#ReadersGarden เล่มที่ 47
การเริ่มต้นธุรกิจอาจจะเป็นเรื่องง่ายในยุคออนไลน์ แต่การบริหารให้ธุรกิจทำกำไรนั้นไม่ง่ายเลย การจะทำให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนยากยิ่งกว่า แต่ที่ญี่ปุ่นกลับมีบริษัทอายุมากกว่า 100 ปีมากที่สุดในโลก โดยมีมากกว่า 33,000 บริษัท (ข้อมูลจาก Teikoku Data Bank, 2019) และมีบริษัทที่มีอายุมากกว่า 200 ปีมากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยคิดเป็น 56% ของทั้งหมด (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศเกาหลีได้, 2008)
อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ธุรกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างยั่งยืนมาได้นับศตวรรษ?
คำตอบคือ… ริเน็นซึ่งเป็นปรัชญาในการทำธุรกิจ โดยดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ (อาจารย์เกด) มาเผยวิถีทางสร้างธุรกิจให้สำเร็จและยั่งยืนด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่นไว้ในหนังสือริเน็น Rinen เล่มนี้
บริษัทต้นไผ่ vs บริษัทต้นสน
อาจารย์เกดเปรียบเทียบบริษัทกับต้นไม้เป็น 2 ประเภท แบบแรกคือ ‘บริษัทต้นไผ่’ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่อาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แบบที่สองคือ ‘บริษัทต้นสน’ ที่เติบโตอย่างช้าๆ มั่นคงและยั่งยืน
ความแตกต่างระหว่างบริษัทต้นสนกับบริษัทต้นไผ่คือ
- เป้าหมายของบริษัท : บริษัทต้นสนให้ความสำคัญกับการทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้นและพัฒนาสังคม มากกว่ามองแค่เรื่องผลกำไรเพียงอย่างเดียว
- ลำดับความสำคัญของผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท : ลำดับความสำคัญของบริษัทต้นสนคือ พนักงาน > คู่ค้าทางธุรกิจ > ลูกค้า > สังคม > ผู้ถือหุ้น เพราะถ้าพนักงานมีความสุข พวกเขาย่อมสร้างคุณค่าดีๆ ให้กับลูกค้าและสังคมได้ จากนั้นผลกำไรก็จะตามมาทำให้ผู้ถือหุ้นพึงพอใจได้ แตกต่างจากบริษัทต้นไผ่ที่ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นเป็นลำดับแรก จึงให้ความสำคัญกับผลกำไรเป็นหลัก
หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงกรณีศึกษาของบริษัทต้นสนจากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งร้านอาหาร, โรงงานสปริง, บริษัทรับรีโนเวทบ้าน, บริษัทแท็กซี่ และอีกมากมาย โดยเป็นธุรกิจญี่ปุ่นอายุ 20 – 500 ปี และมีผลประกอบการทางธุรกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 20 ปีติดต่อกัน ธุรกิจเหล่านี้สามารถเติบโตได้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่
จุดร่วมของบริษัทต้นสนเหล่านี้คือ การสร้างและยึดถือริเน็น ซึ่งเปรียบเสมือนรากที่แข็งแกร่งคอยยึดเหนี่ยวให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยริเน็นจะถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่นและถ่ายทอดให้กับคนในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ
ความหมายของริเน็น
‘ริเน็น’ หมายถึงเหตุผลที่เกิดจากสติหรือปรัชญา ในทางธุรกิจจึงหมายถึง แนวทางประพฤติปฏิบัติของบริษัทที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงจากประสบการณ์ของผู้ก่อตั้งธุรกิจ มักกล่าวถึงประโยชน์ที่บริษัทต้องการส่งมอบให้ลูกค้าและสังคม
แต่ละบริษัทมีริเน็นที่ยึดถือแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น
✦ ร้านขนมริวเก็ตสึในฮอกไกโด : “ขนมเป็นสื่อที่สานสายสัมพันธ์รักและเชื่อมโยงหัวใจคนเข้าไว้ด้วยกัน” ด้วยริเน็นนี้ พวกเขาจึงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ขนมและองค์ประกอบต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้คนผูกพันกันมากขึ้น เช่น ทำเค้กรสชาติดีในราคาย่อมเยา เพราะมองว่าของหวานควรอยู่ในทุกมื้อของครอบครัว ไม่เพียงแต่ช่วงเทศกาลเท่านั้น
✦ บริษัทดอกไม้ฮิบิยะ คะดัน : “ร่วมสร้างสังคมที่มั่งคั่งด้วยดอกไม้และสีเขียว แต่งแต้มสถานการณ์อันน่าประทับใจและความรักแก่ชีวิตผู้คนด้วยจิตวิญญาณแห่งการบริการ” พวกเขามองว่าดอกไม้ไม่ใช่แค่สิ่งของ แต่เป็นสื่อกลางถ่ายทอดความสุขและเป็นองค์ประกอบของฉากสำคัญในชีวิต จึงมีบริการต่างๆ นอกเหนือจากการขายดอกไม้ เช่น รับออกแบบและตกแต่งสำนักงานให้มีสีเขียว เพื่อกระตุ้นพลังและสร้างความสดชื่นในการทำงาน เป็นต้น
✦ แบรนด์ Muji : “อยากเสริมสร้างชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น” ผ่านของใช้ในชีวิตประจำวันที่มีคุณภาพดี ร้านอาหาร และสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของต่างประเทศ
ริเน็นเป็นพื้นที่ฐานในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร สร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่พนักงาน ตลอดจนการกำหนดทิศทางของธุรกิจและเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหาร
ซื้อหนังสือริเน็น (Rinen) : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
วิธีการสร้างริเน็น
ริเน็นของบริษัทถูกสร้างขึ้นมาจากองค์ประกอบของริเน็นมี 3 อย่าง ได้แก่
- บริษัทดำรงอยู่เพื่ออะไร (พันธกิจ : Mission) : ทำไมธุรกิจนั้นถึงต้องดำรงอยู่ รวมถึงความสำคัญที่มีต่อลูกค้า คู่ค้าและสังคม
- บริษัทมุ่งหน้าไปในทิศทางใด (วิสัยทัศน์ : Vision) : ภาพอนาคตที่องค์กรควรจะเป็น
- บริษัทจะนำเสนอคุณค่าอย่างไร (คุณค่า : Value) : คุณค่าของธุรกิจ สินค้าหรือบริการของบริษัทที่มอบให้กับลูกค้า คู่ค้าและสังคม
หากยังนึกไม่ออกว่าริเน็นของธุรกิจเราคืออะไร อาจารย์เกดได้ให้ 3 คำถามมาเป็นแนวทางในการสร้างริเน็นดังนี้ค่ะ
- เราเห็นลูกค้ามีความสุขเมื่อใด? เพราะเหตุใด? : คิดถึงคุณค่าที่บริษัทมอบให้ผู้อื่น ซึ่งจะนำไปสู่การค้นหาพันธกิจและคุณค่าขององค์กร
- เราเชื่อมั่นในอะไร? : สิ่งที่เรายึดมั่นในการทำธุรกิจ
- อะไรคือสิ่งที่เราพร่ำสอนหรือต้องการบอกพนักงาน? :
ลองหาจุดร่วมในคำตอบทั้งสามข้อ หลักคิดใดที่คุณอ่านแล้วรู้สึกฮึกเหิมและต้องการให้มันเกิดขึ้นจริง นั่นอาจกลายมาเป็นริเน็นของบริษัทคุณ
ดูแลกิ่งก้านของต้นสน
ริเน็นเปรียบเสมือนรากต้นไม้ที่สำคัญของบริษัทต้นสน ยิ่งรากแข็งแรง กิ่งก้านยิ่งแผ่ขยายไปได้กว้าง กิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนกลุ่มคน 4 กลุ่มที่เกี่ยวของกับบริษัทและต้องหมั่นคอยดูแล ได้แก่ พนักงาน, คู่ค้าทางธุรกิจ, ลูกค้า, และสังคม
ตัวอย่างเช่น บริษัทอินะ ฟู้ด อินดัสทรี มีริเน็นที่เรียบง่ายคือ “การเป็นบริษัทที่ดี” ของคนทุกกลุ่ม โดยเริ่มจากสร้างความสุขให้พนักงาน สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน มีสวัสดิการดี และมักมีกิจกรรมสานสัมพันธ์เพื่อให้พนักงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
สำหรับคู่ค้า เมื่ออินะ ฟู้ด เลือกทำงานกับซัพพลายเออร์เจ้าใดแล้ว ก็จะทำงานด้วยกันไปนานๆ ด้วยราคาสมเหตุสมผล ไม่เอารัดเอาเปรียบคู่ค้าและไม่เปลี่ยนซัพพลายเออร์บ่อยๆ เพื่อกดราคาให้ต่ำที่สุด โดยพวกเขาช่วยเหลือกันและกันเพื่อให้ทำกำไรได้ไปด้วยกัน
บริษัทอินะ ฟู้ด ยังตอบแทนสังคมโดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างการอบรมพนักงานให้เป็นคนดี ไม่สร้างภาระหรือปัญหาให้สังคม พนักงานของอินะ ฟู้ด มักได้รับคำชื่นชมจากคนรอบข้าง เช่น แยกขยะถูกประเภท, เมื่อไปร้านอาหารก็จะกินอย่างเรียบร้อยและเก็บกวาดโต๊ะจนสะอาด เป็นต้น บริษัทยังเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามารองน้ำสะอาดดื่มฟรีได้ รวมถึงมีสวนอันรื่นรมให้เข้าเดินเล่นพักผ่อนได้
จากการดูแลกิ่งสนอย่างดี ทำให้อินะ ฟู้ด ได้ใจพนักงานและสังคม รวมถึงยังสามารถดึงดูดพนักงานใหม่ๆ ได้ด้วย ทุกปีจะมีนักศึกษากว่า 2,000 คนส่งใบสมัครมายังบริษัทที่ตั้งอยู่ไกลความเจริญแห่งนี้ ทั้งที่บริษัทต้องการพนักงานใหม่เพียงไม่กี่สิบคนต่อปีเท่านั้น อินะ ฟู้ด ยังเป็นบริษัทที่สร้างยอดขายเป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมและมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 80%
โดยหลักการบริหารของอินะ ฟู้ด นั้นเริ่มมาจากริเน็นที่ว่า “การเป็นบริษัทที่ดี”
ซื้อหนังสือริเน็น (Rinen) : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
สำหรับแฟนหนังสืออาจารย์เกดที่เคยอ่านโอโมเตนาชิ จิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่น และ MOKOTO MARKETING บางบริษัทที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือริเน็นจะเหมือนกับสองเล่มก่อนหน้านั้นค่ะ แต่เล่มนี้จะเล่าในมุมของการสร้างธุรกิจและกลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืนมากกว่าเรื่องของการตลาด
ภายในหนังสือยังมีกรณีศึกษาริเน็นของบริษัทต่างๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายค่ะ สำหรับคนที่มองหาแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจที่ดีหรือต้องการพลังในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น แนะนำหนังสือริเน็นเป็นอย่างยิ่งค่ะ เรื่องราวความมุ่งมั่น เพียรพยายาม และจริงใจของคนจากบริษัทต้นสนได้มอบพลังและแนวทางในการทำงานที่ดีให้กับเรา ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้บริหารหรือพนักงานก็ตาม ได้แรงบันดาลใจในการพัฒนางานของเราให้ดียิ่งขึ้นไป ไม่ใช่แค่การพัฒนาประสิทธิภาพงาน แต่ยังรวมถึงงานที่ส่งมอบความสุขคนรอบข้างด้วย