สรุปหนังสือ Output Thinking

สรุปหนังสือ Output Thinking : เทคนิคการคิด สร้าง Output ที่ทรงพลัง

1 Shares
0
0
1
0
0

#ReadersGarden เล่มที่ 80

คุณคาคิอุจิ ทาคาฟุมิ ผู้เขียน (credit: honjitsukoryo)

ตอนเห็นหน้าปกก็สงสัยอยู่ว่าทำไมถึงเป็นรูปข้าวปั้น 🍙 ข้าวปั้นเกี่ยวอะไรกับความคิด พออ่านแล้วก็อ๋อ ‘เทคนิคความคิด’ ในหนังสือเล่มนี้สามารถเปลี่ยนข้าวปั้นซึ่งเป็นเมนูพื้นฐานของชาวญี่ปุ่นให้มีเสน่ห์และเพิ่มยอดขายได้

แม้แต่เรื่องที่ธรรมดาที่สุดก็พิเศษขึ้นมาได้เพียงเปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งคุณคาคิอุจิ ทาคาฟุมิ บรรณาธิการผู้ปลุกปั้นสร้างหนังสือขายดีมาแล้วกว่า 50 เล่ม ยอดขายรวมกันทะลุ 10 ล้านเล่ม จะมาถ่ายทอดเทคนิคการคิดที่ช่วยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือเพิ่มคุณค่าสิ่งที่มีอยู่แล้วได้ในเล่มนี้

กรณีศึกษา: ทำให้หนังสือเก่ากลายเป็นหนังสือขายดีอีกครั้ง!

หนึ่งในกรณีศึกษาที่ซิสชอบในเล่มนี้คือ คุณคาคิอุจิสามารถทำให้หนังสือที่วางขายมาตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อน กลายมาเป็นหนังสือขายดีในปัจจุบันที่มียอดขายกว่า 4 แสนเล่มได้! (สำหรับญี่ปุ่นยุคนี้ หากขายได้เกิน 30,000 เล่มถือว่าเป็นหนังสือขายดี) 

หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า วิธีใช้ชีวิตแบบ ‘โนบิตะ’ ของอาจารย์โยโกยามะ ยาสุยูกิ ซึ่งเป็นหนังสือแนวพัฒนาตัวเองสำหรับนักธุรกิจและคนทำงานวัยหนุ่มสาว คุณคาคิอุจิสังเกตว่าทางสำนักพิมพ์ได้รับไปรษณียบัตรจากผู้อ่านวัยประถมค่อนข้างเยอะ ใจความว่าหนังสือเล่มนี้อ่านง่ายและสนุก ใช้สำหรับเขียนแสดงความคิดเห็นในการบ้านหรือรายงานได้ เขาจึงตรวจสอบข้อมูลการขายเพิ่มเติมและพบว่ากลุ่มลูกค้าที่ซื้อหนังสือเล่มนี้เพิ่มขึ้นคือ ผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป เขาจึงเข้าใจว่ากลุ่มผู้ซื้อคงเป็นเหล่าคุณแม่ของเด็กๆ ที่ส่งไปรษณียบัตรมานี้เอง 

คุณคาคิอุจิจึงบิดจุดขายของหนังสือจาก ‘หนังสือพัฒนาตัวเองของวัยหนุ่มสาว’ มาเป็น ‘หนังสือสนุกและอ่านง่ายที่เด็กๆ เอาเขียนรายงานแสดงความคิดเห็นได้’ และย้ายชั้นวางขายจาก ‘มุมหนังสือพัฒนาตัวเอง’ มาเป็น ‘มุมหนังสือเด็ก’ การทำเช่นนี้ทำให้ยอดขายพุ่งขึ้นแบบปุ๊บปั๊บจนกลายเป็นหนังสือขายดี 

วิธีคิดของคุณคาคิอุจิในกรณีนี้เรียกว่า เทคนิคการบิด ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าใหม่ๆ จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว 

นี่เป็นตัวอย่างว่าเทคนิคการคิดช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลลัพธ์ได้ยังไงบ้าง ก่อนอื่นมาดูกันค่ะว่า Output Thinking คืออะไร



Output Thinking คืออะไร

Output Thinking คือวิธีการคิดเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย โดยเน้นที่กระบวนการ ขั้นตอน การกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้า แตกต่างจาก Outcome Thinking ซึ่งเป็นวิธีคิดเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายเช่นกัน แต่จะเน้นที่ผลลัพธ์เป็นหลัก โดยไม่ได้สนวิธีการมากเท่ากับ Output Thinking

กระบวนการคิดของมนุษย์คล้ายกับการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่มี 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ Input คือการรับข้อมูล, Process การประมวลผลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์, และ Output ผลผลิตที่ออกมา

Input → Process → Output

ตัวอย่างง่ายๆ ของคอมพิวเตอร์ เช่น เราป้อนข้อมูล Input ผ่านแป้นพิมพ์ว่า “24 x 7” → ซอฟต์แวร์ทำการประมวลผล → Output แสดงบนหน้าจอว่า “168”

แม้ว่าการทำงานของสมองมนุษย์จะซับซ้อนกว่านั้น แต่ขั้นตอนการคิดพื้นฐานก็ยังเหมือนกัน เรารับสารข้อมูลต่างๆ จากนั้นเริ่มคิดเกี่ยวกับมัน แล้วแสดงการกระทำออกมา เช่น 

  • เพื่อนสนิทพูดชมเชยเราด้วยน้ำเสียงยินดี (Input) → เราคิดว่าคำพูดนั้นทำให้เรามีความสุข (Process) → เรากล่าวขอบคุณจากใจจริง (Output) 
  • คู่อริพูดชมเชยเราด้วยน้ำเสียงแดกดัน (Input) → เราคิดว่าคำพูดนั้นทำให้เราโมโห (Process) → เราพูดแดกดันกลับไป (Output)
  • คู่อริพูดชมเชยเราด้วยน้ำเสียงแดกดัน (Input) → เราคิดว่าคำพูดนั้นไม่มีค่าพอให้ใส่ใจ (Process) → เรากล่าวขอบคุณอย่างไม่ใส่ใจ (Output)

จะเห็นว่า Output จะออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับ Input และ Process หรือกระบวนการคิดของเราค่ะ 

หนังสือเล่มนี้จะเน้นไปที่การฝึก ‘เทคนิคการคิด’ หรือ Process อย่างที่คำโปรยหนังสือว่าไว้ว่า ไม่ว่า Input จะแย่แค่ไหน คุณก็สามารถสร้าง Output ที่ทรงพลังได้ (หากมีเทคนิคการคิดที่ดี)

3 ขั้นตอนการคิดสู่เป้าหมาย

ตั้งเป้าหมายและโจทย์ → Input ข้อมูลและจัดระเบียบ → การคิด → ลงมือทำ → ผลลัพธ์

1. ตั้งเป้าหมายและโจทย์: การคิดควรเริ่มต้นจากตั้ง ‘เป้าหมาย’ และ ‘โจทย์’ จะได้ไม่หลงทางในวังวนความคิด เช่น 

  • เป้าหมาย = อยากเก็บเงินให้ได้ 700,000 บาท ภายใน 1 ปี
  • โจทย์ = ต้องเพิ่มเงินเก็บอีกเดือนละ 50,000 บาท, ต้องหารายได้เพิ่มอีกเดือนละ 30,000 บาท, ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายลงเดือนละ 15,000 บาท 

2. Input ข้อมูลและจัดระเบียบ: Input ข้อมูลที่จะช่วยแก้โจทย์และมุ่งสู่เป้าหมาย หากเรายังคิดไม่ออก แสดงว่าเรายังขาด Input หรือวัตถุดิบข้อมูลอยู่ สามารถหา Input ได้จากทั้งการพูดคุยกับคนอื่นๆ หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต หรือผ่านประสบการณ์ตรง

Input สำหรับตัวอย่างเป้าหมายการเก็บเงิน เช่น ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการออม การลงทุนจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญหรือผ่านอินเตอร์เน็ต 

บางคนกลัวความผิดพลาดจนไม่กล้าลงมือหา Input ซึ่งคุณคาคิอุจิแนะนำว่า ความผิดพลาดนี่แหละคือ Input ที่แข็งแกร่งที่สุด เพราะความผิดพลาดมักจะมาพร้อมกับความเจ็บปวด เป็นประสบการณ์ที่รุนแรงและตราตรึงอยู่ในใจ แต่สุดท้ายแล้วมันจะมีประโยชน์ในการตัดสินใจครั้งต่อๆ ไป ดังนั้นอย่ามัวแต่กลัวความผิดพลาดจนไม่ได้ลงมือทำ

3. การคิด = คิดกว้าง + คิดลึก: การคิดกว้าง หมายถึง คิดถึงความเป็นไปได้ทั้งหมด เช่น สร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และการให้กำเนิดคุณค่าใหม่ๆ ส่วนการคิดลึก หมายถึง คิดถึงคุณค่าที่เป็นแก่นแท้ของบางสิ่ง รวมถึงที่มาที่ไปของสิ่งๆ นั้น

ตัวอย่างเทคนิคการคิด

คุณคาคิอุจิได้สรุปเทคนิคการคิดไว้ทั้งหมด 12 เทคนิค โดยแบ่งเป็น 6 เทคนิคคิดกว้างและ 6 เทคนิคคิดลึก :ซึ่งเราสามารถใช้เทคนิคแต่ละแบบเดี่ยวๆ หรือนำมาผสมผสานรวมกันก็ได้ ขอยกตัวอย่าง 3 เทคนิคที่ชอบทุกสุดในเล่มดังนี้ค่ะ

1. เทคนิคทวีคูณ: เป็นหนึ่งในเทคนิคคิดกว้างที่ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้กว้างขึ้นตามปรัชญาการเชื่อมต่อจุด (connect the dots) คือนำสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยเจอกันมาก่อนมารวมกันให้กลายเป็นสิ่งใหม่ เช่น 

  • พัดลม x มือ = พัดลมมือถือ ซึ่งกลายเป็นสินค้ายอดนิยมในหน้าร้อนแทนพัด
  • หนังสือฝึกคันจิ x อึ = หนังสืออึฝึกคัดคันจิ การฝึกคัดคันจิเป็นการเรียนภาคบังคับของเด็กชาวญี่ปุ่น ส่วนอึเป็นคาแรคเตอร์การ์ตูนที่นิยมในหมู่เด็กๆ (จริงดิ? 🧐) ดังนั้นหนังสืออึฝึกคัดคันจิจึงกลายเป็นหนังสือขายดีในหมู่เด็กๆ 
  • วัด x ดอกไม้ x Instagram = มีวัดแห่งหนึ่งที่มีจุดเด่นที่มีสวนดอกไม้สวย จึงได้เริ่มถ่ายรูปบรรยากาศสวนสวยๆ ในวัดลง Instagram จากนั้นคนที่มาเยี่ยมชมวัดก็มักจะถ่ายรูปลง Instagram ตามจนเป็นการโปรโมท ปัจจุบันวัดแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมไปแล้ว

2. เทคนิคบิด: การบิดมุมมองเพื่อค้นหาคุณค่าใหม่ๆ ในสิ่งที่มีอยู่แล้ว สามารถใช้กับสินค้าหรือบริการที่มีอยู่ แต่ยอดขายไม่ดีเหมือนดั่งเช่นกรณีศึกษาที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ที่ทำให้หนังสือเก่ากลายเป็นหนังสือขายดีในปัจจุบัน หรือสามารถใช้ในเรื่องของความสัมพันธ์ ความรัก ทรัพย์สินที่เรามีอยู่แล้ว แต่อยากเพิ่มคุณค่าใหม่ๆ ให้กับสิ่งนั้น

สิ่งสำคัญของเทคนิคการบิดคือ การช่างสังเกต ตั้งใจมอง การเปิดใจรับฟังเพื่อให้ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ เหมือนดั่งที่คุณคาคิอุจิสังเกตเรื่องไปรษณียบัตรจากเด็กๆ วัยประถมที่ส่งมาขอบคุณหนังสือวิธีใช้ชีวิตแบบ ‘โนบิตะ’ หากคุณคาคิอุจิแค่อ่านแล้วปล่อยผ่านไป หนังสือเล่มนี้คงไม่กลายเป็นหนังสือขายดีในปัจจุบัน

ซื้อหนังสือ: นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya

3. เทคนิควลีติดปาก: หนึ่งในเทคนิคคิดลึกที่ช่วยเกลาให้ถ้อยคำต่างๆ มีเสน่ห์น่าประทับใจ จับต้องได้ และติดหูคนจนนำไปสู่เป้าหมาย เป็นการสร้างเสน่ห์ในสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยตัวผลิตภัณฑ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย

เช่น การทำให้ร้านอาหารจีนเก่าแก่ในเมืองกลายเป็นเทรนด์ยอดนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ด้วยคำติดปากว่า “มาจิจูกะ” (จีนเมือง) แต่เดิมร้านอาหารจีนเหล่านี้เปิดกิจการมานานหลายสิบปีโดยไม่เคยมีใครให้ความสนใจเป็นพิเศษ จนกระทั่งมีคนในโซเชียลมีเดียตั้งชื่อให้ว่า “มาจิจูกะ” คำนี้กลายเป็นกระแสที่ทำให้คนสนใจไปลองร้านอาหารจีนเก่าแก่มากขึ้นและใช้คำนี้ในการเขียนรีวิวบนโลกออนไลน์ ส่งผลให้เรียกลูกค้าได้อย่างถล่มทลาย

จะเห็นว่าตัวร้านไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปเลย อาศัยเพียงคนรอบข้างมองเห็นคุณค่า ตั้งชื่อให้ใหม่แล้วนำไปบอกต่อ 

หากใครเผชิญปัญหาความคิดอุดตันบ่อยๆ คิดไม่ออก คิดแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ คิดแล้วแต่ดันซ้ำ แนะนำหนังสือ Output Thinking เล่มนี้เลยค่ะ

🍪 คุยเล่นกับซิสได้ที่ Instagram และ Facebook
🎁 ดาวน์โหลดฟรี digital products บน Ko-fi



1 Shares
You May Also Like
รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร

รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร : เทพตกอับกับราชาผีคลั่งรัก

'องค์ไท่จื่อเซี่ยเหลียน' ลูกรักของสวรรค์กลับตกอับจนถูกเรียกว่าเทพขยะ แต่ทำไม 'ราชาผีฮวาเฉิง' ผู้ยิ่งใหญ่ถึงมาตามติดเขาต้อยๆ ได้ล่ะเนี่ย

สรุปหนังสือเจ้าชายน้อย: 4 ข้อคิดจากเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่คนนี้เคยเป็น

วรรณกรรมอมตะสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนที่หวนคิดถึงตัวตนในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ ความกล้าหาญ ความฝัน และความเชื่อว่าตัวเองทำได้ทุกอย่าง
สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก

สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก : คัมภีร์แห่งการรักตัวเอง

รวม 9 ข้อคิดดีๆ จากหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก 💋 ที่จะทำให้คุณหันมาให้เกียรติตัวเองในช่วงเวลาที่หลงรักคนอื่นจนหลงลืมที่จะรักตัวเอง
สรุปหนังสือ ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

สรุปหนังสือ The Asshole Survival Guide : ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

คู่มือรับมือคนเฮงซวยที่ช่วยให้เรารักษาชีวิตอันแสนสงบสุขด้วยการตัด “ปัญหาคนเฮงซวย” ทั้งแบบชั่วคราวและเรื้อรังอย่างฉลาดและบาดเจ็บน้อยที่สุด
สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ (Four Thousand Weeks)

สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ : 4 ข้อคิดในการบริหารเวลาชีวิต

"เพราะเราไม่ได้มีเวลา แต่เราคือเวลา" เมื่อเวลามีจำกัด แต่เรายังมีสิ่งมากมายบนโลกที่อยากทำ เราจะบริหารเวลาอย่างไรเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย
สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่

สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่ : 3 วิธีดับความหัวร้อน

อย่าสิ้นเปลืองเวลาและพลังงานไปกับการสู้กับคนโง่เลย เพราะเป้าหมายสำคัญกว่าความสะใจเพียงชั่วคราว มาดูวิธีดับความหัวร้อนจากเล่มนี้กัน