#ReadersGarden เล่มที่ 5
หากคุณต้องการปลุกพลังขยันผ่านการอ่าน หนังสือ Super Productive จะเป็นเล่มแรกที่ซิสแนะนำเลยค่ะ อ่านแล้วต้องลุกขึ้นมาทำเรื่องดีๆ เพื่อตัวเองเลย
ซิสเป็นแฟนรายการพอดแคสต์ Mission To The Moon ของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ฟังทุกเช้าระหว่างเดินทางไปทำงาน ได้เปิดโลก ตามเทรนด์ธุรกิจและการทำงาน พร้อมเติมแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต คุณรวิศมักจะนำประสบการณ์ทำงานในบทบาทผู้บริหาร ประสบการณ์ชีวิตในฐานะคนวัยทำงาน บทความต่างประเทศและเรื่องราวดีๆ มาเล่าสู่กันฟังพร้อมตกตะกอนความคิด
หนังสือ Super Productive รวมเนื้อหาจากพอดแคสต์จากตอนที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานและการใช้ชีวิตไว้ในเล่มเดียว ถือเป็นคัมภีร์ขยันที่ซิสหยิบมาอ่านทุกครั้งที่ขี้เกียจหรือหมดไฟ
หนังสือแบ่งออกเป็น 3 พาร์ท ได้แก่ 1. จัดการตัวเอง 2. จัดการธุรกิจ และ 3. จัดการทีม โดยขอหยิบหัวข้อที่ชอบมากที่สุดมาเล่าให้ฟังค่ะ
การรู้จักตัวเองเป็นทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21
การรู้จักตัวเอง (Self Awareness) เหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ทำไมมันถึงเป็นทักษะสำคัญในชีวิต? – คนที่รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้จะทำงานได้ดีกว่า มีโอกาสเจริญก้าวหน้ามากกว่า สื่อสารกับคนอื่นได้ดีกว่า มีอิทธิพลต่อคนรอบข้างมากกว่า มีความสัมพันธ์เรื่องงานและเรื่องส่วนตัวที่ดีกว่า
เช่น เมื่อเจอคนที่น่าโมโห คนที่รู้จักตัวเองดีจะรู้ว่าคนประเภทไหนจะทำให้เราโกรธ แล้วเวลาโกรธเราจะเป็นยังไง จะรับมือกับอารมณ์ยังไง จึงสามารถควบคุมตัวเองได้ดีกว่า ในทางตรงกันข้ามคนที่ไม่รู้จักตัวเองดีพออาจคิดว่าฉันไหว ไม่เป็นไร เก็บไว้ในใจจนเป็นทุกข์หรือปรี๊ดแตกออกมาอย่างควบคุมไม่ได้ ซึ่งมักตามมาด้วยเรื่องยุ่งยากในภายหลัง
การรู้จักตัวเองจึงเป็นเรื่องง่ายที่สำคัญต่อชีวิตเรามาก โดยรูปแบบการรู้จักตัวเองมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่
1.) Internal Self Awareness รู้จักตัวเองด้วยการเข้าใจตัวเอง เช่น รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่กระตุ้นเราได้ บุคลิกภาพของเราเป็นยังไง ชอบสภาพแวดล้อมแบบไหน เป็นต้น
2.) External Self Awareness รู้จักตัวเองผ่านคนรอบตัว รู้ว่าคนรอบข้างคิดอย่างไรกับเราโดยการตั้งใจฟัง ตั้งใจสังเกต ฟีดแบคจากคนรอบตัวมีประโยชน์มาก คำชื่นชมช่วยเสริมความภาคภูมิใจ ส่วนคำตำหนิช่วยให้คุณรู้ว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุง แต่ต้องแยกแยะฟีดแบคที่ไม่จริงหรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรออกไปด้วย
ซื้อหนังสือ Super Productive: นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
จัดการกับภาวะหมดไฟ
ก่อนจะมาจัดการกับภาวะหมดไฟหรือ burnout มาเช็คกันก่อนว่าเราหมดไฟจริงหรือหมดไฟปลอม หืม… มีหมดไฟปลอมด้วยหรอ? อาการหมดไฟมักเป็นความรู้สึกที่เราไม่อยากทำสิ่งนั้นๆ อีกต่อไป เพราะมันไม่สนุกแล้ว เหนื่อยเกินไป หัวตื้อเกินไป มาถึงทางตันแล้ว คำถามคือ… ความรู้สึกเหล่านี้มันเกิดชั่วคราวหรือสั่งสมมานานแล้ว?
เช่น ตอนซิสทำงานในบริษัทแห่งที่สองมาเกือบปี ก็เริ่มรู้สึก burnout จนคิดว่าถึงเวลาโบกมือลาแล้วสินะ แต่ช้าก่อน! หลังจากได้ออกจากโต๊ะทำงานไปแบ็คแพ็คท่องเที่ยว เมื่อกลับมาออฟฟิศอีกครั้งก็รู้สึกมีพลัง เกิดไอเดียสร้างสรรค์นำมาประยุกต์ใช้กับงาน ทำให้งานสนุกขึ้นและประสิทธิภาพดีขึ้น นั่นคือภาวะหมดไฟปลอมค่ะ
ถ้าคุณคิดว่ากำลังหมดไฟ ลองหาจังหวะปลีกตัวไปเจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หากิจกรรมดีๆ ทำ เช่น ออกกำลังกาย หาหนังสือใหม่มาอ่าน ใช้เวลากับคนอื่น หรือออกไปเปิดโลกจากการท่องเที่ยว อย่าราดน้ำบนกองไฟที่ใกล้จะมอดของคุณด้วยการพักผ่อนหย่อนใจทั้งวันหรือนอนกลิ้งดูเน็ตฟลิกซ์ทั้งคืน ซิสเคยคิดผิดว่าการพักแบบไม่ใช้สมองเลยจะเรียกพลังกลับมาได้ กลับกลายเป็นว่าเราเสพติดความสบายจนกลายเป็นขี้เกียจไปเลย กว่าดึงตัวเองให้กลับมา productive อีกครั้งใช้เวลานานและฝืนใจมาก ที่จริงคุณจะนอนดูเน็ตฟลิกซ์ยาวๆ ก็ได้ แต่ควรหาหนังที่ให้แรงบันดาลใจและสามารถตกตะกอนความคิดได้
ทำให้แน่ใจว่างานในทีมถูกแบ่งอย่างยุติธรรม
การแบ่งงานอย่างเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญของหัวหน้าทีมที่มักถูกมองข้าม นี่เป็นประเด็นยิบย่อยแต่ส่งผลต่อพลังใจในการทำงานจากประสบการณ์จริงของซิส คนที่ทำงานเร็วที่สุด ดีที่สุด จะถูกโยนงานให้มากที่สุด ช่วงแรกก็ดีใจนะที่เราได้รับความไว้วางใจ คิดว่ายิ่งทำมากยิ่งได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์มาก แต่เมื่องานล้นมือจนไม่มีเวลาพักก็เริ่มหมดไฟ พาลไม่พอใจเพื่อนร่วมทีมที่ได้งานน้อยกว่าแม้จะไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเลย
ในฐานะลูกทีม ซิสเคยปล่อยผ่านโอกาสที่จะฟีดแบคเรื่องการแบ่งงานที่ไม่ยุติธรรมไปเพราะคิดว่ามันทำให้เราดูเห็นแก่ตัว แต่เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นก็คิดได้ว่า เราอยากเป็นคนใจกว้างแต่ก็ไม่อยากถูกเอาเปรียบ มีแค่เราที่จะดูแลเราได้ และค่ารักษาสุขภาพจิตมันแพงเหลือเกิน ดังนั้นจงเอาความจริงบอกฟีดแบคหัวหน้าไปตรงๆ เถอะ
รับมือกับคนที่ทัศนคติแย่
มีคำกล่าวที่ว่า ‘คนทัศนคติดี 5 คนไม่สามารถเปลี่ยนคนทัศนคติแย่ 1 คนได้ แต่คนทัศนคติแย่ 1 คนสามารถเปลี่ยนคนทัศนคติดี 5 คนให้แย่ลงได้’ แล้วคนทัศนคติแย่คนเดียวก็สามารถทำลายทีมดีๆ ที่ใช้เวลาสร้างอย่างยาวนานลงในพริบตาได้
วิธีรับมือกับคนทัศนคติแย่หรือคนที่เป็น toxic person ขึ้นอยู่กับเลเวลความ toxic และสาเหตุของปัญหา หากคุณเป็นหัวหน้าทีมที่ต้องรับผิดชอบลูกทีมที่ทัศนคติแย่ หรือเป็นเพื่อนร่วมทีมใจกว้างที่อยากช่วยอีกฝ่าย ให้เริ่มจากเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองทำความเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น จากนั้นเก็บข้อมูลหลักฐานว่าทัศนคติติดลบเหล่านั้นมันส่งผลต่องานยังไงบ้าง แล้วนำไปฟีดแบคเขาเพื่อช่วยกันหาวิธีแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าโลกใบนี้มีคนที่ทัศนคติแย่โดยไม่มีสาเหตุหรือเยอะเกินขอบเขตความสามารถของเรา อย่าใช้พลังงานเกินความจำเป็นจนความ toxic ของคนอื่นกลืนกินคุณเข้าไปด้วย
การรับมือกับคนทัศนคติแย่เป็นอีกเสียงยืนยันว่าทักษะ ‘การรู้จักตัวเอง’ สำคัญมาก เช่น เรารู้ว่าตัวเองเป็นคนประเภทดูดซับพลังงานจากคนรอบข้าง เวลามีคน toxic ใส่ ก็จะดูดพลังงานลบมาเต็มๆ และอาจไปเกรี้ยวกราดใส่คนอื่นต่อ แล้วจะชอบเก็บมาเสียใจคนเดียวทีหลังจนไม่เป็นอันทำอะไร ดังนั้นเมื่อเจอคน toxic เราควรจะหลีกเลี่ยง แทนที่จะฝืนตัวเองไปพยายามแก้ไขเขา ขอปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าทีมหรือคนจิตแข็งแทน เป็นต้น
การกระตุ้นการเรียนรู้มากกว่าสอน
บทนี้เปลี่ยนมุมมองเรื่องการโค้ชชิ่งไปเลย ซิสเคยคิดว่าโค้ชชิ่งคือการสอนแบบหนึ่ง ให้คนฟังได้รู้และทำตาม แต่ที่จริงมันคือกระบวนที่กระตุ้นให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนั้นๆ และอยากเรียนรู้ต่อยอดด้วยตัวเอง เหมือนอย่างที่โค้ชฟุตบอลไม่จำเป็นต้องเล่นฟุตบอลเก่งเสมอไป แต่นักฟุตบอลระดับโลกต่างก็มีโค้ชสุดเก่งอยู่เบื้องหลัง
โค้ชชิ่งเป็นงานหลักของหัวหน้าทีมที่ดี ไม่ใช่แค่สอนงานเป็นขั้นตอน 1-2-3-4 แต่ต้องช่วยกระตุ้นลูกทีมให้เกิดความอยากเรียนรู้ เริ่มต้นสร้างสรรค์และพัฒนางานด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอทำงานที่ได้รับมอบหมาย
หลักการโค้ชที่ดีจากเอ็ด บาทิสตา (Ed Batista) คือ ถาม ฟัง เห็นใจ – ถามคำถามปลายเปิดเพื่อให้คิด รับฟังอย่างใส่ใจและทำความเข้าใจ สุดท้ายการเห็นใจในที่นี่คือไม่มีอคติ ไม่เอามาตรฐานของเราไปตัดสิน พยายามเชื่อมต่อความรู้สึกของอีกฝ่าย
ซื้อหนังสือ Super Productive: นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
ความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้เรามีความสุขและแข็งแรงมากขึ้น
บางครั้งเราให้ความสำคัญกับงาน ผลลัพธ์ หรือสนใจตัวเองมากเกินไปจนมองข้ามความสัมพันธ์รอบตัว แต่รู้มั้ยว่าความสัมพันธ์ที่ดีนอกจากจะทำให้เรามีความสุข ยังช่วยกระตุ้นความ productive ได้ด้วย
ในนิยายหรือหนังมักพบว่า ตัวละครที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมักล้มเหลวในชีวิตครอบครัว เช่น ประธานบริษัทยักษ์ใหญ่ที่แต่งงานมาแล้ว 4 ครั้ง หรือหัวหน้าทีมผู้บ้างานจนไม่มีเวลาไปดูลูกแข่งกีฬา แต่โลกแห่งความจริง เรามักพบว่าคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างมักจะประสบความสำเร็จมากกว่าและมีความสุขมากกว่า ในวันที่เจออุปสรรคก็มีพลังใจสู้ต่อไป ไม่ยอมแพ้ เพราะมีคนรอบข้างเป็นกำลังใจ ดังนั้นอย่าละเลยความสัมพันธ์ที่มีกับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนที่สำคัญกับคุณ
สะสมเรื่องราวมากกว่าสิ่งของ
เป็นข้อความสั้นๆ ที่ทำให้คนบ้าช้อปอย่างซิสลดความอยากช้อปโดยที่ไม่จำเป็นลงได้ ลองสำรวจบ้าน มีข้าวของเยอะแค่ไหนที่คุณรู้สึกเสียดายที่ซื้อมา เปลืองเงิน เปลืองพื้นที่เก็บ จะทิ้งก็เสียดาย แต่เก็บไว้ก็ไม่ได้ใช้งาน แล้วลองนึกอีกทีว่าคุณเคยนึกเสียดายเงินที่เสียไปเพื่อซื้อประสบการณ์บ้างมั้ย คนเรามักเสียดายเงินที่เสียไปกับข้าวของมากกว่า แต่ไม่ค่อยเสียดายเงินที่ซื้อประสบการณ์ เพราะเรื่องราวจะอยู่เราตลอดไป เป็นความทรงจำให้คิดถึง เป็นบทเรียนให้เติบโต ดังนั้นสะสมเรื่องราวให้มากกว่าสิ่งของ
เป็นคนเรียนรู้ตลอดชีวิต
Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นทักษะสำคัญในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ความรู้เดิมอาจไม่เพียงพอเสมอไป
ตอนที่ซิสทำงานด้าน Digital Marketing ของบริษัทอีคอมเมิร์ซ ในปีแรกช่องทางโซเชียลมีเดียหลักของการทำแคมเปญคือ Facebook และ Instagram ปีถัดมา Twitter เริ่มบูมในหมู่วัยคนทำงานซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัท จึงเพิ่มการทำตลาดบน Twitter ด้วย จากนั้น TikTok เริ่มบูมในไทยโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น จึงเพิ่มการทำคอนเทนต์การตลาดที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายด้วย
ความรู้ไม่เคยหยุดนิ่ง ความสนุกของยุคนี้คือมีเทคโนโลยีและทรัพยากรใหม่ๆ มาให้เราเลือกเรียนรู้และใช้งานได้ตลอดเวลา
วิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้เราเป็นคนเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องคือ การมี Growth Mindset เชื่อว่าทุกอย่างพัฒนาได้ ถึงเรายังไม่เก่งในตอนนี้ ก็ฝึกฝนได้ ต่างจาก Fixed Mindset ที่เชื่อว่าทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว คนเก่งก็เพราะเขาฉลาดอยู่แล้ว ส่วนเราไม่ได้ร่ำเรียนเรื่องนี้มา คงไม่มีวันเก่งเรื่องนี้ได้หรอก ซึ่งไม่จริงเลย ทุกคนก็ล้วนเริ่มต้นจากความไม่รู้ทั้งนั้น
“The journey with a thousand miles begin with one step – การเดินทางหมื่นลี้ เริ่มต้นด้วยก้าวแรกเสมอ”
เล่าจื้อ
สุดท้ายนี้หนังสือ Super Productive เป็นคัมภีร์ขยันสำหรับคนวัยทำงานที่ซิสแนะนำค่ะ อ่านปุ๊บ บูสต์พลังขยันขึ้นมาทันที เกือบทุกประเด็นในหนังสือเหมือนเขียนมาจากความในใจเราเลย วันไหนรู้สึกขี้เกียจ หมดไฟ แต่ใจจริงอยากลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ดีเพื่อตัวเอง แค่หยิบเล่มนี้มาอ่านก็กลายเป็นวันที่ productive แล้ว