#ReadersGarden เล่มที่ 88
มีใครรู้สึกกลัวการเข้าสู่วัย 30 เหมือนกันมั้ยคะ? ✋🏻
ตอนกำลังจะเข้าสู่วัย 20 มันเต็มไปด้วยความตื่นเต้นยินดีของการก้าวเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ แต่พอกำลังจะเข้าสู่วัย 30 ซิสกลับเต็มไปด้วยความกังวลและเร่งรีบ เร่งรีบทำทุกอย่างที่อยากทำเพราะกลัวว่าพอวัย 30 แล้วจะไม่มีแรงเหมือนแต่ก่อน เร่งรีบเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพราะกลัวว่าวัย 30 จะไม่มีพื้นที่ให้ผิดพลาด เร่งรีบสะสมความสำเร็จเพราะคิดว่าวัย 30 จะต้องมีพร้อมทุกอย่าง เฮ้อ! เลข 30 ช่างน่ากลัว
คุณคิมอึนจู (Kim Eunjoo) ผู้เขียนหนังสือแด่วัย 30 ผู้คิดมากเล่มนี้เองก็เคยรู้สึกเช่นนี้ ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อเพราะเธอในวัย 27 ปีได้ไปเรียนต่อปริญญาโทและเริ่มต้นใช้ชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากเรียนจบก็ได้ร่วมงานกับบริษัทระดับโลกทั้ง Motorola, Qualcomm, Samsung รวมถึง Google ที่ทำงานในปัจจุบันซึ่งเธอเป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบ User Experiece — เก่งสุดๆ! 👏 ถ้าดูประวัติเพียงผิวเผิน เราคงคิดว่าคุณอึนจูเป็นคนกล้าหาญที่ไม่หวาดกลัวต่ออุปสรรค แต่แท้จริงแล้วเธอเองก็เคยเต็มไปด้วยความกลัว ไม่กล้าสื่อสาร ประสบกับภาวะ Imposter Syndrome (คิดว่าตัวเองเก่งไม่พอ) จนต้องเข้ารับคำปรึกษา
ทุกถ้อยคำความหวาดวิตกของคุณอึนจูในวัย 30 เหมือนพูดแทนความในใจเราไปหมดแล้ว แล้วเธอก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าก็กลัวไปเถอะ! มันไม่เป็นอะไรหรอก ทุกคนย่อมมีเรื่องที่หวาดกลัวในใจกันทั้งนั้น แต่เราจะเอาชนะความกลัวนั้นยังไงเพื่อให้ชีวิตเป็นไปอย่างที่ต้องการล่ะ
เอาชนะความกลัวด้วยคาถา “ถ้าไม่ได้ก็แล้วไป”
ทุกคนย่อมมีเรื่องที่หวาดกลัว แม้แต่คนเก่งที่แสดงออกอย่างมั่นใจอย่างคุณอึนจูก็ตาม เชื่อไหมว่าแม้แต่ตอนที่เธออาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลากว่า 10 ปี ได้เป็นหัวหน้าทีมของ Google แล้ว เธอก็ยังรู้กลัว กลัวตั้งแต่เรื่องที่ดูเล็กน้อยอย่างเช่น การจดบันทึกรายงานประชุม กว่าจะพิมพ์แต่ละข้อความออกไปต้องเช็คแล้วเช็คอีก ไปจนถึงกลัวการหางานในต่างประเทศ กลัวการสื่อสารภาษาอังกฤษ กลัวเป็นหัวหน้าทีมที่ไม่ดี
หากได้อ่านบันทึกของคุณอึนจูในหนังสือ คุณจะสัมผัสได้เลยว่าความรู้สึกของคุณอึนจูไม่ใช่แค่ความเครียดเบาๆ ที่เดี๋ยวมันก็ผ่านไป แต่เป็นความรู้สึกกลัวจริงๆ เก็บเรื่องราวต่างๆ มาคิดซ้ำๆ ย้ำอยู่ในสมอง แต่ทุกครั้งเธอก็เอาชนะความกลัวของตัวเองด้วยคาถา “ถ้าไม่ได้ก็แล้วไป” คิดให้น้อยลง ลงมือทำให้เร็วขึ้น ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่เห็นเป็นอะไร
มีโอกาสไปเรียนต่อป.โท ที่อเมริกาแล้ว แต่ยังสื่อสารภาษาอังกฤษแทบไม่ได้เลย ถ้าตั้งใจเต็มที่แล้ว แต่สุดท้ายเรียนไม่จบ ก็แล้วไป
มีโอกาสได้สัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์แล้ว แต่กลัวสื่อสารไม่รู้เรื่อง ถ้าเตรียมตัวมาเต็มที่แล้ว แต่สุดท้ายสัมภาษณ์ ก็แล้วไป
มีโอกาสได้เป็นหัวหน้าทีมในบริษัทระดับโลกแล้ว แต่กลัวดูแลลูกน้องได้ไม่ดี ถ้าใส่ใจลูกน้องและตั้งใจทำงานเต็มที่แล้ว สุดท้ายถ้าผลลัพธ์ออกมาไม่ดี ก็แล้วไป
เมื่อไหร่ที่มีโอกาสเข้ามา แต่เรากลัวว่าจะทำไม่ได้ ให้นึกเสียว่า “ถ้าไม่ได้ก็แล้วไป” หากท้ายที่สุดแล้วเราทำมันไม่ได้จริงๆ หรือมันล้มเหลว อย่างน้อยเราก็ได้ลองเรียนรู้ ได้ประสบการณ์ และไม่ต้องมาค้างคาใจว่า “ถ้าหากตอนนั้นฉัน…”
จุดพลิกชีวิต เมื่อโอกาสมาในวันที่เราไม่พร้อม
นี่เป็นเรื่องราวของคุณอึนจูที่ซิสชอบที่สุด เรียกว่าเป็นการตัดสินใจที่พลิกชีวิตเธอเลยก็ว่าได้ เมื่อคุณอึนจูในวัย 27 ปีตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกาทั้งที่ไม่พร้อมทั้งด้านภาษาและการเงิน สาเหตุมาจากแฟนหนุ่มของเธอได้ทุนไปเรียนต่อที่อเมริกาและอยากจะพาเธอไปด้วย ตอนนั้นหน้าที่การงานในกรุงโซลของคุณอึนจูกำลังไปได้สวย แล้วคนที่พูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้เลยอย่างเธอก็ไม่เคยคิดฝันว่าจะไปอยู่ต่างประเทศ เธอจึงบอกเลิกแฟนหนุ่มทั้งน้ำตา แต่ความห่างเหินก็ทำให้ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าพวกเขาอยากอยู่ด้วยกันมากแค่ไหน สุดท้ายพวกเขาก็กลับมาคืนดีและแต่งงานกัน คุณอึนจูจึงได้ติดตามสามีไปเรียนต่อที่อเมริกา
เมื่อโอกาสมาในเวลาที่เราไม่พร้อม หากมันเป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวที่คุณต้องการจริงๆ ก็ลุยเลย! เจออุปสรรคเมื่อไหร่ก็ค่อยหาทางแก้ไปทีละอย่าง อย่าเพิ่งกังวลไปล่วงหน้าเยอะ เหมือนกับที่คุณอึนจูทำ
อุปสรรคแรกของเธอคือการสื่อสาร การสื่อสารที่ว่าไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ แต่รวมถึงการแสดงออกด้วย เพราะคุณอึนจูเป็นคนขี้กลัวสุดๆ ถึงขนาดเคยนั่งตัวแข็งทื่ออยู่ในรถตอนที่ตำรวจจราจรมาเคาะกระจกเพื่อบอกให้ขยับรถ (ขณะนั้นสามีเธอออกจากรถไปทำธุระชั่วคราว) เธอซึ่งขับรถไม่เป็น พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ แถมยังขี้กลัวจึงนั่งนิ่งเป็นตุ๊กตาหน้ารถ สุดท้ายก็ได้ใบสั่งกลับไป เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอพยายามผลักดันตัวเองให้กล้าสื่อสารและตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น
อุปสรรคที่สองคือการเงิน แม้ว่าเงินเดือนจากทุนเล่าเรียนของสามีจะเพียงพอสำหรับค่าอยู่ค่ากิน แต่ก็ต้องใช้อย่างประหยัด คุณอึนจูจึงพยายามหาที่เรียนภาษาอังกฤษฟรี ซึ่งโชคดีที่มีวิทยาลัยแถวบ้านที่เปิดสอนภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาติอยู่
แต่ก็ยังมีเรื่องโชคร้ายเมื่อค่าเงินเปลี่ยนแปลงในช่วงที่เธอต้องชำระค่าเทอม ซึ่งนั่นทำให้เงินสกุลเกาหลีใต้ที่เธอเตรียมไว้ไม่เพียงพอต่อค่าเทอมสกุลดอลลาร์ คุณอึนจูพยายามหาทางออกตั้งแต่ตามหาทุนของคณะ ทุนมหาวิทยาลัย หางานตำแหน่งผู้ช่วยสอน สุดท้ายเธอก็ส่งอีเมลถึงมหาวิทยาลัยเพื่อเล่าถึงสถานการณ์ของเธอว่าเหตุใดเธอจึงมีค่าเทอมไม่พอ ขาดไปเท่าไหร่ เธออยากขอทุนเท่าไหร่ มีแผนการว่าหลังจากเรียนจบแล้วจะทำงานอะไร จะทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมอเมริกาบ้าง แล้วสุดท้ายเธอก็ได้ทุน 30% เท่ากับค่าเทอมที่ขาดไปพอดิบพอดี
คุณอึนจูคือนักแก้ปัญหาที่แท้จริง ทุกอุปสรรคย่อมมีทางออก
เทคนิคการฝึกภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริง
แม้ว่าสุดท้ายคุณอึนจูจะเรียนจบปริญญาโทที่อเมริกา แต่เนื่องจากเธอชอบใช้เวลาอยู่กับเพื่อนๆ เกาหลีใต้และสื่อสารกันด้วยภาษาบ้านเกิด ภาษาอังกฤษจึงยังไม่แข็งแรง แล้วเมื่อเธอต้องเริ่มชีวิตทำงานในอเมริกา เธอจึงรู้ว่าแค่สื่อสารกันพอรู้เรื่องมันไม่เพียงพอแล้ว แต่ต้องมีทักษะการพูดโน้มน้าวและโต้แย้งที่แข็งแกร่งด้วย เธอจึงเริ่มฝึกฝนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง และนี่เป็นเทคนิคการฝึกภาษาอังกฤษของคุณอึนจูค่ะ
- การสื่อสารคือการใช้ภาษา 20% ส่วนอีก 80% เป็นเรื่องอื่นๆ เช่น สีหน้า ท่าทาง โทนเสียง จังหวะจะโคน สายตา รวมถึงเสน่ห์
- สิ่งสำคัญของการสื่อสารคือคอนเทนต์หรือเนื้อหาและเสน่ห์ของผู้พูด ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเปิดหูและเปิดใจรับฟัง
- พูดโดยสรุปเป็นหัวข้อ เช่น There are 3 points which are… เทคนิคนี้จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจเราง่ายขึ้นว่าเรากำลังจะสื่อสารอะไร และมีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง
- ฝึกอ่านออกเสียงวันละ 1 ชั่วโมงเพื่อฝึกกล้ามเนื้อปากและลิ้น หากไม่ได้ฝึกพูดนานๆ อาจจะเกิดอาการลิ้นแข็งหรือพูดไม่ออกได้ เทคนิคนี้ซิสลองมาแล้วและยืนยันว่าช่วยให้การพูดภาษาอังกฤษไหลลื่นขึ้นจริงๆ ค่ะ ไม่ต้องภาษาต่างประเทศก็ได้ ลองนึกย้อนกลับไปตอนปี 2020 ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ใหม่ๆ เราแทบไม่ได้พูดกับใครเลย ส่วนใหญ่สื่อสารทางการพิมพ์แชทอย่างเดียว พอเราต้องพูดนำเสนองานภาษาไทย กลับเกิดอาการลิ้นแข็งพูดผิดพูดถูกไปหมด
- เรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ อย่างน้อยวันละ 2 คำ ฝึกอ่านหลากหลายหัวข้อเพื่อให้ได้คำศัพท์หลากหลายวงการ
คุณอึนจูฝึกอ่านออกเสียงโดยการเข้าร่วม Book Club ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ออนไลน์สำหรับคนที่ต้องการฝึกพูดภาษาอังกฤษโดยการอ่านหนังสือออกเสียงวันละ 1 ชั่วโมง มีช่วงให้พูดคุยถึงคำศัพท์ใหม่ๆ ที่ได้ในวันนั้นด้วย ซึ่งคุณอึนจูเริ่มฝึกกับ Book Club ตอนที่เธอทำงานที่ Google แล้ว ซึ่งซิสแปลกใจมาเพราะก่อนหน้าที่เธอจะทำงานที่ Google เธอเคยทำงานกับบริษัทอื่นในอเมริกาแล้ว แสดงว่าทักษะภาษาอังกฤษต้องดีมากอยู่แล้ว ทำไมเธอถึงยังมาฝึกอีก ซึ่งคุณอึนจูกล่าวว่าที่ Google จำเป็นต้องมีทักษะการโต้แย้งและนำเสนอที่แข็งแกร่งมาก ต้องมีวาทศิลป์โน้มแน้วคนอื่นได้ เธอจึงฝึกภาษาอังกฤษเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากฝึกตามเลยค่ะ
ซื้อหนังสือ: นายอินทร์, SE-ED, Kinokuniya
“หนังสือที่ดีจะช่วยเสริมพลังการสร้างความหนักแน่นของตัวเอง” เหมือนที่คุณอึนจูกล่าวไว้ หนังสือแด่วัย 30 ผู้คิดมากเล่มนี้ช่วยเพิ่มพลังความหนักแน่นให้ซิส เรียกว่าเป็นขุมทรัพย์สำหรับคนวัยทำงานที่คิดว่าตัวเองล้มเหลวและอยากจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือชีวิตส่วนตัว คนที่อยากเติมความกล้าหาญในการใช้ชีวิต แนะนำเล่มนี้เลยค่ะ
🍪 คุยเล่นกับซิสได้ที่ Instagram และ Facebook
🎁 ดาวน์โหลดฟรี digital products บน Ko-fi