#ReadersGarden เล่มที่ 58
รู้สึกเหมือนมาร์ค แมนสัน (Mark Manson) ผู้เขียนกำลังเอาหนังสือชีวิตติดปีกด้วยศิลปะแห่งการช่างแม่ง (The Subtle Art of Not Giving a F*ck) เล่มนี้ตบหน้าเราเบาๆ เพื่อปลุกคนอ่านที่มองตัวเองว่าเป็นไอ้ขี้แพ้ให้ตื่นและรู้จักกับโลกแห่งความจริง ไม่มีคำพูดอ่อนโยนปลอบใจ มีแต่คำพูดแทงใจดำ ชัดเจน ตรงประเด็นเพื่อหยุดคนคิดมากไม่ให้เสียสุขภาพจิตไปมากกว่านี้
เนื้อหา 9 บทจำนวน 200 กว่าเต็มไปด้วยอารมณ์ขันแบบตลกร้าย ปั่นตั้งแต่ชื่อบท เช่น อย่าพยายาม, ความสุขคือปัญหา, คุณไม่ได้พิเศษกว่าคนอื่น, คุณค่าของความทุกข์, คุณผิดหมดทุกเรื่องนั่นแหละ (ผมก็ด้วยเหมือนกัน) เป็นต้น
นี่เป็นหนังสือที่จะทำให้เรา ‘คิดมาก’ น้อยลงหน่อย ‘ช่างแม่ง’ ให้มากขึ้น และ ‘กล้าใช้ชีวิต’ ในแบบที่ต้องการมากขึ้น
คุณติดอยู่ในวังวนอุบาทว์จากนรกอยู่หรือเปล่า?
หากกำลังลังเลว่าจะซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านดีมั้ย ลองสำรวจว่าคุณกำลังติดอยู่ในวังวนอุบาทว์จากนรกอยู่หรือเปล่า
- หากคุณเป็นคนคิดมากที่เมื่อกังวลเรื่องอะไรบางอย่าง ก็จะเริ่มกังวลเกี่ยวกับความกังวลของตัวเอง กลายเป็นกังวลซ้ำซ้อนไม่สิ้นสุด
- หากคุณมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ โมโหง่ายหรืองี่เง่าไร้เหตุผล โดยไม่รู้ว่าทำไปทำไม
- หากคุณเป็นกลัวว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเราตลอดเวลา
นั่นคือคุณกำลังติดอยู่วังวนอุบาทว์จากนรก ซึ่งการคิดมากหรือการแคร์กับอะไรสักอย่างไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากมันมากเกินไป ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเราเอง
ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า สุขภาพจิตของเรากลับถดถอย คนคิดมากง่ายขึ้นและเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น เพราะเราถูกถล่มด้วยภาพความสุขและความสำเร็จของคนอื่นทุกครั้งที่เปิดโซเชียลมีเดีย นั่นทำให้เราหมกมุ่นอยู่กับความโลกสวย จงมีความสุขขึ้น จงฉลาดขึ้น จงรวยขึ้น… กลายเป็นติดอยู่ในวังวนอุบาทว์จากนรก
มาร์คบอกวิธีออกจากวังวนนี้ให้พวกเราคือ ‘การช่างแม่ง’
ช่างแม่ง ≠ เมินเฉย
ตอนอ่านชื่อหนังสือ ซิสก็เข้าใจว่าการช่างแม่งคือโนสนโนแคร์ทุกอย่างบนโลก แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย คำว่า ‘ช่างแม่ง’ ในที่นี้ ไม่ได้ให้เราเมินเฉยต่อปัญหาหรือยอมให้อภัยคนที่มาทำร้ายเราอย่างง่ายดาย แต่เป็นการจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรควรแคร์ อะไรควรช่างแม่ง
เช่น คุณแม่ของมาร์คเพิ่งถูกคนสนิทโกงเงินไปก้อนใหญ่ไป ถ้าการช่างแม่งของเขาคือเมินเฉย เขาคงแค่พูดว่า “เสียใจด้วยนะแม่” และใช้ชีวิตต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เขากลับรู้สึกโมโหและบอกว่า “ช่างมันแม่ เดี๋ยวเราไปหาทนายและตามฟ้องไอ้เวรนี่กัน ทำไมน่ะหรอ ก็เพราะผมไม่สนแล้วไง ผมจะทำลายชีวิตไอ้คนโกงนี่ซะถ้าจำเป็น”
เวลาที่มาร์คพูดว่าช่างแม่ง มันหมายความว่าเขาไม่แคร์กับอุปสรรคในการไปให้ถึงเป้าหมายของเขาต่างหาก
แล้วคุณเคยรู้สึกมั้ยว่าเวลาคุณแคร์บางอย่างน้อยลง คุณกลับทำสิ่งนั้นได้ดีขึ้น นี่เป็นข้อดีอย่างหนึ่งเมื่อคุณเลือกที่จะช่างแม่งกลับบางเรื่อง แทนที่จะคิดมากจนทำอะไรไม่ได้
ศิลปะแห่งการช่างแม่ง
มาดู 3 เคล็ดลับที่จะช่วยให้เราเข้าใจความหมายของการช่างแม่งที่ส่งผลดีกับชีวิตมากขึ้นกัน
1. การช่างแม่งไม่ใช่การเมินเฉย แต่เป็นการยอมรับว่าตัวเองแตกต่าง: ไม่แคร์กับอุปสรรคในการไปให้ถึงเป้าหมาย ไม่อายกับความผิดพลาด ไม่แคร์ว่าใครจะไม่พอใจ ตราบใดที่เรารู้ว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง หากเราล้มเหลวก็แค่เรียนรู้ แล้วเดินหน้าทำสิ่งที่เชื่อมั่นต่อ
2. หากจะมองข้ามอุปสรรค คุณจะต้องแคร์อะไรที่สำคัญกว่าอุปสรรคก่อน: ขอยกตัวอย่างด้วยเรื่องน่าประทับใจของพี่รปภ. หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เคยไปออกรายการโหนกระแส เหตุการณ์เกิดจากมีคุณลุงคนหนึ่งขับรถจะเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อเยี่ยมญาติ พี่รปภ.ได้สอบถามตามปกติว่า “มาติดต่อเรื่องอะไรครับ?” แต่คุณลุงกลับโมโห ไม่ตอบและใช้ถ้อยคำหยาบคายดูหมิ่นเหยียดหยามทีมรปภ. หัวหน้าทีมพยายามรับมืออย่างใจเย็น เขายอมรับในรายการว่า มีช่วงเวลาที่เขารู้สึกโกรธจนสติจะหลุดเหมือนกัน แต่เมื่อคิดถึงหน้าที่การงาน ครอบครัวที่เขาเป็นเสาหลัก และการเป็นแบบอย่างให้ลูกน้องที่ดูอยู่ ทำให้เขาเลือกทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุดโดยไม่ทำตามอารมณ์
หากเราเป็นคนที่ไม่มีเรื่องอื่นสำคัญกว่าการปกป้องเกียรติตัวเอง เราอาจจะหลุดใช้อารมณ์โต้ตอบจนเรื่องบานปลาย แต่พี่รปภ.รู้ว่าเขามีสิ่งที่สำคัญกว่าคือครอบครัว การงาน และลูกน้องที่ยืนดูอยู่ ถึงได้มองข้ามอุปสรรคอย่างคุณลุงไปได้
3. คุณกำลังเลือกที่จะแคร์อะไรอยู่บ้างตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม: เมื่อเราโตขึ้น เราจะแคร์สิ่งต่างๆ น้อยลงเพราะรู้แล้วว่าสิ่งที่เราเคยแคร์หลายอย่างไม่ได้มีผลอะไรต่อชีวิตเลย ทำให้เราเลือกสิ่งที่จะแคร์มากขึ้น นั่นคือวุฒิภาวะ
เคล็ดลับ 3 ข้อนี้ทำให้ซิสนึกถึง เรื่องอื้อฉาวของแจกันเคห์เลอร์ (Kahler Vase Scandal) จากหนังสือฮุกกะ ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก เมื่อชาวเดนมาร์กกว่า 16,000 คนพยายามสั่งซื้อแจกันรุ่นพิเศษทางออนไลน์จนเว็บล่ม ผู้คนต่อคิวยาวหน้าร้านราวกับแย่งกันซื้อบัตรคอนเสิร์ต บริษัทผู้ผลิตถูกประชาชนโจมตีว่าผลิตของในปริมาณจำกัด เพราะว่าชาวเดนมาร์กกลุ่มนี้ ‘แคร์’ ที่จะต้องได้แจกันรุ่นนี้มาครอบครอง
จากมุมมองคนนอกอย่างเราคงคิดว่า ก็แค่แจกันอันเดียวเนี่ยนะ!? แต่เมื่อลองคิดถึงชาวเดนมาร์กที่มีชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์สั้นกว่าชาติอื่น มีบริการสาธารณสุขและการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยฟรี มีวันหยุดแบบได้ค่าจ้างถึงปีละ 5 สัปดาห์ ดังนั้นการไม่ได้แจกันนี้มาครอบครองจึงเป็นหนึ่งในเรื่องเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเลย คือคุณภาพชีวิตดีจัด จนเรื่องที่น่าปวดหัวที่สุดคือการแย่งแจกันมาแต่งบ้านกัน 😂
ที่หยิบเรื่องราวนี้มาเล่าเพื่อจะบอกว่า 1.เรื่องใหญ่และเล็ก เรื่องมีสาระและไร้สาระของคนเราแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะแคร์อะไร และ 2.เราเลือกที่จะแคร์อะไรก็ได้ แต่ควรดูสภาพความเป็นจริงด้วย เช่น บางคนอาจเลือกที่จะแคร์แจกันรุ่นพิเศษเหมือนชาวเดนมาร์ก หรือแคร์ว่าควรจะช้อปของแบรนด์หรูเพื่อเข้าสังคมอะไรบ้าง แต่กลับไม่แคร์บัตรเครดิตที่ถูกรูดจนเต็มวงเงิน ไม่แคร์ว่ากำลังจะโดนไล่ออกจากงานเลี้ยงชีพ คนเหล่านี้อาจจะกำลังตกอยู่ในภาพลวงของความมั่นใจแบบผิดๆ อยู่ก็ได้
คุณเต็มใจที่จะเผชิญความยากลำบากอะไรบ้าง?
คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงแค่สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุข เช่น อยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน, อยากมีความรักที่ดี, อยากเป็นที่รักของเพื่อนฝูง เป็นต้น แต่มองข้ามความยากลำบากที่ต้องเผชิญเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายแห่งความสุขนั้น เช่น
- คุณยอมทำงานหนัก สละเวลานอน เผชิญกับความผิดพลาด ยอมรับคำต่อว่าจากหัวหน้า ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมั้ย?
- คุณพร้อมที่จะโดนปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน เผชิญความเครียดเวลาทะเลาะเบาะแว้งกับคนรัก หรือยอมประนีประนอม เพื่อรักษาความรักที่ดีมั้ย?
- คุณพร้อมเสียสละเวลาเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อน คอยตอบแชท รับสาย และออกไปหาเพื่อนเสมอ เพื่อเป็นที่รักในหมู่เพื่อนมั้ย?
หากเราชื่นชอบเพียงผลลัพธ์ แต่ไม่พร้อมเผชิญปัญหาระหว่างทาง มันอาจจะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงของเราก็ได้
เหมือนอย่างมาร์คที่ใฝ่ฝันจะเป็นมือกีตาร์ร็อคสตาร์ ได้ยืนบนเวทีมีแฟนๆ ส่งเสียงเชียร์ แต่เขากลับไปไม่ถึงฝัน เขาไม่ได้พยายามแล้วล้มเหลวด้วยซ้ำ แต่เขายังไม่ได้เริ่มเลยต่างหาก! เพราะมาร์คค้นพบว่าเขาชื่นชอบเพียงผลลัพธ์ที่จะได้เล่นกีตาร์เท่ๆ บนเวที แต่ไม่ชอบกระบวนระหว่างทางเลย เขาไม่อยากฝึกกีตาร์อย่างหนักทุกวัน ไม่ชอบที่จะต้องไปตามหาเพื่อนร่วมวงมาช่วยกันซ้อม ไม่อยากที่จะไปเสนอตัวเองกับค่ายเพลงหรือร้านเพื่อขอขึ้นเวที ความฝันในการเป็นมือกีตาร์ร็อคสตาร์จึงล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่ม
สุดท้ายแล้ววลีที่ว่า No Pain No Gain (ไม่เจ็บปวดก็ไม่ได้มา) คือแก่นแท้ของทุกสิ่ง (ไม่ใช่แค่เรื่องออกกำลังกายนะ) การใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำตามความฝัน ย่อมมีปัญหาหรือเรื่องยากลำบากโผล่เข้ามาตลอด ถ้าเราไม่เต็มใจหรือสนุกไปกับการแก้ปัญหา ก็ยากที่จะไปถึงฝั่งฝันได้
ดังนั้นความสุขที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อคุณสนุกไปกับการแก้ปัญหา
กำหนดค่านิยมและตัวชี้วัดชีวิตที่ดีให้ด้วยตัวเอง
ที่นี้ถามว่าเราควรจะแคร์ หรือช่างแม่งเรื่องอะไรบ้าง นั่นขึ้นอยู่กับค่านิยมที่ใช้ชี้วัดคุณค่าของแต่ละคนค่ะ มาดูตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นกัน
เดฟ มัสเทน (Dave Mustaine) มือกีต้าร์ของวงดนตรีเฮฟวี่เมทัลในตำนานอย่าง Megadeth ที่ขายอัลบั้มได้มากกว่า 25 ล้านชุด ออกทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกนับครั้งไม่ถ้วน ได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักดนตรีฝีมือฉกาจที่สุดของวงการ
หากมองผลลัพธ์นี้ เราคงคิดเหมือนกันว่าเขาคือคนที่ประสบความสำเร็จ แต่เดฟกลับยอมรับทั้งน้ำตาในการสัมภาษณ์ปี 2003 ว่า “ผมยังไม่สามารถก้าวข้ามความรู้สึกของความล้มเหลวได้”
ทำไมเดฟถึงมองว่าเขาล้มเหลวกันล่ะ? นั่นเพราะว่าก่อนที่เขาจะมาตั้งวง Megadeth เขาเคยเป็นอดีตมือกีต้าร์ที่ถูกไล่ออกจากวงร็อคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอย่าง Metallica ซึ่งขายอัลบั้มได้มากกว่า 180 ล้านชุดทั่วโลก!
ผู้ชายคนนี้มีเงินเป็นล้าน มีแฟนเพลงนับแสน ได้ทำอาชีพที่ตัวเองรักและได้รับการยอมรับในวงการ แต่กลับคิดว่าตัวเองล้มเหลวเพราะเพื่อนร่วมวงไล่เขาออกเมื่อ 20 ปีก่อนและโด่งดังกว่าเขาเนี่ยนะ!?
สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเพราะคุณค่าชี้วัดความสำเร็จของเดฟคือ “การโด่งดังกว่าวงของเพื่อนเก่า” เขาจึงล้มเหลว
เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องราวในวงการดนตรีที่คล้ายกับเดฟ โดยขอข้ามฟากมาฝั่งอังกฤษในยุคก่อนที่ Metallica จะก่อตั้งวงเกือบ 20 ปี มีมือกลองหนุ่มคนหนึ่งที่ถูกไล่ออกจากวงเพราะว่า ‘หล่อเกินไป’ จนแย่งซีนเพื่อนร่วมวง เขาคนนั้นคือ พีท เบส (Pete Best) เป็นอดีตมือกลองของวงในตำนานอย่าง The Beatles
หลังจากนั้นเดอะบีทเทิลส์จึงได้ Ringo Starr มาแทนและเริ่มโด่งดังไปทั่วโลก สวนทางกับชีวิตของพีท เขาเอาแต่ดื่มเหล้า ซึมเศร้าและพยายามฆ่าตัวตาย พีทไม่ได้กลับมายิ่งใหญ่ในวงการดนตรีแบบอย่างเดฟ แต่เหมือนเขาจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดฟในหลายๆ มุม เพราะระหว่างการให้สัมภาษณ์ปี 1994 พีทกล่าวว่า “ถ้าผมยังอยู่กับเดอะบีเทิลส์ ผมคงไม่มีความสุขอย่างทุกวันนี้”
พีทอธิบายว่าการที่เขาถูกไล่ออกจากวง ทำให้เขาได้พบกับผู้หญิงที่กลายมาเป็นภรรยา ทั้งสองคนแต่งงานและมีลูกสาวที่น่ารัก 2 คน ครองคู่กันมาเกือบ 60 ปีแล้ว สิ่งที่พีทได้พบเจอทำให้ค่านิยมและตัวชี้วัดความสำเร็จของเขาเปลี่ยนไป ไม่ใช่ชื่อเสียงอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการมีครอบครัวใหญ่ที่น่ารัก ชีวิตที่มั่นคงและความเรียบง่าย
เรื่องราวของนักดนตรีที่ถูกไล่ออกจากวงดังทั้ง 2 คน แสดงให้เห็นว่าค่านิยมและตัวชี้วัดมีทั้งดีและร้าย หากเดฟไม่มีแรงผลักดันว่า ‘ต้องโด่งดังกว่าวงเพื่อนเก่า’ เขาอาจจะไม่ได้โด่งดังเท่าในปัจจุบัน แต่การยังยึดติดตัวชี้วัดนั้น ทำให้ไม่ว่าเขาจะพยายามอย่างหนักแค่ไหน เขาก็ยังรู้สึกล้มเหลว ในทางกลับกันหากพีทมีแรงผลักดันแบบเดฟ เขาก็อาจจะโด่งดังวงการดนตรีมากกว่านี้ แต่เขาก็อาจจะพลาดความสุขจากครอบครัวไปก็ได้
ดังนั้นการกำหนดค่านิยมและตัวชี้วัดชีวิตของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ และมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในช่วงเวลาหนึ่งเราอาจจะยึดถือค่านิยมหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราเติบโตขึ้น ความคิดเปลี่ยน ค่านิยมเราก็เปลี่ยนตามได้
ค่านิยมที่เลวและค่านิยมที่ดี
มาร์คได้แนะนำค่านิยมที่ดีและค่านิยมที่เลวร้ายสำหรับชีวิตไว้ให้จากประสบการณ์ดังนี้ค่ะ
ค่านิยมที่เลวมีลักษณะ 3 อย่าง ได้แก่ 1.อยู่บนพื้นฐานความเชื่อ 2.สังคมรังเกียจ และ 3.ไม่ส่งผลโดยตรงหรือควบคุมไม่ได้ โดยมาร์คแนะนำ 4 ค่านิยมที่เป็นภัยต่อชีวิตไว้ดังนี้
✦ ค่านิยมรักสนุกที่ส่งผลเสียในอนาคต: เช่น ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย, ผัดวันประกันพรุ่ง, เล่นชู้, เล่นยา, กินตามใจปาก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีความสุขได้ทันทีในระยะสั้น แต่จะส่งผลร้ายในระยะยาว
✦ ค่านิยมความสำเร็จทางวัตถุ: เราสามารถให้รางวัลตัวเองด้วยสิ่งของได้ แต่ไม่ควรยึดเอาความสำเร็จไปผูกกับวัตถุตลอด เพราะมีแต่จะทำให้ความต้องการมากขึ้น
✦ ค่านิยมที่เราต้องถูกเสมอ: สิ่งนี้คือการปลูกอีโก้ของเราให้เติบโตจนขัดขวางไม่ให้ตัวเราเติบโตซะเอง
✦ ค่านิยมคิดบวกตลอดเวลา: การที่เราบังคับให้ตัวเองมองโลกในแง่ดีตลอดเวลาจนเสียสติจะทำให้เรามองข้ามความเป็นจริง มองข้ามปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข
ในทางตรงกันข้าม ค่านิยมที่ดีมีลักษณะ 3 ประการดังนี้ 1.อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง 2.เป็นที่ยอมรับของสังคม และ 3.ส่งผลโดยตรงและควบคุมได้ ค่านิยมที่ดีที่มาร์คแนะนำไว้มีดังนี้ค่ะ
✦ การรับผิดชอบกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตคุณ ไม่ว่าจะเป็นความผิดของใคร
✦ ความไม่แน่นนอน ยอมรับในความไม่รู้ของตัวเอง ปลูกจิตสำนึกให้ตั้งคำถาม
✦ ความล้มเหลว เต็มใจค้นหาข้อบกพร่องของตัวเองและนำมาแก้ไข
✦ การปฏิเสธ เพื่อให้กำหนดสิ่งที่ยอมรับได้และสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในชีวิต,การใคร่ครวญถึงความตายของตัวเอง รักษามุมมองที่มีต่อค่านิยมอื่นๆ เอาไว้ได้อย่างถูกต้อง
…แล้วคุณก็ตาย
บทสุดท้ายของหนังสือที่จะทำให้เราช่างแม่งเรื่องต่างๆ และกำหนดค่านิยมชีวิตได้ชัดเจนขึ้นคือ การคิดถึงความตาย
มาร์คเป็นคนหนึ่งที่ชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากได้เผชิญหน้ากับความตาย ไม่ใช่ความตายของเขา แต่เป็นความตายของเพื่อนสนิทในสมัยวัยรุ่น
หลังจากเพื่อนสนิทจากไปเพราะอุบัติเหตุ ชีวิตของมาร์คก็เปลี่ยนไป จากเด็กแสบที่แอบพกกัญชาไปโรงเรียน กลายเป็นวัยรุ่นซึมเศร้าเก็บเนื้อเก็บตัว หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาซึมเศร้ามาได้ มาร์คตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัย อ่านหนังสือทบทวนบทเรียนเป็นครั้งแรก ทำให้รู้ว่าเกรดดีๆ ก็มีได้หากตั้งใจเรียน เขาเข้าฟิตเนสสม่ำเสมอจนหุ่นดีขึ้น เขาเริ่มมีเป้าหมาย กล้าที่จะลงมือทำ เขายังคงมีนิสัยเสียอื่นๆ และเป็นคนไม่มั่นใจอยู่ แต่เขาก็ค้นพบเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญมากกว่าการจดจ่ออยู่กับนิสัยเสียและความไม่มั่นใจในตัวเอง
เราทุกคนต้องตายในสักวัน ชีวิตมันสั้น นี่เป็นความจริงที่เราต่างรู้ดีแต่มักจะหลงลืมไปหรือไม่อยากจะคิดถึง ดังนั้นมาร์คจึงพยายามย้ำเตือนพวกเราอีกทีว่า หากปราศจากความตาย ทุกอย่างย่อมไร้ความหมาย ทุกตัวชี้วัดและค่านิยมจะไม่มีความสำคัญอะไรเลย
ซื้อหนังสือชีวิตติดปีก ด้วยศิลปะแห่งการช่างแม่ง: นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
ความตายเป็นสิ่งเดียวที่แน่นอน เราจึงควรใช้มันเป็นเข็มทิศนำทางค่านิยมและการตัดสินใจอื่นๆ ของเรา ความตายสอนให้เรามีความสุขกับปัจจุบัน รับผิดชอบกับการตัดสินใจของตัวเอง ทำตามความฝันโดยไม่ต้องอายใคร ไม่ต้องหาข้ออ้างและไม่มีอะไรต้องกลัวอีกต่อไป
อีกร้อยปีข้างหน้า พวกเรา(ส่วนใหญ่)ที่มีชีวิตอยู่ตอนนี้ก็ตายกันหมดแล้ว พอคิดแบบนี้คุณยังรู้สึกกลัวความคิดของคนอื่นอยู่มั้ย ยังรู้สึกอายที่จะทำตามความฝันหรือเปล่า หรือรู้สึกกังวลว่าคนแปลกหน้าที่เดินไปจะไม่ชอบคุณมั้ย?