สรุปหนังสือ The First 20 Hours กฎ 20 ชั่วโมงแรก

สรุปหนังสือกฎ 20 ชั่วโมงแรก (The First 20 Hours) : ฝึกทักษะใหม่ภายใน 20 ชั่วโมง

0 Shares
0
0
0
0
0

#ReadersGarden เล่มที่ 39

บนโลกใบนี้มีเรื่องสนุกๆ ให้ทำ ให้เรียนรู้ตั้งมากมาย… แต่มีเวลาน้อยเหลือเกิน จะไปเรียนรู้หมดได้ยังไงนะ แถมพอเริ่มต้นฝึกทักษะใหม่ ก็พบว่ามันยากกว่าที่คิด ใช้เวลานานกว่าที่คิด จนเริ่มท้อใจและไม่สนุกแล้ว

เหล่าผู้คลั่งไคล้การเรียนรู้ อย่าเพิ่งยอมแพ้ไปก่อนค่ะ! จอช คอฟแมน (Josh Kaufman) นักพูดและนักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือธุรกิจขายดีหลายเล่ม ได้ให้แนวทาง ‘ฝึกทักษะให้ประสบความสำเร็จภายใน 20 ชั่วโมง’ ซึ่งเป็นวิธีการที่เขาได้ใช้กับตัวเองในการเรียนโยคะ, อูคูเลเล่ และวินเซิร์ฟ

คุณอาจเคยได้ยินกฎ 10,000 ชั่วโมงของดร.เอริคสัน (Dr. Anders Ericsson) ที่ว่าด้วยเรื่องการจะมีทักษะในระดับผู้เชี่ยวชาญได้ต้องใช้เวลาเฉลี่ย 10,000 ชั่วโมงในการฝึกแบบจดจ่อ คิดโดยประมาณคือ 3-5 ปีทีเดียว

“การจะฝึกทักษะให้ได้ระดับผู้เชี่ยวชาญในเวลาสั้นๆ คุณจะต้องฝึกแบบไม่หยุดหย่อนเป็นเวลาหลายปี หากคุณไม่ยินดีทุ่มเทเวลาและความพยายาม คุณก็จะถูกบดบังโดยคนที่ยินดีทุ่มเททำสิ่งเหล่านั้น” นั่นคือกฎ 10,000 ชั่วโมง

แต่! การฝึกทักษะอย่างรวดเร็ว (Rapid Skill Acquisition) ของหนังสือกฎ 20 ชั่วโมงแรก (The First 20 Hours) เล่มนี้ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ความสมบูรณ์แบบหรือเก่งระดับโลก แต่เป็นฝึกทักษะจนดีพอที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการฝึกของคุณ โดยเน้นประสิทธิภาพและความรวดเร็ว

Growth Mindset vs Fixed Mindset

ก่อนจะเข้าสู่วิธีการฝึกอย่างรวดเร็ว เราต้องเชื่อก่อนว่าตัวเองมีศักยภาพพอที่จะฝึกทักษะให้สำเร็จได้ 

จากงานวิจัยของดร.แครอล ดเว็ก (Dr.Carol Dweck) นักจิตวิทยาได้ระบุว่าคนเรามีมุมมองต่อทักษะของตัวเองอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือ มีกรอบความคิดตายตัว (fixed mindset) มองว่าความสามารถเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดและมีจำกัด เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ถ้าเราไม่เก่งเลข ต่อให้ทุ่มเททำโจทย์เลขไปก็สูญเปล่า

ในทางตรงกันข้าม คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) มองว่าความสามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกอย่างมุ่งมั่น เช่น ถ้าเราสอบตกวิชาคณิตศาสตร์ นั่นไม่ใช่เพราะไม่มีพรสวรรค์ แต่เพราะยังฝึกมาไม่มากพอหรือฝึกผิดวิธี ถ้าหากฝึกอย่างมุ่งมั่นและถูกวิธี จะต้องทำได้แน่นอน

“สมองก็เหมือนกับกล้ามเนื้อ ยิ่งใช้งานมากเท่าไหร่ ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น”

คุณสามารถฝึกทักษะใดก็ได้ ขอเพียงฝึกฝนอย่างถูกต้องและมีความตั้งใจเพียงพอ

ซื้อหนังสือกฎ 20 ชั่วโมงแรก : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya

การฝึกทักษะอย่างรวดเร็ว

การฝึกทักษะอย่างรวดเร็วแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

  1. การแบ่ง (Deconstructing) : แบ่งทักษะออกเป็นส่วนย่อยๆ ให้มากที่สุด
  2. การเรียนรู้ (Learning) : เรียนรู้ทักษะย่อย พร้อมแก้ไขข้อผิดพลาดระหว่างฝึก
  3. การกำจัด (Removing) : กำจัดอุปสรรคทางร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อม
  4. การฝึก (Practicing) : เริ่มต้นฝึกทักษะย่อยที่สำคัญอย่างน้อย 20 ชั่วโมง

สำหรับขั้นตอนการเรียนรู้ จอชได้แนะนำหลัก 10 ข้อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนได้ไว้ดังนี้

1. เลือกทักษะที่สนใจ : การฝึกทักษะอย่างรวดเร็วจะเป็นไปตามธรรมชาติเมื่อมีความอยากรู้อยากเห็นและความหมกหมุ่น

2. ทุ่มเททีละทักษะ : “ผมมีนิสัยชอบทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน ผมเสียเวลากับการฝึกทักษะสลับไปสลับมา เมื่อฝึกทักษะหนึ่งไม่สำเร็จ ก็จะหันไปฝึกทักษะอื่นแทน ทำให้ผมฝึกทักษะใหม่ได้ช้าเป็นเต่าคลาน” นี่คือสิ่งจอชได้เรียนรู้ และซิสเองก็เช่นกัน บางครั้งการโฟกัสทีละอย่างจะทำให้เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

3. กำหนดระดับทักษะที่ต้องการ : “ดีพอ” ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลองสำรวจว่าเป้าหมายการฝึกของคุณคืออะไร ลองขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อตั้งความคาดหวังอย่างเหมาะสม

4. ย่อยทักษะ : เช่น การฝึกเล่นกีตาร์ แทนที่จะตั้งเป้าหมายเริ่มต้นว่า ฉันจะเล่นกีตาร์ให้ได้ 1 เพลง ลองย่อยทักษะเป็น 

  1. ทำความรู้จักอุปกรณ์
  2. วิธีตั้งสาย
  3. ฝึกจับคอร์ดพื้นฐาน C / D / Em / G
  4. ฝึกรูปแบบการดีด
  5. เล่นและร้องเพลงพร้อมกัน
  6. เล่นเพลงให้ได้ 1 เพลง

การย่อยทักษะจะทำให้เรามองเห็นภาพการฝึกชัดขึ้น ค่อยๆ ไต่ระดับ การเห็นความสำเร็จของแต่ละขั้นจะทำให้มีแรงฮึดสู้ 

5. หาเครื่องมือที่จำเป็น : อย่าเสียดายที่จะลงทุนกับความรู้และทักษะ เพราะสิ่งเหล่านี้จะติดตัวคุณไปและมีประโยชน์แน่นอน ไม่ว่าคุณจะเรียนรู้เพื่ออาชีพหรือเพื่อความบันเทิง เช่น ลงทุนซื้ออุปกรณ์คุณภาพดี, จ้างโค้ช, หรือเช่าถานที่เพื่อฝึกทักษะ 

กรณีของจอช เขาลงทุนซื้ออูคูเลเล่คุณภาพดีและราคาแพงมาใช้แทนรุ่นราคาถูกที่เขามีอยู่ เพราะมีเสียงไพเราะกว่าและมีลายสลักสวยงาม อุปกรณ์คุณภาพดีทำให้เขามีกำลังใจการฝึก รวมถึงรู้สึกเสียดายแย่ถ้าซื้อมาแล้วแต่กลับเล่นไม่เป็นเลย

6. กำจัดอุปสรรคในการฝึก : อุปสรรคใหญ่ๆ คือ เวลา, ร่างกาย, จิตใจ และสิ่งแวดล้อม ก่อนจะเริ่มฝึกให้คุณวางแผนตารางเวลาการฝึก 20 ชั่วโมงภายใน 1 เดือนไว้ล่วงหน้า เลือกสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หากไม่ต้องการให้คนในบ้านรบกวน ควรแจ้งพวกเขาล่วงหน้าว่าช่วงเวลานี้คุณกำลังฝึกทักษะอยู่

7. กำหนดเวลาในการฝึก : “หากคุณคอยแต่จะหาเวลาทำบางสิ่งบางอย่าง คุณจะไม่มีวันได้ทำสิ่งนั้น ถ้าคุณอยากมีเวลา คุณต้องกำหนดเวลาเอง” 

สิ่งที่ทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกันคือ เวลา 24 ชั่วโมงสำหรับแต่ละวัน 24 ชั่วโมงที่ได้รับมา จะใช้มันยังไง คุณเป็นคนกำหนดเอง 

แนะนำให้ลองจดบันทึกกิจวัตรประจำวันสัก 3-7 วันดูว่าเราใช้เวลาไปกับอะไร เท่าไหร่บ้าง แล้วลองพิจารณาตัดหรือลดเวลากิจกรรมที่ไม่จำเป็น 

8. สร้างผลตอบรับที่รวดเร็ว : การประเมินผลเรื่อยๆ จะช่วยให้คุณเห็นความก้าวหน้าและกระตือรือร้นเสมอ  อาจใช้ผู้เชี่ยวชาญ, โปรแกรมคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์ฝึกซ้อม, หรือเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นข้อผิดพลาดได้ทันที

9. จับเวลาเป็นช่วงๆ : ฝึกจนกว่าจะหมดเวลาโดยไม่มีข้อแม้ ช่วยให้การฝึกมีความต่อเนื่องแม้จะรู้สึกท้อใจ ยิ่งฝึกต่อเนื่องเท่าไหร่ คุณยิ่งฝึกได้เร็วขึ้น แนะนำให้ใช้เครื่องมือจับเวลาที่ไม่ใช่มือถือ (เพราะอาจเผลอสนใจ notification หรือกดไถไปแอปอื่นได้) เช่น ซิสมักจะใช้ลำโพง Divoom Ditoo Plus ที่มีฟังก์ชันจับเวลา หรือเปิดวิดีโอ ‘study with me’ บน Youtube ที่มีการจับเวลาและเหมือนมีเพื่อนเรียนไปด้วยกัน

10. เน้นปริมาณและความเร็ว : ช่วงแรกเราฝึกเพื่อดีพอ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ เชื่อเถอะว่าถ้าคุณเพิ่งเริ่มต้น ยังห่างไกลจากคำว่าเพอร์เฟคเยอะ การหมกหมุ่นอยู่กับความสมบูรณ์แบบจะทำให้ฝึกได้น้อยและเห็นผลช้า จนอาจหมดกำลังใจได้



ฝึกทักษะ 20 ชั่วโมง วันละ 60-90 นาทีเป็นเวลา 1 เดือน

จอชแนะนำให้จัดสรรเวลาฝึกวันละ 90 นาที ให้ครบ 20 ชั่วโมงภายใน 1 เดือน ตีแล้วจะใช้เวลาประมาณ 14 วันในการฝึกครบ 20 ชั่วโมง ถ้าฝึกทุกวัน คุณจะใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ หรืออาจแบ่งให้มีวันพักบ้างก็ได้

คุณสามารถปรับให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคุณเอง อย่างซิสเลือกเรียนภาษาเกาหลีวันละ 60 นาทีหลังเลิกงานคือ 5 วันต่อสัปดาห์ วิธีนี้จะใช้เวลา 1 เดือนครบ 20 ชั่วโมง โดยสนุกและเหนื่อยจนเกินไปสำหรับซิส

“คุณต้องตั้งปณิธานว่าจะฝึกให้ครบอย่างน้อย 20 ชั่วโมง เมื่อเริ่มฝึกแล้วต้องทำให้ได้ หากคุณไม่ยินดีลงทุนเวลา 20 ชั่วโมงตั้งแต่แรก อย่าฝึกเลยจะดีกว่า”

คุณเคยเสียเวลากลับมาฝึกทักษะใหม่ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเพราะคุณถอดใจไปกลางทางหรือเปล่า? 

ขอสารภาพว่าซิสกลับมาฝึกดีดกีตาร์คอร์ดพื้นฐาน G, C, D, E, F ซ้ำไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ช่วงเริ่มต้นพลังแห่งความเห่อในกีตาร์ตัวใหม่และภาพฝันว่าเราจะดีดเพลงเพราะๆ ได้จะเข้าครอบงำ ฝึกฝนจนไม่ยอมหลับหรือยอมอดข้าวอดปลา จนกระทั่งพบว่ามันยากกว่าที่คิด! กว่าจะจับคอร์ดถูกหนึ่งคอร์ด ใช้เวลาเป็นวันๆ นิ้วระบมอีก โอ้ย! เลิกดีกว่า หลายปีผ่านไปก็ไม่วายอยากลองเล่นอีก แล้วถอดใจอีก จนวนลูปเสียเวลาเริ่มต้นใหม่

หากคุณพบกับสถานการณ์เดียวกันนี้ ขอให้อดทนจนครบ 20 ชั่วโมง เพราะ…

✦ ตามทฤษฎี 21 วันของดร.มอลต์ซ (Dr.Maxwell Maltz) กล่าวว่า หากเราทำพฤติกรรมบางอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 21 วัน อย่างน้อยวันละ 15 นาที มันจะกลายเป็นนิสัย หากคุณนำมารวมกับการฝึก 20 ชั่วโมงนี้ โดยฝึกวันละ 1 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง ก็มีแนวโน้มว่ามันจะกลายเป็นนิสัย จนคุณไม่ต้องฝืนตัวเอง

✦ เมื่อผ่านช่วงเวลาเห่อและช่วงยากลำบากในการเริ่มต้น คุณจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้

✦ ต่อให้คุณเลือกพักก่อนแล้วค่อยกลับมาฝึกใหม่ มีแนวโน้มสูงว่าคุณจะจดจำพื้นฐานได้ ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ใหม่ เช่น ซิสเคยเรียนภาษาญี่ปุ่นขั้นพื้นฐานช่วงม.ปลายเป็นเวลา 2 เดือน นับตั้งแต่นั้นมาเป็นเกือบ 10 ปี ซิสไม่ได้แตะภาษาญี่ปุ่นเลย แต่ยังคงจำตัวอักษรและประโยคพื้นฐานได้ ถ้ากลับมาเรียนต่อก็ไม่ต้องเริ่มต้นฝึกอ่านเขียนตัวอักษรใหม่

ไม่มีทักษะอะไรที่สำเร็จได้โดยง่าย (ไม่งั้นทุกคนก็คงทำได้ทุกอย่างเหมือนๆ กันหมดแล้ว!)

เป้าหมายของ 20 ชั่วโมงแรกไม่ใช่เก่งระดับโลก แต่ดีเพียงพอที่จะนำไปใช้งานได้จริง ถ้าสนใจจริงๆ ก็ฝึกฝนต่อยอดในระดับสูงขึ้นตามที่คุณต้องการ

การเดินทางหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก

“การเดินทางหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก” เป็นสุภาษิตจีนที่ซิสชอบและคิดว่าเหมาะกับเวลาเราเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คนเก่งในทักษะต่างๆ ต่างเริ่มต้นจากก้าวแรกของตัวเอง

จงเริ่มลงมือฝึกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ต้องคิดมากหรือกังวลกับผลลัพธ์ แค่ลงมือฝึกฝนอย่างเต็มที่พอ อย่ามัวเสียพลังงานทางความคิดและทางอารมณ์ไปหลายปี แต่ลังเลที่จะเริ่มต้น

สิ่งที่ซิสหลงรักในยุคนี้คือ เรามีสื่อการเรียนการสอนฟรีทั่วโลกอินเตอร์เน็ต แถมมีสื่อสนุกๆ และสร้างสรรค์มากมาย เมื่อเทียบกับสิบกว่าปีก่อนที่เรียนได้จากเพียงหนังสือ, รายการทีวี หรือพูดคุยกับคนรอบตัวเท่านั้น

วิธีฝึกในอุดมคติคือ การอยู่ในสภาพแวดล้อมจริง เช่น ไปอยู่ฝรั่งเศสเพื่อเรียนภาษาฝรั่งเศส หลังจากเราผ่านช่วงเวลาท้อแท้จากการปรับตัวแล้ว ทักษะจะก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม หลายคนมีภาระที่ไม่สามารถและไม่อยากทิ้งไป เช่น ครอบครัว, การงาน, หนี้สิน หรืออื่นๆ ถ้ามัวแต่รอโอกาสที่จะได้เปลี่ยนสภาพแวดล้อม แทนที่จะเริ่มต้นฝึกทักษะใหม่เลย อาจเสียเวลาอันมีค่าไปหลายปี 

ซื้อหนังสือกฎ 20 ชั่วโมงแรก : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya

จงเปลี่ยนสภาพแวลดล้อมเมื่อมีโอกาส แต่อย่ายึดติดมากเกินไปจนไม่ได้เริ่มต้นฝึกอะไรเลย

สรุปแล้วหนังสือกฎ 20 ชั่วโมงแรกเหมาะอย่างมากสำหรับคนที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะเรียนด้วยตัวเองแต่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามหวัง เคล็ดลับของผู้เขียนช่วยเปิดมุมมองเกี่ยวกับการฝึกทักษะมากขึ้น ทำให้ความรู้สึกอยากเรียนลุกโชนขึ้นมา ไม่ใช่แค่ทักษะทางความรู้ แต่รวมถึงทักษะทางดนตรีและกีฬา

จอช คอฟแมนได้นำเสนอกฎ 20 ชั่วโมงแรกไว้ใน TEDx Talk ซึ่งมียอดรับชมกว่า 28 ล้านวิวแล้ว คอมเมนท์ส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงบวกว่าคลิปนี้ทำให้พวกเขาลงมือฝึกทักษะจริงๆ สามารถรับชมได้ที่คลิปข้างล่าง



0 Shares
You May Also Like
รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร

รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร : เทพตกอับกับราชาผีคลั่งรัก

'องค์ไท่จื่อเซี่ยเหลียน' ลูกรักของสวรรค์กลับตกอับจนถูกเรียกว่าเทพขยะ แต่ทำไม 'ราชาผีฮวาเฉิง' ผู้ยิ่งใหญ่ถึงมาตามติดเขาต้อยๆ ได้ล่ะเนี่ย

สรุปหนังสือเจ้าชายน้อย: 4 ข้อคิดจากเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่คนนี้เคยเป็น

วรรณกรรมอมตะสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนที่หวนคิดถึงตัวตนในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ ความกล้าหาญ ความฝัน และความเชื่อว่าตัวเองทำได้ทุกอย่าง
สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก

สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก : คัมภีร์แห่งการรักตัวเอง

รวม 9 ข้อคิดดีๆ จากหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก 💋 ที่จะทำให้คุณหันมาให้เกียรติตัวเองในช่วงเวลาที่หลงรักคนอื่นจนหลงลืมที่จะรักตัวเอง
สรุปหนังสือ ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

สรุปหนังสือ The Asshole Survival Guide : ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

คู่มือรับมือคนเฮงซวยที่ช่วยให้เรารักษาชีวิตอันแสนสงบสุขด้วยการตัด “ปัญหาคนเฮงซวย” ทั้งแบบชั่วคราวและเรื้อรังอย่างฉลาดและบาดเจ็บน้อยที่สุด
สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ (Four Thousand Weeks)

สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ : 4 ข้อคิดในการบริหารเวลาชีวิต

"เพราะเราไม่ได้มีเวลา แต่เราคือเวลา" เมื่อเวลามีจำกัด แต่เรายังมีสิ่งมากมายบนโลกที่อยากทำ เราจะบริหารเวลาอย่างไรเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย
สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่

สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่ : 3 วิธีดับความหัวร้อน

อย่าสิ้นเปลืองเวลาและพลังงานไปกับการสู้กับคนโง่เลย เพราะเป้าหมายสำคัญกว่าความสะใจเพียงชั่วคราว มาดูวิธีดับความหัวร้อนจากเล่มนี้กัน