รีวิวหนัง Marie Antoinette (2006)

รีวิวหนัง Marie Antoinette (2006) : โลกหลงของคนเหงา

0 Shares
0
0
0
0
0

#TheatreClub เรื่องที่ 44

พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ ถือเป็นตัวละครที่มีสีสันที่สุดคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส ราชินีผู้ฟุ่มเฟือยจนพาประเทศฝรั่งเศสสู่ความล่มจม พร้อมกับประโยคดังก้องโลกอย่าง “ถ้าราษฎรไม่มีขนมปังจะกิน ก็ให้พวกเขากินเค้กสิ”

ซิสเพิ่งมีโอกาสได้อ่านหนังสือ The French Revolution ที่บอกเล่าข้อเท็จจริงการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 แล้วได้ไขความเข้าใจผิดหลายๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ พระนางมารีไม่เคยพูดประโยคเค้กอันโด่งดัง รวมถึงได้รู้เรื่องราวมากขึ้น อย่างพระนางเป็นเจ้าหญิงที่มาจากประเทศออสเตรีย ศัตรูตลอดกาลของฝรั่งเศส และถูกจับแต่งงานกับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 องค์รัชทายาทของฝรั่งเศสตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี

นั่นทำให้อยากรู้จักพระนางมารี อังตัวเน็ตต์มากขึ้น เจ้าหญิงวัยรุ่นที่ถูกเลี้ยงมาอย่างอิสระ ต้องกลายมาเป็นว่าที่ราชินีของประเทศศัตรู ทำไมพระนางถึงเพิกเฉยต้องความอดอยากของประชาชน จนท้ายที่สุดต้องพบจุดจบบนเครื่องประหารกิโยติน

Marie Antoinette (2006) ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของ ‘เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนีย’ แห่งออสเตรีย สู่การเป็น ‘เจ้าหญิงมารี อังตัวเน็ตต์’ พระชายาขององค์รัชทายาทฝรั่งเศส ขึ้นเป็นราชินีที่ประชาชนและเหล่าขุนนางชิงชัง จนถึงวันที่ต้องบอกลาพระราชวังแวร์ซายไปตลอดกาล

เรื่องนี้มีนักแสดงหน้าคุ้นหลายคนเลย ทั้งเจมี่ (Jamie Dornan) พระเอก Fifty Shades of Grey, พี่ทอม (Tom Hardy) หนุ่มบริติชที่ทำซิสใจละลายทุกเรื่อง, และ คริสเตน ดันสท์ (Kirsten Dunst) สาวสวยจากความทรงจำในวัยเด็กของซิสที่แสดงหนังสนุกหลายๆ เรื่องช่วง 90s – 2000s เรื่องนี้ก็เช่นกัน คริสเตนในบทพระนางมารีทำให้เราอินจนน้ำตาคลอ ทั้งที่เป็นตัวร้ายในหน้าประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส แต่ก็ยังทำให้รู้สึกเห็นใจ

เรื่องราวในหนังค่อนข้างตรงกับหนังสือ The French Revolution ซึ่งการรู้ประวัติศาสตร์มาก่อนช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์ในหนังขึ้นเยอะ โดยเฉพาะสาเหตุว่าทำไมถึงเกิดการปฏิวัติ เข้าใจความโกรธแค้นของราษฎรฝรั่งเศส ซึ่งถ้าดูแค่หนังเรื่องนี้ อาจจะไม่เข้าใจถึงความทุกข์ทนของประชาชนมากนัก เพราะตามชื่อหนัง Marie Antoinette หนังถ่ายทอดเพียงมุมมองของพระนางมารีที่ไม่เคยออกไปเห็นโลกแห่งความจริงนอกวังเลย

ตลอดเกือบ 2 ชั่วโมง เราเห็นแต่พระราชวังแวร์ซายที่ยิ่งใหญ่อลังการ งานเลี้ยงหรูหรา เสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องเพชร มีอาหารสดใหม่อยู่ทุกที่ ชีวิตของเหล่าชนชั้นสูงที่เล่นวิ่งไล่จับกันในวัง เล่นพนัน ปาร์ตี้ยันเช้า ชีวิตหรูหราจนทำเอาเราเกือบลืมไปเลยว่า นี่เป็นยุคเดียวกันกับที่ประชาชนชาวฝรั่งเศสกำลังอดตาย ไม่มีแม้แต่ขนมปังจะกิน

ชอบการที่หนังใช้เพลงป็อปสมัยใหม่เป็นเพลงประกอบ ทีแรกก็แปลกใจ แต่ไปๆ มาๆ มันดูลงตัวดี สามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ในหนังซึ่งเกิดในช่วง 1770s – 1790s กับยุคปัจจุบัน ซึ่งทำให้เรามองเจ้าหญิงมารีในมุมของเด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งมากขึ้น

⚠️ รีวิวต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของหนัง

หนังเปิดเรื่องมาที่ชีวิตวันสุดท้ายในประเทศออสเตรียของเจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียแห่งออสเตรีย ก่อนที่พระองค์จะออกเดินทางไปเริ่มชีวิตใหม่ในฝรั่งเศสในฐานะพระชายาของ เจ้าชายหลุยส์ออกุสต์ (พระนามเดิมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16) องค์รัชทายาทแห่งฝรั่งเศส

พระนางเป็นเจ้าหญิงผู้เลอโฉมที่สุดพระองค์หนึ่ง ยิ้มแย้มแจ่มใส อัธยาศัยดี ชอบกอดทักทาย มีท่าทีสบายๆ ไม่หวงตัว อีกทั้งยังมีเสียงอันไพเราะและปรีชาสามารถทางด้านดนตรี ถ้ามองจากยุคปัจจุบัน พระนางคงได้เป็นไอดอลชื่อดังอย่างแน่นอน

แต่ไม่ใช่กับยุคสมัยที่พระองค์มีชีวิตอยู่ ความเป็นกันเองของเจ้าหญิงมาเรียถูกมองว่าเป็นกิริยาที่ไม่เหมาะสม ท่าทีสดใสร่าเริงของเจ้าหญิงวัย 14 ปีคนนี้ถูกตำหนิว่า ‘ดูเด็ก’ ซึ่งดูแปลกในสายตาของเชื้อพระวงศ์ชนชั้นสูงของประเทศมหาอำนาจ

นั่นอาจเพราะพระนางเป็นองค์หญิงลำดับที่ 14 จาก 16 คนของจักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จึงถูกเลี้ยงดูมาแบบอิสระจนแทบจะเหมือนสามัญชน  อบรมสั่งสอนแบบปล่อยปะละเลยโดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งเพิ่งจะได้รับการใส่ใจและเข้มงวดก่อนหน้าที่จะแต่งงานเพียง 1 ปี

เมื่อเจ้าหญิงมาถึงฝรั่งเศส นางถูกบอกให้บอกลาทุกอย่างที่เป็นออสเตรีย ทั้งเพื่อน เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ กิริยามารยาท แม้แต่สุนัขทรงเลี้ยงแสนรักก็ต้องเปลี่ยนมาเลี้ยงสุนัขของฝรั่งเศสแทน รวมถึงชื่อก็ถูกเปลี่ยนเป็นภาษาฝรั่งเศส จาก ‘มาเรีย แอนโทเนีย’ เป็น ‘มารี อังตัวเน็ตต์

หลังจากพบหน้าพระคู่หมั้นเป็นครั้งแรก ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นเจ้าหญิงวัย 14 และเจ้าชายวัย 15 ปีก็เข้าพิธีอภิเษกสมรส  และในคืนนั้นทุกคน (กษัตริย์, บาทหลวง, เชื้อพระวงศ์, ข้าราชบริพารอีกหลายสิบชีวิต) ต่างมารวมกันที่ห้องนอนเพื่ออวยพรให้คู่บ่าวสาวมีรัชทายาทที่แข็งแรง

‘So awkward! So awkward! So awkward!’

ตั้งแต่ที่ทั้งคู่พบกันในป่าจนถึงฉากบนเตียงนี้ ซิสได้แต่ตะโกน ‘So awkward’ ในใจซ้ำไปมา อึดอัดแทนจริงๆ เด็กวัยรุ่นแปลกหน้าสองคนที่เพิ่งพบกันวันแรก ก็ถูกคาดหวังให้มีรัชทายาทสืบสกุลโดยเร็วที่สุด แม้จะเรื่องปกติในยุคสมัยนั้นก็ตาม

ในช่วงปีแรกๆ ทั้งคู่เป็นสามีภรรยากันเพียงในนามเท่านั้น อาจเพราะยังเด็กและมีนิสัยใจคอแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เจ้าชายหลุยส์ออกุสต์ ทรงปรีชาสามารถในด้านการเรียน รักการอ่าน ชอบการล่าสัตว์ และติดเพื่อน เป็นเหมือนเด็กวัยรุ่นชายทั่วไปที่ชอบใช้เวลาอยู่กับแก็งเพื่อนผู้ชาย ทำอะไรห่ามๆ สนุกๆ ด้วยกัน

ในขณะที่เจ้าหญิงมารี ไม่ถนัดด้านการเรียนก็จริง แต่ทรงปรีชาสามารถในด้านดนตรีอย่างมาก ชอบแต่งตัวสวยๆ นำเทรนด์แฟชั่น โปรดปรานมหรสรรพและงานเลี้ยง เป็นเหมือนเด็กสาววัยรุ่นสายตี้นั่นเอง

พระสวามีชอบตื่นเช้า ส่วนพระชายาชอบนอนเช้า นิสัยแทบจะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง แล้วด้วยความที่ยังเยาว์วัยทั้งคู่ จึงต่างคนต่างสนใจแต่เรื่องของตัวเอง ไม่ได้พยายามปรับตัวเข้าหากัน

ในมุมนี้ค่อนข้างเห็นใจเจ้าหญิงวัยเยาว์พระองค์นี้ ไม่ว่าจะไปที่ไหน ชนชั้นสูงรอบข้างต่างพากันซุบซิบนินทา ถึงขนาดคำว่า “ผู้หญิงออสเตรียคนนั้น” ถือว่าเป็นคำเหยียดพระนาง พระสวามีก็ไม่สนใจ แล้วยิ่งน้องสะใภ้ (ภรรยาของน้องชายสามี) ให้ประสูติองค์ชายองค์แรกก่อน ในขณะที่พระนางอภิเษกสมรสมาแล้วหลายปี ก็ยังไม่มีทายาท ทั้งที่นั่นเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด

จากที่เคยมีรอยยิ้มตลอดเวลา พระนางมารีก็เก็บตัวร้องไห้อย่างหนักคนเดียว ราวกับว่าทำหน้าล้มเหลวในฐานะเจ้าหญิง เพราะไม่มีทายาทสักที

แต่พระนางก็กลับมาร่าเริงอย่างรวดเร็ว รับมือความเศร้าด้วยการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เหมือนกับเวลาเราเศร้าแล้วรับมือด้วยการช้อปปิ้ง นอกจากใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพราะเป็นความสุขไม่กี่อย่างของพระองค์ คงอาจจะอยากประกาศศักดาถึงความเป็นเจ้าหญิงจากประเทศมหาอำนาจด้วย เพราะขุนนางรอบข้างต่างก็ไม่ชอบนางที่มาจากประเทศศัตรู

นั่นเป็นอีกหนึ่งความลำบากใจที่พระนางมารีต้องเผชิญ คือการอยู่ตรงกลางระหว่าสองประเทศ อย่างเมื่อคราวโปแลนด์จะทำสงครามกับรัสเซียและออสเตรีย มีข่าวลือว่าฝรั่งเศสจะร่วมมือกับโปแลนด์ หมายความว่า ประเทศบ้านเกิดและประเทศที่พระนางจะปกครองจะเป็นศัตรูกันในศึกนั้น

“แล้วข้าจะทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่ตรงกลางระหว่างสองครอบครัว ข้าควรจะเป็นออสเตรียหรือพระชายาแห่งฝรั่งเศส?”

พระนางมารีถามเอกอัครราชทูตแมร์ซี ที่ปรึกษาคนสนิท ซึ่งเขาตอบกลับอย่างอึกอักว่า “ท่านต้องเป็นทั้งสอง”

ตามหน้าประวัติศาสตร์แล้ว พระนางเลือกที่จะแทรกแซงสงครามและนโยบายบางอย่างที่เอื้อประโยชน์ให้แก่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ประเทศของเสด็จแม่ ในขณะที่ฝรั่งเศสไม่ได้อะไรเลย จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้ประชาชนและขุนนางพากันเกลียดชังพระนางที่เลือกประเทศบ้านเกิดมากกว่าประเทศที่ตัวเองปกครอง

เมื่อคิดดีๆ ฝรั่งเศสแทบไม่เคยดีกับพระนางเลย ในขณะที่บ้านเกิดอย่างออสเตรียและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ดีกับพระนางมาตลอด จึงไม่แปลกใจที่พระนางจะเข้าข้างประเทศของสายเลือดตัวเอง แต่การตัดสินใจอาจไม่ถูกต้องเมื่อมองจากสถานะของพระองค์ และคนที่ต้องรับเคราะห์กรรมคือประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจเลย

พระนางมารีเองรับทราบถึงความอดอยากของประชาชน แม้พระนางจะไม่ได้พูดประโยคเค้กอันโด่งดัง แต่พระนางก็ให้ความเห็นเพียงว่า “เดี๋ยวพระสวามีก็แก้ไขปัญหาเอง” หากเป็นไปตามในหนัง เหมือนว่าพระนางจะเข้าใจว่า หน้าที่ของราชินีมีเพียงแค่การให้ประสูตรและเลี้ยงดูรัชทายาท ส่วนหน้าที่การบริหารบ้านเมือง ดูแลทุกข์สุขของประชาชนเป็นของกษัตริย์และขุนนนาง

มีฉากหนึ่งที่พระนางสร้าง fairy tale village เป็นเหมือนหมู่บ้านชนบทไว้ในพื้นที่วังส่วนพระองค์ พระนางและเหล่านางในจะสวมบทบาทเล่นเป็นชาวไร่ชาวนาตามชนบทที่อุดมสมบูรณ์ เลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ ปลูกพืชผัก รีดนมวัวดื่ม เหมือนเล่นบ้านตุ๊กตาในวังโดยที่ไม่เคยออกไปเห็นชีวิตจริงของชาวชนบทฝรั่งเศสที่กำลังจะอดตายเลย

“ไม่ใช่พะย่ะค่ะ นี่ไม่ใช่การก่อความไม่สงบ มันคือการปฏิวัติ”

– ดยุคแห่งโรเชอร์ฟูโคลด์ ขุนนางฝ่ายเสรีนิยม ทูลตอบพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เรื่องเหตุการณ์ทลายคุกบัสตีย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ

ท้ายที่สุด กองทัพปฏิวัติและประชาชนที่สิ้นศรัทธาในราชวงศ์ก็ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อชีวิตตัวเอง พวกเขาเคลื่อนพลมายังพระราชวังแวร์ซาย พระนางมารีออกมายืนที่ระเบียง มองดูประชาชนที่กราดเกรี้ยวถือคบเพลิงอยู่เต็มลานพระราชวัง นั่นคงเป็นครั้งแรกที่พระนางได้มองเห็นราษฎรของพระนางอย่างแท้จริง ชีวิตที่เคยอยู่ในความรับผิดชอบของราชสำนัก

พวกเขาให้เชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ ลี้ภัยออกนอกประเทศไป ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ พระราชโอรสและพระราชธิดา ยอมรับชะตากรรมแต่โดยดี อยู่จนวินาทีสุดท้ายที่บัลลังก์ถูกพรากไป

ราชอาณาจักรฝรั่งเศสล่มแล้ว สาธารณรัฐฝรั่งเศสจงเจริญ

สรุปแล้ว หนังเรื่องนี้ทำให้เราได้เห็นพระนางมารี อังตัวเน็ตต์ในฐานะ ‘คนคนหนึ่ง’ มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ตัวร้ายในหนังสือประวัติศาสตร์ — เป็นเด็กสาวขี้เหงาที่ต้องมาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง(ที่ไม่ค่อยต้อนรับตัวเอง) เป็นลูกที่จงรักภักดีต่อแม่ เป็นเจ้าหญิงที่เพิกเฉยต่อสถานการณ์บ้านเมือง เป็นเจ้านายที่ใจกว้าง เป็นราชวงศ์ที่ไม่รับผิดชอบต่อราษฎร เป็นแม่ที่รักและดูแลลูกๆ อย่างดีที่สุด เป็นภรรยาที่ร่วมหัวจมท้ายกับสามี เป็นราชินีที่ล้มเหลว และเป็นบทเรียนให้กับพวกเราสืบต่อไป



0 Shares
You May Also Like
รีวิวอนิเมะ Kakuriyo no Yadomeshi (2018)

รีวิวอนิเมะ Kakuriyo no Yadomeshi (2018) : นายท่านอสูรกับเจ้าสาวมนุษย์ของเขา

อนิเมะมิตรภาพและเสริมแรงบันดาลใจ เมื่อ 'อาโออิ' มนุษย์สาวที่มีพลังวิญญาณแกร่งกล้าถูก 'นายท่านอสูร' ลักพาตัวมาเป็นเจ้าสาวชดใช้หนี้
รีวิวอนิเมะ Hakkenden Touhou Hakken Ibun (2013) ฮัคเคนเด็น

รีวิวอนิเมะ Hakkenden Touhou Hakken Ibun (2013) : มิตรภาพลูกผู้ชายครองใจสาวๆ รวมตำนานเทพและปีศาจญี่ปุ่น

ตำนานประหลาดสุนัขทั้งแปดแห่งบูรพาทิศ อนิเมะมิตรภาพลูกผู้ชายที่ครองใจสาวๆ อาหารตามาเต็มเรื่อง สนุกและเต็มไปด้วยตำนานเทพปีศาจของญี่ปุ่น

รีวิวอนิเมะ Record of Ragnarok : มหาศึกสุดท้าย คน vs เทพ อนิเมะสุดเฟี้ยวแห่งปี

การประลองตัวต่อตัวระหว่าง 13 มนุษย์ผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ vs 13 เทพเจ้าจากหลากหลายตำนาน เดิมพันด้วยความอยู่รอดของมนุษยชาติ

รีวิวอนิเมะ My Happy Marriage (2023) : ขอให้รักเรานี้ได้มีความสุข

ซินเดอเรลล่าเวอร์ชันอนิเมะญี่ปุ่นย้อนยุค ความรักระหว่างพระเอกผู้สูงส่งเย็นชากับนางเอกผู้อ่อนหวานเรียบร้อย เบาสมองฮีลใจ 💕

รีวิวหนัง The Human Race (2013)​ : หยุดวิ่งมึงตาย!

นี่เป็นหนังสนับสนุนเหตุผลที่ดีว่าทำไมเราถึงควรฝึกวิ่งมาราธอนทุกวัน เมื่อคนกลุ่มหนึ่งถูกจับมาวิ่งแข่งนรก ต้องวิ่งไปจนกว่าจะเหลือผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว