สรุปหนังสือแปลกพิกลคนรักหนังสือ : รวมสปีชีส์ลูกค้าหัวจะปวดในร้านหนังสือเก่า

1 Shares
0
0
1
0
0

#ReadersGarden เล่มที่ 64

‘นี่ฉันเป็นหนึ่งในสปีชีส์ลูกค้าที่เจ้าของร้านอยากเตะออกจากร้านหรือเปล่านะ?’

ชาวหนอนหนังสือที่รักการไปร้านหนังสือ คุณคิดว่าตัวเองเป็นลูกค้าที่น่ารักหรือน่าชังในสายตาของเจ้าของร้าน? หากคุณยังไม่แน่ใจ หยิบเล่มนี้ขึ้นมาอ่านเลย!

แปลกพิกลคนรักหนังสือ (Seven Kinds of People You Find in Bookshops) จะพาเราไปพบกับลูกค้า 7 ประเภทผ่านสายตาของฌอน ไบเทลล์ (Shaun Bythell) เจ้าของร้านหนังสือเก่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสกอตแลนด์ ผู้ขี้ฉุนเฉียว บริการหนังสือเป็นงานรอง แอบมองสังเกตลูกค้าเป็นงานหลัก 

ลูกค้าที่แวะเวียนมาร้าน The Book Shop ของไบเทลล์มีทั้งสปีชีส์น่ารัก(มีน้อย)ที่เขาสนุกทุกครั้งที่ได้คุย และสปีชีส์หัวจะปวด(มีเยอะ)ที่เขาอยากจะหนีไปเก็บตัวที่ห้องใต้หลังคาจนกว่าลูกค้าเหล่านี้จะออกจากร้านไป

สำนวนการเขียนจิกกัดประชดประชันของไบเทลล์ชวนให้ตลกขบขันเมื่อมันไม่ใช่เรื่องของเรา รู้สึกสะดุ้งโหยงเมื่อคิดว่าเราเป็นคนแบบนั้นหรือเปล่านะ และยังชวนให้ซาบซึ้งอย่างน่าประหลาด

7 สกุลลูกค้าในร้านหนังสือ

ร้านหนังสือ The Book Shop ของไบเทลล์ (เครดิต: Wigtown Booktown)

หนึ่งในความสนุกของเล่มนี้คือ ไบเทลล์นำวิธีตั้งชื่อทวินามของลินเนียส (Carolus Linnaeus) มาจำแนกประเภทลูกค้าออกเป็น 7 สกุล (genus) โดยแต่ละสกุลประกอบด้วยหลากหลายสปีชีส์ย่อย 

มาดูกันว่าคุณเป็นลูกค้าสปีชีส์ไหนตามการจำแนกของไบเทลล์!

1. Peritus (ผู้เชี่ยวชาญ): คนที่พร้อมจะยัดเยียดภูมิปัญญาให้คุณโดยไม่สนว่าคุณต้องการรู้หรือไม่ โปรดปรานการใช้ถ้อยคำยืดยาวและเข้าใจยาก และไม่พลาดที่จะออกความคิดเห็นในทุกๆ เรื่อง แบ่งออกเป็นสปีชีส์ย่อยๆ ได้หลายประเภท มีทั้งสปีชีส์น่ารักคุยสนุกและให้ความรู้ได้จริงๆ ไปจนถึงสปีชีส์ที่อวดรู้อย่างไร้สาระและน่ารำคาญใจ

2. Familia Juvenis (ครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ): ผู้ปกครองที่พาเด็กเล็กมาร้านหนังสือ มีตั้งแต่สปีชีส์พ่อแม่ผู้คิดการใหญ่ เอาหนังสือประวัติศาสตร์โลกให้ลูกวัยอนุบาลอ่าน, พ่อแม่ที่ทิ้งลูกไว้ที่มุมหนังสือเด็กเพื่อให้ตัวเองได้มีเวลางีบหลับที่โซฟาสัก 5 นาทีก็ยังดี ส่วนสปีชีส์ที่ร้ายที่สุดคือ พ่อแม่ที่ฝากลูกให้พนักงานในร้านดูแลโดยบอกว่า ‘แป๊ปเดียว’ ซึ่งที่จริงใช้เวลาอย่างน้อย 15 นาทีถึง 1 ชั่วโมง

3. Homo qui maleficas amat (คนเล่นของ): ​คนที่เชื่อว่าตัวเองมีพลังวิเศษ อ่านอนาคตจากไพ่ ทำพิธีเรียกซาตานได้ มักหยิ่งยโส รักสันโดษ มาร้านคนเดียวเสมอ มีตั้งแต่สปีชีส์หมอไสยศาสตร์มนตร์ดำ, หมอดูไพ่ทาโร่ต์, นักล่าผี, และนักทฤษฎีสมคบคิด (แม้กลุ่มหลังจะไม่ใช่คนเล่นของ แต่ก็มีจุดร่วมกันคือเชื่อในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่มีหลักฐานอยู่ท่วมท้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา)

4. Homo qui desidet (คนที่มาเดินเตร่): คนที่มาเดินเตร่ในร้านหนังสืออย่างน่าสงสัย เช่น สปีชีส์คนที่มาดูหนังสืออีโรติก, คนเดินเตร่อย่างไร้เป้าหมาย, นักเขียนที่ตีพิมพ์หนังสือเองโดยตั้งใจจะแอบวางหนังสือของตัวเองทิ้งไว้ในร้าน เป็นต้น บางคนก็แสร้งทำว่ากำลังทำธุระสำคัญมาก ทั้งที่เห็นอยู่ว่าไม่ได้กำลังทำอะไรเลย พวกเขามักจะทำท่าทางเหมือนกำลังจะถามอะไรคุณ คุณจึงต้องคอยอยู่ใกล้ๆ เผื่อเขาจะถามขึ้นมาจริงๆ ซึ่งแทบไม่เคยเกิดขึ้น แต่เมื่อคุณผละออกไปเพื่อจะจัดหนังสือ พวกเขาจะถามทันที แต่ไม่ได้ถามอะไรเกี่ยวกับหนังสือเลย

5. Senex cum barba (มนุษย์บำนาญเคราครึ้ม): คนกลุ่มนี้มักจะท่องไปในชนบทด้วยรถบ้านเคลื่อนที่อย่างเชื่องช้าโดยไม่สนใจผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ นั่นเพราะพวกเขาเกษียณแล้วน่ะสิ พวกเขาจะจอดรถขวางทางเข้าร้านเพื่อให้เดินเข้ามาได้สะดวก และบดบังร้านจากสายตาสาธารณชนให้นานที่สุดโดยไม่ได้ซื้ออะไรเลย

6. Viator non tacitus (นักเดินทางผู้ไม่เงียบเท่าไหร่): คนที่มักจะดึงความสนใจมาที่ตัวเองโดยไม่ได้เจตนา แต่ก็ยังน่ารำคาญอยู่ดี เช่น สปีชีส์นักผิวปาก, นักฮัมเพลง (ต่างกับคนผิวปากตรงที่นักฮัมเพลงยังมีมารยาทพอจะส่งเสียงเป็นทำนองให้เราเดาได้ว่าเพลงอะไร ส่วนคนผิวปากจะสร้างตัวโน้ตที่ก่อความสับสนวุ่นวาย), คนสูดน้ำมูกฟุดฟิด, คนตด เป็นต้น

7. Parentum historiae studiosus (คนชอบศึกษาประวัติครอบครัว): คนที่อยากสืบว่าบรรพบุรุษของตัวเองเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือเคยทำเรื่องสำคัญอะไรไว้หรือไม่ ถูกแบ่งเป็นสปีชีส์ชาวอเมริกันผู้อยากรู้ประวัติของบรรพบุรุษที่อพยพย้ายถิ่นมาจากต่างประเทศ และไม่มีสปีชีส์ที่สอง เพราะส่วนใหญ่คนที่อยากสืบประวัติบรรพบุรุษอย่างจริงจัง ก็มีเพียงชาวอเมริกันเท่านั้นแหละ

ตกตะกอนจากเจ้าของร้านหนังสือเก่าขี้ฉุนเฉียว

Shaun Bythell เจ้าของร้านหนังสือมือสองและเป็นนักสังเกตลูกค้า (เครดิต: The Book Shop)

ไบเทลล์แบ่งสปีชีส์ลูกค้าได้อย่างเจ็บแสบ ระหว่างที่อ่านเล่มนี้ก็รู้สึกได้ถึงความอัดอั้นตันใจจากการเจอลูกค้าประหลาดๆ ตลอดหลายปีของเขาทะลุตัวอักษรเลย ขณะเดียวกันก็รับรู้ได้ถึงความหลงใหลในร้านหนังสือและความใส่ใจลูกค้า โดยขอสรุป 5 สิ่งที่ตกตะกอนได้จากเจ้าของร้านหนังสือเก่าขี้ฉุนเฉียวไว้ดังนี้ค่ะ

1. ร้านหนังสือไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ซื้อหนังสือ แต่ยังเป็นคอมมูนิตี้ที่ทำให้เราได้พบปะผู้คนหลากหลายประเภทที่ทั้งน่ารักและน่าชัง แต่ก็รักหนังสือเช่นเดียวกัน

2. แม้ปัจจุบันจะมีร้านหนังสือออนไลน์และอีบุ๊คที่ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลในหนังสือได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย แต่ร้านหนังสือก็ยังเป็นสถานที่สำคัญที่เติมเต็มชุมชนให้สมบูรณ์ กลิ่นกระดาษและสัมผัสของหนังสือเล่มเป็นสิ่งที่ดิจิทัลไม่สามารถแทนที่ได้

3. “น้ำใจจากคนแปลกหน้าทำให้คุณคุกเข่าทรุดลงไปกองแล้วสะอึกสะอื้นกับพื้นได้เร็วกว่าหมัดตรงที่ต่อยเข้าลิ้นปี่เสียอีก” เป็นคำพูดของไบเทลล์ตอนที่เขาได้รับน้ำใจจากคนอื่นระหว่างการล็อกดาวน์เพราะโคโรนาไวรัส โดยมีลูกค้าคนหนึ่งโทรมาสั่งหนังสือและให้เขาคิดเงินเพิ่มไปอีก 10 ปอนด์ด้วยเหตุผลว่า ‘ผมรู้ว่าช่วงเวลาแบบนี้ธุรกิจที่คุณทำจะลำบากขนาดไหน ผมอยากให้คุณยังอยู่ตอนที่เรื่องทั้งหมดนี้ผ่านไปแล้ว ผมจะได้ไปเที่ยวร้านอีก’

นอกจากนี้ไบเทลล์ยังได้รับเช็กเงินจากหญิงที่ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน โดยเธอบอกว่าเธอต้องการสนับสนุนร้านค้าขนาดเล็กให้ยังคงอยู่ได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ เป็นน้ำใจที่งดงามมากจริงๆ

4. การทำธุรกิจร้านหนังสือไม่ง่ายเลย นอกจากงานบริการหนังสือแล้ว ยังต้องรับบทบาทที่ไม่คาดคิดอย่าง เป็นผู้ฟังการบรรยายอันไม่จบสิ้นของสปีชีส์ผู้เชี่ยวชาญ หรือเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้สปีชีส์พ่อแม่ที่นำลูกมาทิ้งไว้

5. ความรอบรู้อันน่าทึ่งของไบเทลล์เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากจะอ่านหนังสือเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้นไปอีก ความรอบรู้ที่เขาแสดงออกในหนังสือเล่มนี้ เช่น การนำวิธีตั้งชื่อทวินามมาจำแนกสปีชีส์ลูกค้า, การรู้คุณค่าของหนังสือเก่า, รู้จักนักเขียนและผลงานอันทรงคุณค่ามากมาย, รู้ว่าลูกค้าแต่ละคนน่าจะชอบหนังสือแบบไหนและแนะนำได้ตรงใจ, ใช้ภาษาเขียนได้สวยงามและน่าสนใจ ซึ่งได้รับการขัดเกลาจากการอ่านหนังสือมาตลอดหลายปี เป็นต้น 

ซื้อหนังสือ: นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya

สุดท้ายนี้แม้ไบเทลล์จะพบเจอกับลูกค้าประหลาดมากมาย จนรู้สึกอัดอั้นตันใจและเขียนระบายออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ แต่เขาก็คิดถึงลูกค้าทุกคน รวมถึงสปีชีส์ที่น่าปวดหัวซึ่งเป็นสีสันที่ขาดไม่ได้ในร้านหนังสือเก่าแห่งนี้ด้วย



1 Shares
You May Also Like
รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร

รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร : เทพตกอับกับราชาผีคลั่งรัก

'องค์ไท่จื่อเซี่ยเหลียน' ลูกรักของสวรรค์กลับตกอับจนถูกเรียกว่าเทพขยะ แต่ทำไม 'ราชาผีฮวาเฉิง' ผู้ยิ่งใหญ่ถึงมาตามติดเขาต้อยๆ ได้ล่ะเนี่ย

สรุปหนังสือเจ้าชายน้อย: 4 ข้อคิดจากเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่คนนี้เคยเป็น

วรรณกรรมอมตะสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนที่หวนคิดถึงตัวตนในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ ความกล้าหาญ ความฝัน และความเชื่อว่าตัวเองทำได้ทุกอย่าง
สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก

สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก : คัมภีร์แห่งการรักตัวเอง

รวม 9 ข้อคิดดีๆ จากหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก 💋 ที่จะทำให้คุณหันมาให้เกียรติตัวเองในช่วงเวลาที่หลงรักคนอื่นจนหลงลืมที่จะรักตัวเอง
สรุปหนังสือ ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

สรุปหนังสือ The Asshole Survival Guide : ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

คู่มือรับมือคนเฮงซวยที่ช่วยให้เรารักษาชีวิตอันแสนสงบสุขด้วยการตัด “ปัญหาคนเฮงซวย” ทั้งแบบชั่วคราวและเรื้อรังอย่างฉลาดและบาดเจ็บน้อยที่สุด
สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ (Four Thousand Weeks)

สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ : 4 ข้อคิดในการบริหารเวลาชีวิต

"เพราะเราไม่ได้มีเวลา แต่เราคือเวลา" เมื่อเวลามีจำกัด แต่เรายังมีสิ่งมากมายบนโลกที่อยากทำ เราจะบริหารเวลาอย่างไรเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย
สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่

สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่ : 3 วิธีดับความหัวร้อน

อย่าสิ้นเปลืองเวลาและพลังงานไปกับการสู้กับคนโง่เลย เพราะเป้าหมายสำคัญกว่าความสะใจเพียงชั่วคราว มาดูวิธีดับความหัวร้อนจากเล่มนี้กัน