถือกำเนิด จากนั้นลูน่า สาวน้อยที่อยากจะออกไปผจญภัยก็ตามออกมา สุดท้ายก็คือยายแซน แม่มดแห่งป่า
ซิสเลือกเดินตามยายแซนไปในป่าเพื่อรับทารกน้อยถูกทิ้งไปมอบให้ชาวดินแดนเสรีรับเลี้ยงต่อ ระหว่างเดินทางเราจะได้รู้เรื่องราวที่ยายแซนเก็บลูน่ามาเลี้ยง พร้อมป้อนแสงจันทร์ให้จนลูน่าได้รับพลังเวทมหาศาล แต่ถูกสะกดพลังเอาไว้เพราะยังควบคุมพลังไม่ได้
จากนั้นซิสก็เปลี่ยนมาตามเจ้ามังกรฟีเรียนที่ผลัดหลงกับลูน่าในป่า เพราะอยากฟังน้องร้องเพลง ‘รองเท้าในเตาผิง’ ติดใจตั้งแต่รอบออร์เคสตรา ซึ่งฟีเรียนพาพวกเราเดินหลงไปจนถึงหอคอยเก่า เจอกับปริศนาคำทายประมาณว่า
“อะไรเอ่ยติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด
แต่เราไม่ต้องการมัน
มันอยู่กับเราไปจนวันตาย
เราพยายามจะกำจัดมัน”
ฟีเรียน: พวกท่านช่วยข้าคิดหน่อยสิว่ามันคืออะไร? โยนๆ คำตอบมาก่อนก็ได้นะ
ผู้ชม: (มองหน้ากันเลิ่กลั่ก ฉันก็ไม่รู้! 😂)
ผู้ชม: ความกลัวหรอ?
ฟีเรียน: ความกลัว น่าจะใช่นะ! เอ๊ะ แต่ข้าว่าความกลัวมันก็คล้ายกับความเศร้าอยู่นะ ใช่แล้ว ยายแซนชอบบอกว่าอย่าให้ความเศร้าครอบงำ เอาไงดีล่ะ ข้าว่าความกลัวก็ใช่ ความเศร้าก็ใช่ พวกเราตอบอะไรกันดี?
ผู้ชม: เอ่อ… ความเศร้า (ตอบแบบเอ็นดูน้อง เฉลยซะขนาดนี้)
ฟีเรียน: งั้นเรามาตอบพร้อมๆ กันนะ 1! 2! 3!
ทุกคน: ความเศร้า!
ตุ๊บ! สิ้นเสียงคำตอบ รองเท้าผีสิงก็ร่วงผลุบลงมาจากเตาผิง 🥾 ฉากนี้ฮาจริง ฮาแบบตกใจอะ จู่ๆ ก็ร่วงมาแบบไม่ทันตั้งตัว ผู้ชมตกใจกระโดดหลบกันคนละทิศละทาง 😂
หลังจากนั้นพวกเราก็กลับมารวมตัวกันที่บ้านต้นไม้อีกครั้ง ลูน่ากับยายแซนได้ปรับความเข้าใจกันอย่างซาบซึ้ง เป็นความสงบก่อนพายุลูกใหญ่จะมา
คืนวันผันผ่าน~ เผลอแปปเดียวก็ผ่านไปแล้ว 1 ปี ลูน่าอายุครบ 13 ปี พลังเวทที่ถูกสะกดไว้กำลังจะคลาย ขณะเดียวกันยายแซนก็เดินทางเข้าป่าไปรับเด็กทารกเหมือนทุกปี รอบนี้ซิสตามลูน่ากับเจ้าอีกาที่เดินทางตามหายายแซน
ระหว่างเดินทาง ลูน่าก็ได้รู้เรื่องราวในอดีตที่ว่าตัวเองมีเวทมนตร์ รวมถึงบังเอิญไปปะทะกับอินาเชีย หัวหน้าภคินีที่มาตามหารองเท้าวิเศษที่ถูกขโมยไปของนาง! ลูน่าใช้เวทมนตร์โดยไม่รู้ตัวเรียกนกกระดาษมาช่วยไว้ได้
จากนั้นเจ้าอีกาได้แนะนำให้สร้างลูกแก้ววิเศษเพื่อตามหายายแซน โดยต้องใช้น้ำเป็นส่วนประกอบ แต่เพราะยายแซนสอนว่าอย่าถูกความเศร้าครอบงำ ลูน่าจึงไม่ใช้น้ำตา แต่ใช้น้ำลายแทน 💦 โอ้ย เพิ่งเคยเจอละครเพลงที่ชวนผู้ชมมาร่วม ‘ขากถุย’ น้ำลายไปด้วยกัน 🤣
ลูน่า: พวกท่านมาช่วยข้าสร้างลูกแก้ววิเศษหน่อยนะ ขอแค่เสียง ไม่ต้องกระเซ็นมาจริงๆ นะ
ลูน่า: (ร้องเพลง) ขากออกมา~
ผู้ชม: ขากกกกก~
ลูน่า: (ร้องเพลง) ถุยออกมา~
ผู้ชม: ถุย!!!!
เป็นการขากถุยน้ำลายที่น่ารักที่สุด 😂
หลังจากรู้ว่ายายแซนอยู่ที่ไหน เราก็มาถึงฉากสุดท้ายแล้ว ลูน่าเจอยายแซนที่กำลังเผชิญหน้ากับแอนเทน ซึ่งเขาเข้าป่ามาสังหารแม่มดเพื่อปกป้องลูกน้อยที่กำลังจะถูกสังเวยและปลดปล่อยชาวเมืองจากความเศร้า จากนั้นชาวเมืองก็ตามเข้ามาในป่าเพื่อช่วยเหลือแอนเทน กลายเป็นฉากที่กล่าวไปในตอนจบของเส้นทางผจญภัยในเมือง
นับถือนักแสดงและทีมงานทุกคนมาก 👏 ฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากดีงาม เพลงเพราะและเนื้อหาดีทุกเพลง นักแสดงมีไหวพริบในการด้นสดบทเพื่อคุยกับคนดู แถมยังต้องกะจังหวะการแสดงให้พอดีกับทุกเส้นเรื่องที่ดำเนินไปพร้อมกันอีก
สรุปแล้วอิ่มอกอิ่มใจ ☺️ สนุกไปกับละครเพลง LUNA และยังได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือมูลนิธิชัยพฤกษ์ ผ่านการซื้อบัตรชมละครและร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กกำพร้าและเยาวชนผู้ขาดโอกาส โดยมูลนิธินี้อยู่ภายใต้การดูแลแพทย์หญิงเคลียวพันธ์ สูรพันธ์ (ป้าหมอ) ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับละครเวที LUNA ด้วยค่ะ
ขอบคุณทีมงาน Castscape สำหรับละครเพลงดีๆ แบบนี้ รอชมเรื่องหน้านะคะ ☺️