#ReadersGarden เล่มที่ 50
“I PURPLE YOU! วี BTS อ่าน” เป็นคำโปรยหนังสือที่ถูกใจอาร์มี่อย่างซิสที่สุด ซื้อมาโดยไม่อ่านเรื่องย่อ เอาเงินไปเลยค่ะ 😂 ซึ่งหลังจากอ่านหนังสือพลังภายในคำพูด (The Power of Words) จบแล้วรู้สึกว่า เป็นหนังสือที่ลึกซึ้งเหมาะกับคนพูดน้อยและมีความคิดล้ำลึกแบบน้องแทฮยองจริงๆ ค่ะ
“ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณพูดมากแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าคุณเลือกใช้ถ้อยคำได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน”
หนังสือพลังภายในคำพูด เขียนโดยคุณชินโดฮยอนและคุณยุนนารู ซึ่งพาเราไปพบกับศาสตร์และศิลป์ของการเลือกใช้ถ้อยคำโดยเรียนรู้ผ่านคำพูดของเหล่านักปราชญ์จากตะวันตกและตะวันออก เพื่อให้คำพูดของเรามีอิทธิพลและสร้างความประทับใจแก่ผู้ฟัง
นี่เป็นหนังสือเกี่ยวกับการพูดที่ไม่ได้สอนเรื่องคำพูด ไม่ได้บอกว่าเราควรพูดอะไร ใช้น้ำเสียงอย่างไร หรือโต้ตอบอย่างไร แต่ชี้แนะโดยขัดเกลาความคิดของผู้อ่าน ดังคำกล่าวที่ว่า
“ถ้าคุณอยากพูดถ้อยคำที่ล้ำลึก คุณต้องเป็นคนล้ำลึก ถ้าคุณอยากพูดถ้อยคำที่น่าเชื่อถือ คุณต้องเป็นคนน่าเชื่อถือ”
พลังภายในคำพูดไม่ได้บอกว่าเราต้องพูดอะไรถึงจะล้ำลึก แต่ชวนให้เราขบคิดเอาเองและขัดเกลาตัวตนให้กลายเป็นคนล้ำลึก โดยผ่านคำสอนของนักปราชญ์จากหลากหลายเชื้อชาติและยุคสมัย เช่น เล่าจื๊อและขงจื๊อ นักปราชญ์จีนช่วงก่อนคริสต์ศักราช,โสกราติส นักปราชญ์ชาวกรีกช่วงก่อนคริสต์ศักราช, ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาและนักการเมืองชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 16 เป็นต้น
ขั้นตอนการสร้างพลังภายในคำพูดมีทั้งหมด 8 ขั้นตอน ดังนี้
1. การฝึกฝน: สร้างภาชนะใส่คำพูด
ระดับการเจริญเติบโตของมนุษย์เปรียบเหมือนกับขนาดภาชนะ ยิ่งเราเติบใหญ่ ขนาดของภาชนะก็ยิ่งกว้าง ยิ่งบรรจุคำพูดได้มากมาย ดังนั้นควรเริ่มจากการฝึกฝนเพิ่มขนาดภาชนะ โดยหัวใจหลักของการฝึกคือการสร้างความมั่นใจในตัวเอง รักตัวเอง และรู้วิธีจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง เราจึงจะใช้ภาษาได้อย่างแข็งแรงโดยไม่ปกปิดตัวเองมากเกินไปและไม่โอ้อวดจนเกินไป
ลองสังเกตจากคนที่พูดเก่ง (ไม่ใช่พูดมากนะ) คนเหล่านี้มักจะมีลักษณะร่วมกันคือมีความมั่นใจและดูรักตัวเอง โดยพวกเขามักจะพูดจาฉะฉาน เป็นตัวของตัวเองและน่าจดจำ
ในบทนี้ซิสชอบถ้อยคำที่ถูกหยิบยกมาของมีแชล ฟูโกที่ว่า “ชีวิตของแต่ละคนไม่สามารถเป็นผลงานศิลปะได้หรือ แม้แต่บ้านพักอาศัยยังถือว่าเป็นศิลปะได้ แล้วทำไมชีวิตของคนเราจึงเป็นเช่นนั้นไม่ได้เล่า”
ถ้อยคำนี้ตั้งใจจะบอกว่าเราทุกคนล้วนเป็นผลงานศิลปะ ถ้าชีวิตคนเราเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาให้เหมือนกัน เมื่อไม่มีเราอยู่ก็ยังหาคนอื่นมาแทนที่ได้อย่างไร้ปัญหา มันคงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างมาก
ดังนั้นจงมองชีวิตให้เป็นผลงานศิลปะ โอบกอดความไม่สมบูรณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา นั่นเป็นการเปิดเส้นทางสู่การยอมรับและรักตัวเอง
ซื้อหนังสือพลังภายในคำพูด : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
2. ทัศนคติ: ปรับเปลี่ยนทัศนคติ
“คนที่สภาพจิตใจไม่สมบูรณ์จะพูดจาสับสน คนที่ไม่มีทัศนคติจะพูดจาว่างเปล่า” ซองแดจุง
คุณเคยเจอคนที่เวลาคุณถามอะไรไปแล้วเขาตอบกลับมาก้ำๆ กึ่งๆ จนจนจับใจความไม่ได้มั้ย? หรืออาจเป็นตัวคุณเองในเวลาที่มีคนมาถามบางเรื่องที่คุณไม่มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง แต่ก็พยายามตอบออกไปกลางๆ หรือสับสนจนแม้แต่ตัวเองก็จำไม่ได้ว่าพูดอะไร นั่นคือการไม่มีทัศนคติ ซึ่งจะทำให้คำพูดของเราช่างว่างเปล่า แล้วยิ่งเราพูดคำพูดที่ว่างเปล่าออกไปบ่อยๆ พลังของคำพูดและความน่าเชื่อถือในตัวจะยิ่งลดลง
หากอยากให้คำพูดของคุณมีพลังและมีเสน่ห์น่าจดจำ อย่ากลัวที่จะแสดงทัศนคติออกไปอย่างถูกกาลเทศะ
3. สติปัญญา: หากอยากให้คำพูดลึกซึ้ง
การพูดเนื้อหาได้อย่างลึกซึ้งต้องอาศัยสติปัญญา ซึ่งการรับเอาความรู้มาเฉยๆ หรือการท่องจำ ไม่สามารถเพิ่มพูนสติปัญญาได้ ความรู้นั้นต้องผ่านการตีความและวิเคราะห์ด้วยตัวเราเอง จึงจะเปลี่ยนเป็นไหวพริบและสติปัญญาได้
แล้วหากมีต้องพูดในเรื่องที่เราไม่รู้มาก่อนล่ะ? เราสามารถใช้วิธีของขงจื้อดังคำกล่าวที่ว่า “ข้าพเจ้าเชี่ยวชาญอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่เลย หากมีคนถามในสิ่งที่ไม่รู้ ข้าพเจ้าก็ไม่รู้เช่นกัน แต่ข้าพเจ้าเคาะทั้งสองด้านอย่างเท่าๆ กัน และตอบอย่างสุดความสามารถเท่านั้น”
สิ่งนี้หมายความว่า เมื่อมีคนมาถามความคิดเห็นในเรื่องที่เราไม่รู้มาก่อน อย่าเพิ่งทู่ซี้ตอบไปโดยไม่รู้ ให้ศึกษาและฟังความคิดเห็นรอบด้านก่อน คำว่า ‘เคาะทั้งสองด้าน’ หมายถึง จำแนกความเป็นไปได้และจุดยืนต่างๆ ออกมาให้ครบ และค่อยสรุปความคิดเห็นของตัวเอง
4. ความคิดสร้างสรรค์: วิธีการพูดให้แปลกใหม่
คำพูดที่มีความคิดสร้างสรรค์จะดึงดูดใจผู้คนได้ง่าย ส่วนคำพูดที่น่าเบื่อหน่ายจะส่งต่อความหมายและความจริงใจได้ยาก ถ้าอยากให้คำพูดมีพลังสื่อถึงใจคนฟัง จึงควรสร้างสรรค์เนื้อหาและคำพูดที่เหมาะกับคนฟัง
วิธีหนึ่งที่จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเราได้คือ การหมั่นแลกเปลี่ยนความเห็น เหมือนอย่างที่อีฮวาง นักปราชญ์ลัทธิขงจื๊อในยุคโชซอนเขียนจดหมายถึงคนที่โต้แย้งทฤษฎีของเขาว่า “เมื่อทราบว่าท่านโต้แย้งก็ยิ่งตระหนักได้ถึงความผิดพลาด ดังนั้นข้าพเจ้าจึงลองแก้ไขมาตามนี้”
หากอยากมีความคิดสร้างสรรค์ ต้องเริ่มจดบันทึกความคิดตัวเองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น การจัดระเบียบความคิดด้วยตัวหนังสือจะให้เราได้ทำความเข้าใจและพิจารณาเพิ่มเติมได้เมื่อกลับมาอ่านอีกครั้ง และถ้าได้แก้ไขความคิดของตัวเอง จะยิ่งขัดเกลาให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ที่ดียิ่งขึ้น
5. การฟัง: วิธีรับฟังในการปฏิบัติจริง
เราต้องฟังก่อนถึงจะพูดได้ดี โดยการฟังเพียงผิวเผินไม่อาจอ่านความหมายที่แท้จริงและเปิดใจอีกฝ่ายได้ เหมือนที่คำพูดบทหนึ่งในตำราต้าเสวียที่ว่า “ถ้าไม่ใส่ใจลงไปแม้จะมองก็ไม่เห็น แม้จะฟังก็ไม่ได้ยินด้วย”
การตั้งใจฟังจะทำให้เราเข้าใจคู่สนทนา สามารถวิเคราะห์เพื่ออ่านความตั้งใจและเจตนาจริงได้ รวมถึงเลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมในการโต้ตอบกลับไปได้ด้วย
6. คำถาม: หากต้องการถามและตอบให้ดี
คำถามเป็นเมล็ดพันธ์ุแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งเป็นการรักษาความเข้าใจซึ่งกันและกันเอาไว้ด้วย หากไม่เรียนรู้ก็จะไม่มีอะไรให้ถาม เหมือนที่หวังหยางหมิงตำหนิลูกศิษย์ตัวเองที่ไม่ถามคำถามว่า “หมู่นี้ที่พวกเจ้าถามคำถามน้อยลง เป็นเพราะอะไรกัน ถ้าคนเราไม่เรียนรู้ก็ง่ายที่จะคิดว่าตัวเองนั้นเข้าใจวิชาการทั้งหมดแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะคิดว่าทำตามแค่ที่ตัวเองรู้อย่างไม่รู้ตัวก็เป็นได้”
การถามคำถามที่ดีและหาคำตอบที่ดีจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาต่อไปได้
7. วาทศิลป์: ศิลปะในการพูด
เมื่อรากฐานการพูดแข็งแรงแล้ว ต่อมาคือการพัฒนาวาทศิลป์ให้คำพูดมีศิลปะและพลังมากยิ่งขึ้น สำหรับบทนี้ซิสชอบถ้อยคำที่ว่า หากอยากมีอำนาจนำทาง จงเป็นพิธีกร เป็นคำพูดของฟรานซิส เบคอนที่กล่าวว่า “วิธีการที่ชัดเจนที่สุดที่จะมีอำนาจนำทางในบทสนทนาได้ คือการรับหน้าที่เป็นผู้ให้โอกาสอีกฝ่ายพูด ปรับบทสนทนาและพาข้ามไปยังประเด็นอื่นๆ ได้ แล้วคนคนนั้นจะสามารถนำบทสนทนาได้”
พิธีกรที่ดีจะมีวาทศิลป์ที่เลิศ พวกเขาจะฟังมากกว่าพูด ถามตามความเหมาะสม คอยจัดระเบียบให้เรียบร้อย และเป็นผู้เปลี่ยนประเด็นต่างๆ โดยพิธีกรเป็นผู้ที่ทำให้บทสนทนาและคำพูดมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
8. ความเป็นอิสระ: คำพูดที่นำไปปฏิบัติจริง คำพูดที่ต้องละทิ้ง
บางครั้งคำพูดอาจเป็นภัยต่อชีวิต หากอยากกระโดดให้สูงขึ้น ต้องกล้าละทิ้งคำพูดที่เป็นอันตรายออกไป เมื่อนั้นเราจะเป็นอิสระจากคำพูด ม่อจื๊อกล่าวว่า “คำพูดมีหลักการอยู่สามอย่าง คือมีการตรวจพิจารณา มีเหตุมีผล มีการปฏิบัติจริง” หมายความว่า ก่อนจะพูดออกไปให้คิดให้ลึกซึ้งก่อนที่จะพูดออกมา เพราะคำพูดที่ไม่กลั้นกรองจะทำร้ายทั้งตัวเราและผู้อื่น เมื่อพิจารณาแล้วต้องมีเหตุผลอิงตามความจริง และสุดท้ายต้องปฏิบัติได้จริง
หากเราไม่สามารถทำได้ตามถ้อยคำที่ประดิษฐ์อย่างสวยหรู เราจะกลายเป็นคนน่าขันและไร้ความน่าเชื่อถือ ครั้งต่อๆ ไปคำพูดของเราจะยิ่งหมดพลัง ดังนั้นการพูดตามที่คิดออกไปทันทีเป็นเรื่องดีก็จริง แต่อย่าลืมว่าคำพูดนั้นย้อนกลับมาหาตัวเราได้เสมอ
ซื้อหนังสือพลังภายในคำพูด : นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
ในสรุปของทั้ง 8 ขั้นตอนนี้ ซิสหยิบยกเอาถ้อยคำของนักปราชญ์ที่ชอบในแต่ละบทมาเพียงอย่างละ 1 ถ้อยคำ ภายในหนังสือยังมีถ้อยคำดีๆ ที่ช่วยขัดเกลาความคิดเราอีกมากมายเลยค่ะ
พลังภายในคำพูดเป็นหนังสือไม่กี่เล่มที่ใช้เวลาอ่านซ้ำแต่ละบทหลายรอบมาก เพราะอ่านแล้วไม่เข้าใจค่ะ ฮ่าๆ บางปรัชญาลึกซึ้งเกินไปจนไม่เข้าใจจริงๆ ว่าจะสื่ออะไร แม้จะอ่านไปอย่างงงๆ แต่ให้ผลดีอย่างน่าประหลาดเลยค่ะ เตือนใจให้เราคิดก่อนพูด โดยเฉพาะเวลาที่ประหม่า ตื่นเต้น หรือกลัวจนเราลนลานพูดไม่รู้เรื่อง เพราะแค่รู้สึกว่าต้องพูดอะไรสักอย่าง
หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ซิสรู้สึกว่าใจเย็นมากขึ้นเวลาพูด เพราะไม่อยากพูดคำพูดว่างเปล่าหรือไร้ความหมายออกไป เวลาคิดไม่ทันก็จะพูดตรงๆ ว่า “ขอเวลาคิดสักครู่นะคะ” แล้วใช้เวลาค่อยๆ จัดระเบียบความคิดและเรียบเรียงคำพูดให้สื่อสารได้ดีที่สุด