#ReadersGarden เล่มที่ 24
หากพูดถึงเหตุการณ์ปฏิวัติครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์โลก การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) มักจะเหตุการณ์แรกๆ ที่เรานึกถึง แม้จะไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ต้องเคยได้ยินเรื่องราวการประหารกษัตริย์ด้วยกิโยติน, ประโยคดังก้องโลกอย่าง “ก็ให้พวกเขากินเค้กสิ” ของพระนางมารี อังตัวเน็ตต์, และความเป็นฮีโร่ของคณะปฏิวัติและประชาชนฝรั่งเศสที่ล้มล้างราชวงศ์ผู้เพิกเฉยต่อประชาชนที่กำลังจะอดตาย จนกลายเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยเสรีนิยมของโลก
แต่เรื่องราวที่เรารู้มาจริงเท็จมากน้อยแค่ไหนกัน?
หนังสือ The French Revolution เขียนโดยคุณพีรวุฒิ เสนามนตรี ของสำนักพิมพ์ยิปซี ชื่อนี้การันตีคุณภาพของหนังสือประวัติศาสตร์ เสนอข้อเท็จจริง เล่าออกมาให้เข้าใจง่าย และที่สำคัญ ปกหนังสือสวยน่าสะสมมาก (นี่ก็เป็นอีกเล่มที่โดนตกเป็นปกสวยเลยค่ะ)

เล่มนี้บอกเล่าข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 อย่างตรงไปตรงมา เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับคนที่ไม่เคยศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังมาก่อนอย่างซิส บางเรื่องที่เคยรู้มาผ่านๆ หรือเผยให้เห็นแค่บางส่วนจากหนัง ทำให้มองแต่ความสำเร็จของการปฏิวัติ จนเผลอมองข้ามเลือด หยาดเหงื่อ น้ำตา และกองศพ
โดยเล่าเรื่องไปตามลำดับเหตุการณ์ เริ่มตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเป็นยุคทองในหลายๆ ด้านและอำนาจของกษัตริย์อยู่ในจุดสูงสุด แต่เมล็ดพันธุ์แห่งการปฏิวัติก็ถูกปลูกขึ้นในรัชสมัยนี้เช่นกัน ค่อยๆ เติบโตขึ้นในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จนผลิดอกออกผลในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สุริยกษัตริย์ผู้สาดแสงไปทั่วโลก
ถ้าใครได้ดูละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ คงจะพอคุ้นหูกับชื่อ ‘พระเจ้าหลุยส์ที่ 14’ ที่คณะราชทูตจากอาณาจักรอยุธยาอย่างออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) และ ‘พี่หมื่น’ ไปเข้าเฝ้าถึงพระราชวังแวร์ซาย

ความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สาดแสงไปทั่วโลก ทั้งเป็นหนึ่งในมหาอำนาจยุโรป, ครอบครองดินแดนในทวีปอเมริกา, ตั้งสถานีการค้าที่อินเดีย, เจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอยุธยา, และยังขยายดินแดนไปเรื่อยๆ ตลอดรัชสมัย
พระองค์ยังเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก (72 ปี 110 วัน) และสามารถกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว แม้แต่ศาสนจักรที่คานอำนาจกับราชสำนักมาตลอดก็ถูกลิดรอนอำนาจในรัชสมัยนี้
จุดแข็งของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คืออะไร?
กลยุทธ์สำคัญที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือ การทำให้ขุนนาง ‘เชื่อง’ โดยการเรียกตัวขุนนางชนชั้นสูงให้มาเข้าเฝ้าและพำนักอยู่ใน ‘พระราชวังแวร์ซาย’ เป็นเวลานาน มอมเมาพวกเขาด้วยลาภยศ ของกำนัล งานเลี้ยงหรูหราที่ถูกจัดขึ้นทุกวัน
ในขณะเดียวกัน พระองค์ก็ลดทอนอำนาจอิทธิพลของขุนนางเหล่านั้น เช่น ห้ามมีกองทัพส่วน, ห้ามสืบทอดตำแหน่งทางราชการ, โยกย้ายนายทหารระดับสูง แล้วการพำนักในพระราชวังแวร์ซายเป็นเวลานาน ทำให้เหล่าขุนนางอยู่ในสายตาตลอดเวลา การสื่อสารทุกอย่างจะถูกตรวจสอบโดยสำนักราชวัง
อีกทั้งยังสนับสนุนชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่มีความสามารถและจงรักภักดี มอบลาภยศ แต่งตั้งให้เป็นขุนนางที่ทำหน้าที่จริงๆ ตามภาคส่วนราชการต่างๆ
ส่วนทางศาสนจักรใหญ่ที่มีอำนาจมาอย่างช้านาน ไม่ยอมถูกจำกัดอิทธิพลง่ายๆ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงทรงอภิเษกสมรสใหม่กับมาดามเดอ เมนตีรงซึ่งเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด เพื่อขอแรงสนับสนุนจากพระสันตะปาปา ทั้งยังยกเลิกสิทธิต่างๆ ของชาวโปรเตสแตนต์ที่มีมาอย่างยาวนาน จนพวกเขาต้องอพยพลี้ภัยออกนอกประเทศ
แต่นั้นก็ทำให้ภาษาฝรั่งเศสแพร่หลายไปยังรอบนอกและถูกใช้เป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร
สรุปแล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงมอมเมาขุนนางชนชั้นสูงด้วยลาภยศและสิ่งหรูหรา แต่ลิดรอนอำนาจอิทธิพล ในขณะเดียวกันก็มอบอำนาจในการทำงานให้กับขุนนางใหม่ที่แต่งตั้งมาจากชนชั้นล่างและชนชั้นกลาง ส่วนสถาบันศาสนาถูกบีบให้จำกัดสิทธิพิเศษ จนอำนาจเบ็ดเสร็จรวมอยู่ที่กษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว
อำนาจที่ความยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับหนี้สินอันใหญ่ยิ่ง
อีกหนึ่งความสามารถที่โดดเด่นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คือ การมองเห็นความสามารถคน รู้ว่าใครเก่ง เก่งด้านไหน และจะเลี้ยงดูใช้งานได้อย่างไร จึงมีบุคลากรที่เก่งกาจอยู่รอบตัวอยู่มากมาย มิเชลล์ เลอ เทลีเยร์ (Michel Le Tellier) ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเป็นนักการทหารคนสำคัญที่สร้างกองทัพฝรั่งเศสให้ “ไร้เทียมทาน” สามารถเอาชนะกองทัพพันธมิตรมหาอำนาจในยุโรปได้หลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม แม้อาณาเขตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เศรษฐกิจกลับตกต่ำลง เพราะใช้งบประมาณไปกับสงครามจนเป็นหนี้สาธารณะจำนวนมาก
ที่จริงเศรษฐกิจในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เคยมั่งคั่งรุ่งเรืองจนถูกเรียกว่า ยุคทองทางเศรษฐกิจอยู่ช่วงหนึ่ง แต่มาตกต่ำลงอย่างมากในปลายรัชสมัย เพราะทำสงครามใหญ่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจนผลผลิตทางการเกษตรลดลง
ซื้อหนังสือปฎิวัติฝรั่งเศส The French Revolution : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
สู่การปฏิวัติ : เสรีภาพ ความเสมอภาค และภารดรภาพ
ปัญหาเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับการทำสงครามอย่างต่อเนื่องมีมาตั้งแต่ปลายรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ดำเนินเรื่อยมาจนถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
- กษัตริย์และขุนนางบางส่วนมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ลองมาหลายวิธี แต่ก็ยังล้มเหลว
- ชนชั้นสูงบางกลุ่มยังคงเสวยสุขและไม่ยอมเสียสิทธิพิเศษง่ายๆ แม้แต่การจ่ายภาษีจำนวนมาก
- สามัญชนถูกเรียกเก็บภาษีจำนวนมาก ทั้งยังไม่มีพืชผลขนมปังเพียงพอจนเริ่มอดตาย
- ชนชั้นล่างและชนชั้นกลางได้รับการศึกษามากขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีนักปราชญ์เกิดขึ้นมากมาย พร้อมแนวคิดเสรีนิยมแพร่กระจายไปทั่วประเทศ
ทั้งหมดนี้นำไปสู่ การปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรกในปี 1789 เมื่ออ่านมาถึงบทนี้ ซิสถึงได้ไขความเข้าใจผิดมาตลอดอยู่ 3 เรื่อง
1.) การนองเลือดครั้งใหญ่ไม่ได้เกิดจากกษัตริย์ – เคยคิดว่าสาเหตุมาจากกษัตริย์และราชวงศ์ยอมหักไม่ยอมงอ แต่ที่จริงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์มาอย่างยาวนานแล้ว จนเมื่อเกิดการปฏิวัติ พระองค์ก็ยอมปฏิญาณตนต่อ “ชาติ” ฝรั่งเศสรูปแบบใหม่แต่โดยดี เป็นราชาที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
แต่การนองเลือดครั้งใหญ่เกิดจาก ‘ความศรัทธาในศาสนา’ คณะปฏิวัติบังคับให้ทุกคนหันมาจงรักภักดีต่อรัฐชาติฝรั่งเศสที่เพิ่งเกิดใหม่แทนราชวงศ์ รวมถึงศาสนจักรที่อยู่มาเป็นพันปี ผู้คนที่ศรัทธาในคริสตจักร โดยเฉพาะชาวชนบท ชนชั้นสูงและชนชั้นนักบวชจึงหันมาต่อสู้กับกองทัพปฏิวัติ เมื่อเห็นดังนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงเปลี่ยนจากสนับสนุนการปฏิวัติเป็นต่อต้าน ผลสุดท้ายฝ่ายปฏิวัติได้รับชัยชนะ พร้อมกับกองซากศพของคนในชาติเดียวกันนับแสนคน
การนองเลือดครั้งใหญ่อีกครั้งยังมาจากการเข่นฆ่ากันเองของนักปฏิวัติด้วย แม้มีแนวคิดเสรีนิยมเหมือนกัน แต่ก็ยึดถือในหลักการต่างกัน เช่น บางกลุ่มต้องการราชาภายใต้รัฐธรรมนูญ บางกลุ่มก็ไม่ต้องการราชาเลย ความน่ากลัวคือ คนที่เห็นต่างหรือแม้แต่อยู่ทางสายกลาง จะถูกหาว่าเป็นกบฏและถูกประหารทิ้ง บางครั้งก็ไม่มีการไต่สวนก่อน จนถูกเรียกว่า ยุคแห่งความหวาดกลัว (Great Fear)
2.) พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ไม่ใช่กษัตริย์องค์สุดท้าย – ซิสเคยคิดว่าหลังจบการปฏิวัติปี 1789 ฝรั่งเศสก็เป็นประเทศประชาธิปไตยเลย แต่มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ฝรั่งเศสเกิดการปฏิวัติมาแล้วถึง 3 ครั้งในระยะเวลาเกือบศตวรรษ (ค.ศ. 1789 – ค.ศ. 1871)
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เล่าถึงการปฏิวัติครั้งแรกปี 1789 เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน แม้ว่าหลังจากนั้นในปี 1799 นโปเลียน โบนาปาร์ต จะก่อรัฐประหารและพาประเทศกลับสู่ระบบเผด็จการอีกครั้งก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว กษัตริย์องค์สุดท้ายของฝรั่งเศสคือ พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปที่ 1 ที่ถูกบังคับให้สละราชสมบัติในปี 1848 ในการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งสุดท้าย
3.) “ถ้าราษฎรไม่มีขนมปังจะกิน ก็ให้พวกเขากินเค้กสิ” ราชินีไม่ได้พูดสิ่งนี้ – นี่เป็นประโยคสุด ignorant อันโด่งดังและทำให้ชื่อเสีย(ง)ของ พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ ดังกระฉ่อนมาหลายศตวรรษ (และคงจะถูกพูดถึงไปอีกยาวนาน)
เราตัดสินพระองค์ทั้งชีวิตจากคำพูดแค่ประโยคเดียว ที่ไม่ได้พูดจริงๆ ด้วยซ้ำ!
แล้วมันมีที่มาจากไหนล่ะ?
:max_bytes(150000):strip_icc():format(webp)/Marie-Antoinette-Children-x1-56466456-56b831803df78c0b1365084d.jpg)
ประโยค “Qu’ils mangent de la brioche” หรือ “ก็ให้พวกเขากินเค้กสิ” ปรากฏขึ้นในหนังสือคำสารภาพ (Rousseau’s Confessions) ของนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสคนสำคัญ ฌอง ฌากส์ รุสโซ ซึ่งมีการพูดถึง ‘เจ้าหญิงผู้ยิ่งใหญ่’ คนหนึ่ง แต่ตอนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนีย (พระนามเดิมตอนยังเป็นเจ้าหญิงแห่งออสเตรีย) ยังเป็นองค์หญิงน้อยของต่างประเทศอยู่เลย จึงยากที่รุสโซจะหมายถึงพระองค์
ที่ประโยคนี้ถูกจับมาเข้าคู่กับองค์ราชินี เพราะหนังสือถูกตีพิมพ์แพร่หลายในช่วงพระนางมารีปกครองฝรั่งเศส แล้วพระนางก็เป็นราชินีที่ประชาชนไม่ปลื้ม เพราะมาจากประเทศศัตรูตลอดกาลอย่างออสเตรีย ใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยในขณะที่ประชาชนอดอยาก รวมถึงแทรกแซงสงครามเพื่อผลประโยชน์ของจักรวรรดิโรมันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นประเทศของเสด็จแม่ เข้าข้างบ้านเกิดมากกว่าประเทศที่ตัวเองปกครอง
ท้ายที่สุด คำพูดสุดโด่งดังนี้จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือใส่ร้ายป้ายสี เติมเชื้อไฟแห่งความเกลียดชัง จนกลายเป็นตราบาปที่ติดอยู่ในความทรงจำใครหลายคนว่า ‘พระนางมารี อังตัวเน็ตต์เป็นคนที่เพิกเฉยต่อความอดอยากของประชาชนและขาดความรู้ในสถานการณ์บ้านเมือง’
ซื้อหนังสือปฎิวัติฝรั่งเศส The French Revolution : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
สรุปแล้ว นี้เป็นหนังสือที่ไขข้อสงสัยและความเข้าใจผิดหลายๆ อย่าง รวมถึงให้มุมมองใหม่ๆ ยิ่งอ่าน ยิ่งอยากรู้เพิ่ม ยิ่งไปขุดหาข้อมูลต่อ ถึงได้รู้ว่ามันพลิกกลับไปกลับมาหลายรอบมาก กว่าฝรั่งเศสจะได้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเหมือนในทุกวันนี้ มีวัฒนธรรมที่น่าหลงใหล กลายเป็นเมืองน้ำหอม เมืองแฟชั่น เมืองแห่งศิลปะ อาหารฝรั่งเศสก็โด่งดังไปทั่วโลก ผู้คนมีไลฟ์สไตล์รักอิสระ ทำงานเพื่อใช้ชีวิต ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อทำงาน แบบที่เห็นในซีรีส์ Emily in Paris
วิถีชีวิตที่แตกต่างจากยุคสมัยเก่าอย่างสิ้นเชิง
ทั้งหมดนี้เกิดมาจากอุดมการณ์อันแรงกล้า ความกล้าหาญ และความเสียสละของเหล่านักปราชญ์ นักปฏิวัติและประชาชนชาวฝรั่งเศสจากการปฏิวัติฝรั่งเศส