สรุปหนังสือ The Marvel Studios Story

สรุปหนังสือ The Marvel Studios Story : บทเรียนธุรกิจฉบับมาร์เวล สตูดิโอ

0 Shares
0
0
0
0
0

#ReadersGarden เล่มที่ 64

จากค่ายคอมิกส์ที่เกือบล้มละลาย สู่จักรวาลมาร์เวลที่ครองใจคนทั้งโลก

“โล่กัปตันอเมริกาจะแข็งแรงแค่ไหน ก็มิอาจแกร่งสู้บริษัทที่ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ทว่ายังยืนหยัดไม่ย่อท้ออย่าง Marvel Studios ได้”

นี่เป็นหนังสือที่ “โคตรสนุก!” สนุกไม่แพ้ภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ที่ Marvel สรรสร้างเลยค่ะ บทเรียนธุรกิจฉบับมาร์เวล สตูดิโอ (The Marvel Studios Story) เขียนโดยชาร์ลี เวทเซล (Charlie Wetzel) และสเตฟานี เวทเซล (Stephanie Wetzel) เล่าเรื่องราวการเดินทางอันน่าตื่นเต้นของ Marvel Studios 

Marvel Heroes เหล่าผู้ให้กำเนิดมาร์เวล

Martin Goodman ผู้ก่อตั้ง Timely Comics ซึ่งภายหลังกลายเป็น Marvel (เครดิต: Marvel Fandom)
Joe Simon และ Jack Kirby (เครดิต: Deconstructing Roy Lichtenstein™ © 2000)

เริ่มตั้งแต่ที่มาร์ติน กู๊ดแมน (Martin Goodman) ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์หลายแห่งรวมถึง Timely Comics (ซึ่งต่อมากลายเป็น Marvel) เริ่มตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนเล่มแรกในปี 1939 โดยมีศิลปินและนักเขียนคนสำคัญอย่างโจ ไซมอน (Joe Simon) และ แจ็ก เคอร์บี (Jack Kirby) ผู้ให้กำเนิดซุปเปอร์ฮีโร่ยุคแรกของ Marvel มากมายรวมถึง Captain America

ยังมีคาร์ล เบอร์โกส์ (Carl Burgos) และบิลล์ เอเวอเร็ต (Bill Everett) ผู้สร้าง Human Torch และ Namor ซึ่งกลายเป็น 2 ฮีโร่ตั้งต้นและเครื่องหมายการค้าของ Marvel ในเวลาต่อมา

Stan Lee เป็นนักแสดงรับเชิญในภาพยนตร์จักรวาล Marvel (เครดิต: The New York Times)

อีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่แฟนๆ Marvel คุ้นเคยคือ สแตนลีย์ ลีเบอร์ (Stanley Lieber) หรือคุณปู่สแตนลี (Stan Lee) นั่นเอง ลีเริ่มต้นทำงานกับ Marvel มาตั้งแต่อายุ 17 ปีในตำแหน่งพนักงานชั่วคราวที่ทำงานจิปาถะตั้งแต่กวาดพื้น ซื้อกาแฟและอาหารกลางวัน ลบรอยดินสอบนงานที่เพิ่งลงหมึก ไปจนถึงพิสูจน์อักษร ลีไม่เพียงตรวจสอบความถูกต้องของคำ เขายังเสนอแนะด้วยว่า “ประโยคนี้ฟังดูแปลกๆ ลองเปลี่ยนเป็นแบบนี้ไหม?” ไม่นานเขาก็ได้รับความไว้วางใจจากพี่ๆ ในที่ทำงาน กลายเป็นบรรณาธิการและศิลปินผู้สร้างซุปเปอร์ฮีโร่มากมายรวมถึง ‘สไปเดอร์-แมน’

หลังจากนั้น Marvel ก็ผ่านช่วงเวลายุครุ่งโรจน์และยุคมืดของหนังสือการ์ตูน บริษัทถูกเปลี่ยนผ่านมือเจ้าของไปมากมาย จนกระทั่งได้มาพบกับอาวิ อารัด (Avi Arad) ซีอีโอของบริษัทผลิตของเล่น Toy Biz และกลายมาเป็นซีอีโอของ Marvel Film ผู้ผลักดันให้ Marvel ไปสู่ฮอลลีวู้ด มีส่วนร่วมในการผลิตหนังของซุปเปอร์ฮีโร่ Marvel ยุคแรกอย่าง X-Men ออริจินัล 3 ภาค, Hulk, Spider-Man ออริจินัล 3 ภาค และอีกมากมาย

ส่วนเจ้านายและคู่หูของอารัดที่มาจากบริษัท Toy Biz เหมือนกันอย่างไอค์ เพิร์ลมัทเทอร์ (Ike Perlmutter) มีบทบาทสำคัญในแง่ของการบริหารธุรกิจและสร้างกำไรให้ Marvel Enterprise ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานของ Marvel Entertainment 

การเดินทางของ Marvel ไม่ต่างจากเรื่องราวของซุปเปอร์ฮีโร่ที่พวกเขาสร้างเลย ผ่านวิกฤตการณ์มากมาย มีทั้งฝ่ายดีที่นำพา Marvel สู่ความสำเร็จ และวายร้ายที่เข้าเพื่อฉกฉวยผลประโยชน์โดยไม่ได้รู้จักซุปเปอร์ฮีโร่ Marvel จริงๆ ด้วยซ้ำ



ทำสิ่งที่แตกต่าง สร้างสรรค์อย่างไร้ขีดจำกัด

แม้กู๊ดแมนจะเริ่มตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนเล่มแรกเพราะได้แรงบันดาลใจมาจาก Superman และ Batman ของค่าย DC Comics แต่ซุปเปอร์ฮีโร่ของ Marvel นั้นก็ไม่เหมือนใคร 

ทีมงาน Marvel ขึ้นชื่อเรื่องของการทำสิ่งที่แตกต่างและคิดนอกกรอบ ตั้งแต่ยุคแรกพวกเขาสร้างซุปเปอร์ฮีโร่ที่มีข้อบกพร่องและต้องเผชิญปัญหาในชีวิตประจำวันเหมือนมนุษย์ทั่วไป เช่น Spider-man ฮีโร่วัยรุ่นที่ต้องเผชิญกับปัญหาความยากจน, Thor เทพเจ้าที่อีโก้สูง, Namor เป็นพวกขี้ฉุนเฉียวและทัศนคติไม่ดี เป็นต้น 

พวกเขายังริเริ่มสร้างซุปเปอร์ฮีโร่ที่มีความหลากหลาย เช่น Daredevil ฮีโร่ตาบอดคนแรก, Black Panther ฮีโร่ผิวดำคนแรก, Invisible Woman ฮีโร่ผู้หญิง, Gabriel Jones ฮีโร่ชาวยิว เป็นต้น ทำให้เข้าถึงและครองใจกลุ่มผู้อ่านหลากหลายกลุ่ม

ในคอลัมน์บรรณาธิการอย่าง ‘ช่องบ่นของสแตน’ ลียังได้ทำสิ่งที่แตกต่างอย่างเขียนถึงประเด็นทางสังคมในช่วงนั้นเพื่อให้คนตระหนัก เช่น การเหยียดสีผิว การใช้ยาเสพติด เป็นต้น เขาขอให้แฟนๆ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการ์ตูนเพื่อเก็บข้อมูล รวมถึงริเริ่มการให้เครดิตทีมงานด้วย

Marvel Mystery Comics #8 (เครดิต: marvel.com)

ทีมงาน Marvel ยังริเร่ิมการนำซุปเปอร์ฮีโร่จากต่างเรื่องมาปรากฏตัวร่วมกัน โดย Namor และ Human Torch ปรากฏตัวร่วมกันครั้งแรกใน Marvel Mystery Comics #8 (ปกเดือนมิถุนายน) ปี 1940 ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน แม้ Superman กับ Batman จะดังเป็นพลุแตกและอยู่ในค่ายเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยปรากฏตัวร่วมกันเลยจนกระทั่งปี 1952 หรืออีก 10 กว่าปีถัดมา

การริเริ่มนี้เป็นจุดกำเนิดของการเชื่อมโยงเรื่องราวระหว่างจักรวาลซุปเปอร์ฮีโร่อย่างยิ่งใหญ่ที่กลายเป็นรากฐานของจักรวาลภาพยนตร์ Marvel หรือ MCU (Marvel Cinematic Universe) 

เหล่าคนเก่งที่เต็มไปด้วยแพชชั่นและทีมเวิร์คที่แข็งแรง

เบื้องหลังความสำเร็จของ Marvel มีทีมงานคนสำคัญมากมาย ซึ่งเราแบ่งออกได้เป็น 2 ฝ่ายหลักคือ ฝ่ายบริหารธุรกิจที่รับผิดชอบการสร้างรายได้ให้บริษัท กับฝ่ายสร้างสรรค์ที่ผลิตผลงานครองใจผู้ชม ทั้งหนังสือการ์ตูน, ของเล่น และภาพยนตร์

ในยุคเริ่มต้นของ Marvel Comics กู๊ดแมนเป็นผู้บริหารที่สนใจเพียงตัวเลขยอดขาย เขามีแหล่งข่าวมากมาย จับกระแสได้ไวและจะรีบนำข้อมูลมาบอกต่อฝ่ายสร้างสรรค์ “ไม่ต้องบอกผมว่าทำอย่างไร แค่แสดงผลลัพธ์ให้ผมดูก็พอ” ฝ่ายผลิตผลงานอย่างไซมอน, เคอร์บี, ลีและทีมงาน มีอิสระเต็มที่ในการสร้างสรรค์ผลงานและตีพิมพ์ ตราบใดที่ยอดขายยังดีอยู่ กู๊ดแมนจะไม่ก้าวก่ายเรื่องผลงานเลย ส่ิงนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อใจและการทำงานเป็นทีมที่ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด 

Jon Favraeu และ Robert Downey Jr. ในภาพยนตร์ Iron Man

ในหนังเรื่องแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของจักรวาลภาพยนตร์ Marvel อย่าง Iron Man (2008) ทาง Marvel ได้เสี่ยงเลือกผู้กำกับ จอน แฟฟโร (Jon Favraeu) ซึ่งมีประสบการณ์กำกับภาพยนตร์น้อยนิด และเลือกนักแสดงนำอย่างโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.) ที่แม้จะเก่งแต่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่เรื่องการใช้ยาเสพติดในอดีตและพฤติกรรมเอาแน่เอานอนไม่ได้ พื้นหลังของผู้กำกับและนักแสดงนำมีข้อกังขา งบภาพยนตร์ก็น้อยนิดเมื่อเทียบกับ Spider-man 3 (2007) ของ Sony Pictures ที่ผลิตออกมาในช่วงเวลาเดียวกัน แต่สุดท้ายอย่างที่พวกเรารับรู้ Iron Man ประสบความสำเร็จถล่มทลายกลายเป็นการเริ่มต้น MCU ที่สวยงาม

หลังจากนั้นมา Marvel ก็ขึ้นชื่อในการเฟ้นหาทีมงานที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดเสมอแม้ว่าจะดูเสี่ยงก็ตาม Marvel Studios ส่งเสริมวัฒนธรรมของการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ MCU มีชีวิตขึ้นมาได้ ทางสตูดิโอทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้กำกับ นักเขียนบทและนักแสดงเพื่อให้แน่ใจว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องนำเสนอซุปเปอร์ฮีโร่เป็นไปตามต้นฉบับ ขณะเดียวกันต้องให้ความบันเทิงและผู้ชมมีความรู้สึกร่วมด้วย

ฝ่าวิกฤติด้วยกลยุทธ์ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

Marvel ล้มลุกคลุกคลานมานานกว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ในยุค 1950s เป็นยุคมืดของหนังสือการ์ตูนเมื่อมีนักจิตวิทยาคนหนึ่งตีพิมพ์บทความว่า “หนังสือการ์ตูนมีอิทธิพลเชิงลบแก่เยาวชนและทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว” (เหมือนกับปัจจุบันที่วิดีโอเกมถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายต่อเด็กๆ) ดังนั้นหนังสือการ์ตูนจึงแบน ยอดขายลดลงจนกู๊ดแมนจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานเหลือเพียงแต่ลี 

ลีมองว่าที่กู๊ดแมนยังเก็บลีไว้เพราะเขายังไม่อยากยอมแพ้ในหนังสือการ์ตูน และกู๊ดแมนคิดถูก หลังจากนั้นไม่นานหนังสือการ์ตูนก็ฟื้นตัว ลีได้สร้างซุปเปอร์ฮีโร่ชุดใหม่ออกมารวมถึง Spider-man ชื่อของ Marvel Comics เริ่มกลับมาเป็นที่รู้จัก ถึงอย่างนั้นยอดขายก็ยังไม่ได้ดีดังเดิม

ทีมงาน Marvel ต้องหาทางรอดให้ธุรกิจโดยการทยอยขายลิขสิทธิ์ตัวละครกว่า 60,000 ตัวที่มีอยู่ในคลัง ขายให้กับบริษัทผลิตของเล่นกับบริษัทผลิตภาพยนตร์และซีรีส์

ในช่วงแรก ซีรีส์ซุปเปอร์ฮีโร่ Marvel ฉบับคนแสดงหลายเรื่องล้มเหลวด้านรายได้และความนิยม เพราะเทคโนโลยียังไม่สามารถสร้างฉากแอคชั่นตื่นเต้นได้เหมือนกับในการ์ตูน รวมถึงทางผู้สร้างไม่ได้รู้จักซุปเปอร์ฮีโร่ของ Marvel จริงๆ ปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องเองจนไม่ถูกใจแฟนการ์ตูน

แม้ต่อมาจะมีภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่าง Blade (1998) ของ New Line Cinema สร้างรายได้ถึง 131 ล้านเหรียญทั่วโลก แต่ Marvel Enterprise กลับได้ส่วนแบ่งกำไรเพียง 25,000 เหรียญ ฟังดูน่าเศร้าแต่อารัดกลับมองว่านี่เป็นโอกาสที่ดี เขาโน้มแนวคนในวงการฮอลลีวู้ดให้หันมาสนใจ Marvel ได้โดยบอกว่า “Blade มีโอกาสน้อยมาที่จะประสบความสำเร็จ” เพราะเป็นตัวละครหลักที่ได้รับความนิยมน้อยกว่าตัวอื่นๆ เป็นแนวสยองขวัญ หนังเรทอาร์ นักแสดงเป็นชาวแอฟริกันอเมริกันซึ่งไม่ใช่สายหลักในยุคนั้น 

ถ้าภาพยนตร์ Blade ประสบความสำเร็จได้ ฮีโร่ตัวอื่นๆ ก็มีโอกาสสูงเช่นกัน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นในภาพยนตร์เรื่องถัดมาอย่าง X-Men (2000) ของ 20th Century Studios และ Spider-Man (2002) ของ Sony Pictures ที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้และความนิยมอย่างถล่มทลาย แต่รายได้ของ Marvel ก็ยังไม่ค่อยมาเท่าไหร่ จนสุดท้าย Marvel ก็ประสบความสำเร็จด้านรายได้เมื่อเริ่มสร้างภาพยนตร์เองเรื่องแรกคือ Iron Man (2008)

ซื้อหนังสือ: นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya

แม้จะล้มลุกคลุกคลาน ยอมทำข้อตกลงที่เสียเปรียบเพื่อให้บริษัทอยู่รอด แต่ความอดทน การปรับตัวอย่างรวดเร็วและการเผชิญหน้ากับความล้มเหลวเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ และทำให้ Marvel ยังคงอยู่และกลายเป็นที่รักของแฟนๆ ทั่วโลกได้จนถึงทุกวันนี้

หวังว่าสักวันเราจะได้ดูภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวต้นกำเนิดของ Marvel Comics



0 Shares
You May Also Like
รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร

รีวิวหนังสือสวรรค์ประทานพร : เทพตกอับกับราชาผีคลั่งรัก

'องค์ไท่จื่อเซี่ยเหลียน' ลูกรักของสวรรค์กลับตกอับจนถูกเรียกว่าเทพขยะ แต่ทำไม 'ราชาผีฮวาเฉิง' ผู้ยิ่งใหญ่ถึงมาตามติดเขาต้อยๆ ได้ล่ะเนี่ย

สรุปหนังสือเจ้าชายน้อย: 4 ข้อคิดจากเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่คนนี้เคยเป็น

วรรณกรรมอมตะสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนที่หวนคิดถึงตัวตนในวัยเยาว์ที่เต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ ความกล้าหาญ ความฝัน และความเชื่อว่าตัวเองทำได้ทุกอย่าง
สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก

สรุปหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก : คัมภีร์แห่งการรักตัวเอง

รวม 9 ข้อคิดดีๆ จากหนังสือผู้หญิงร้าย ผู้ชายรัก 💋 ที่จะทำให้คุณหันมาให้เกียรติตัวเองในช่วงเวลาที่หลงรักคนอื่นจนหลงลืมที่จะรักตัวเอง
สรุปหนังสือ ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

สรุปหนังสือ The Asshole Survival Guide : ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

คู่มือรับมือคนเฮงซวยที่ช่วยให้เรารักษาชีวิตอันแสนสงบสุขด้วยการตัด “ปัญหาคนเฮงซวย” ทั้งแบบชั่วคราวและเรื้อรังอย่างฉลาดและบาดเจ็บน้อยที่สุด
สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ (Four Thousand Weeks)

สรุปหนังสือชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ : 4 ข้อคิดในการบริหารเวลาชีวิต

"เพราะเราไม่ได้มีเวลา แต่เราคือเวลา" เมื่อเวลามีจำกัด แต่เรายังมีสิ่งมากมายบนโลกที่อยากทำ เราจะบริหารเวลาอย่างไรเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย
สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่

สรุปหนังสือถึงโมโหก็อย่าสู้กับคนโง่ : 3 วิธีดับความหัวร้อน

อย่าสิ้นเปลืองเวลาและพลังงานไปกับการสู้กับคนโง่เลย เพราะเป้าหมายสำคัญกว่าความสะใจเพียงชั่วคราว มาดูวิธีดับความหัวร้อนจากเล่มนี้กัน